ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - กระทรวงคมนาคมจัดเสวนาแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งที่เชียงใหม่ นำเสนอกรอบการลงทุนพร้อมเป้าหมายให้ประชาชนทราบ เผยเน้นระบบราง-ถนน ส่วนภาคเหนือชูรถไฟความเร็วสูงเชียงใหม่-รถไฟสายเด่นชัย-ท่าเรือเชียงราย ชี้อนาคตประเทศจะเข้าเออีซีต้องเตรียมความพร้อมด้านคมนาคมให้มีประสิทธิภาพ-เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน
วันนี้ (24 ก.ย.) ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กระทรวงคมนาคมได้จัดการเสวนาโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้และร่วมรับฟังความคิดเห็นของสาธารณชนต่อแผนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง พ.ศ. 2556-2563 ขึ้น โดยมีนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานในพิธี
การเสวนาซึ่งจัดขึ้นที่ จ.เชียงใหม่เป็นแห่งที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็น และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการรับรู้และทำความเข้าใจต่อแผนการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ทางด้านคมนาคมของประเทศ ตามที่กระทรวงคมนาคมได้กำหนดแผนการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลว่าด้วยการลงทุนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งในทุกด้าน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ และเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
โครงการดังกล่าวได้เริ่มจัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ จ.อุบลราชธานีเมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา และหลังจากการจัดงานที่ จ.เชียงใหม่แล้วจะมีการจัดการเสวนาในอีก 4 จังหวัดใน 3 ภูมิภาค ประกอบด้วย จ.นครศรีธรรมราช จ.ภูเก็ต จ.ชลบุรี และ จ.นครราชสีมา
ในการเสวนาดังกล่าวกระทรวงคมนาคมได้นำเสนอแผนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง พ.ศ. 2556-2563 ซึ่งเป็นการลงทุนพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์ที่เห็นว่าประเทศไทยจำเป็นจะต้องเร่งพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ เพื่อประโยชน์ทั้งในแง่เศรษฐกิจจากการขนส่งสินค้าและการเดินทางระหว่างประเทศในภูมิภาคที่มีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน รวมทั้งเพื่อความสะดวกในการเดินทางและคมนาคมขนส่งในประเทศอีกด้วย
ทั้งนี้ โครงการที่กระทรวงคมนาคมเตรียมที่จะดำเนินการนั้นประกอบด้วยกรอบแผนการลงทุนในสาขาต่างๆ ได้แก่ สาขาการขนส่งทางถนน สาขาการขนส่งทางราง สาขาการขนส่งทางน้ำ และสาขาการขนส่งทางอากาศ ภายใต้วงเงินลงทุนรวม 1,914,007.85 ล้านบาท
ในกรอบแผนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งของกระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญต่อการพัฒนาในสาขาการขนส่งทางถนนและสาขาการขนส่งทางรางเป็นพิเศษ โดยการลงทุนในสาขาการขนส่งทางบกกำหนดเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 648,995.69 ล้านบาท หรือร้อยละ 33.91 ของวงเงินลงทุนรวม ส่วนการลงทุนในสาขาการขนส่งทางรางกำหนดเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,164,477.55 ล้านบาท หรือร้อยละ 60.84
ขณะที่การลงทุนในพื้นที่ภาคเหนือนั้นมีโครงการที่น่าสนใจ ได้แก่ โครงการก่อสร้างทางรถไฟช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือเชียงแสน แห่งที่ 2 จ.เชียงราย โครงการก่อสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย โครงการก่อสร้างเขื่อนยกระดับในแม่น้ำเจ้าพระยาและน่านเพื่อการเดินเรือ และโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เป็นต้น โดยโครงการต่างๆ เหล่านี้มีทั้งที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วและอยู่ในระหว่างการดำเนินการ
นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การจัดการเสวนาดังกล่าวขึ้นนั้นมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนได้ทราบว่ากระทรวงคมนาคมมีแผนที่จะลงทุนและดำเนินการในเรื่องใดบ้าง เนื่องจากเรื่องโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณมหาศาล
จึงจำเป็นที่ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมรับทราบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะใช้งบประมาณเหล่านี้ไปดำเนินโครงการอะไรบ้าง เพราะหมดสมัยแล้วที่นักการเมืองหรือหน่วยงานจะนำงบประมาณไปใช้เฉพาะในพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใดเพื่อหวังผลประโยชน์อื่นๆ
ขณะเดียวกัน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบคมนาคมยังถือเป็นเรื่องจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศในปัจจุบัน ทั้งในแง่ของการสร้างโอกาสทางการแข่งขันของประเทศเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อไทยจะเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน อีกทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบคมนาคมยังจะช่วยกระตุ้นให้ภายในประเทศเกิดการพัฒนาในด้านอื่นๆ ตามมาอีกด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวต่อไปว่า จากกรอบการลงทุนดังกล่าวจะเน้นหนักไปที่การลงทุนในด้านระบบขนส่งทางถนนและระบบขนส่งทางราง เนื่องจากการพัฒนาระบบรางของไทยนั้นขาดการพัฒนามานาน และในอนาคตการเชื่อมโยงกันของประเทศต่างๆ ในอาเซียนจะทำให้เกิดการค้าและการขนส่งระหว่างกัน
ดังนั้น ระบบรางและระบบถนนที่มีประสิทธิภาพจะช่วยเชื่อมต่อเส้นทางและพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน 7 ประเทศที่มีพื้นที่ภาคพื้นดินติดต่อกัน รวมทั้งยังช่วยลดต้นทุนการขนส่ง ซึ่งจะทำให้ประเทศมีขีดความสามารถในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น
สำหรับเป้าหมายที่กระทรวงคมนาคมได้นำเสนอในการเสวนาดังกล่าว ประกอบด้วยการลดต้นทุนการขนส่งสินค้ารวมเฉลี่ยในปี 2563 ให้อยู่ที่ 1.8869 บาท/ตัน-กิโลเมตร แทนที่จะเป็น 1.9949 บาท/ตัน-กิโลเมตร หากไม่มีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคม ซึ่งจะทำให้สามารถลดต้นทุนการขนส่งสินค้าได้ไม่น้อยกว่า 52,843 ล้านบาทต่อปี พร้อมทั้งเพิ่มปริมาณผู้โดยสารในระบบขนส่งสาธารณะของประเทศเป็นร้อยละ 6
โดยเน้นการใช้ระบบรถไฟความเร็วสูงเป็นหลักในการขนส่งผู้โดยสารเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดใหญ่ๆ และประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงการเพิ่มสัดส่วนปริมาณการขนส่งในด้านต่างๆ นอกจากนี้ยังมุ่งหวังที่จะสร้างมูลค่าการประหยัดเวลาในการขนส่ง (VOT) ไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาทต่อปี ลดความสูญเสียจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 155,000 ล้านบาทต่อปี และเพิ่มขีดความสามารถการขนส่งสินค้าในภาพรวมเป็น 900 ล้านตันต่อปี