xs
xsm
sm
md
lg

“ซินโครตรอน” จับมือ “ปูนใหญ่” วิจัยพัฒนาอุตฯ ก่อสร้างไทยทัดเทียมนานาชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) โดย ศาสตราจารย์นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันฯ ลงนาม MOU ทางวิชาการด้านวัสดุก่อสร้าง กับ บริษัท สยามวิจัยและนวัตกรรม จำกัด ในเครือ SCG โดย ดร.ปริญญา สายน้ำทิพย์ กรรมการผู้จัดการบริษัทสยามวิจัยฯ
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กระทรวงวิทย์ ที่ตั้งเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ลงนามความร่วมมือ “MOU” ทางวิชาการกับเครือ “SCG” ยักษ์ใหญ่ปูนซิเมนต์ไทย เพื่อวิจัยพัฒนาวัสดุก่อสร้างด้วยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมก่อสร้างประเทศไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุมแก่งคอย-เขาวง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ได้จัดให้มีพิธี “ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านวัสดุก่อสร้าง” ขึ้นระหว่างสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศาสตราจารย์นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กับบริษัท สยามวิจัยและนวัตกรรม จำกัด โดย ดร.ปริญญา สายน้ำทิพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามวิจัยและนวัตกรรม จำกัด

ทั้งนี้ เพื่อประสานความร่วมมือและสนับสนุนทางวิชาการด้านวัสดุก่อสร้าง ยกระดับความสามารถและเพิ่มศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนา โดยใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอนและเครื่องมือวิเคราะห์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสนับสนุนการวิเคราะห์ ตรวจสอบและทดสอบวัสดุก่อสร้างโดยใช้แสงซินโครตรอน ซึ่งเป็นการบูรณาการทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อจัดการร่วมกันให้เกิดการพัฒนาที่ดียิ่งขึ้นในการทำงานของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอย่างมีประสิทธิภาพ รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมในประเทศ ซึ่งมุ่งเน้นด้านการวิจัยและพัฒนาให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ และเพื่อสนับสนุน ส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเทคนิคและวิศวกรรมด้วย

ศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า สถาบันฯ มีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนตั้งอยู่ที่ จ.นครราชสีมา ให้บริการแก่นักวิจัยทั้งชาวไทยและต่างประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นักวิจัยได้ใช้ประโยชน์ในงานวิจัยสาขาต่างๆ โดยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนนี้เป็นแหล่งกำเนิดแสงที่มีความเข้มสูงและมีช่วงค่าพลังงานกว้าง ครอบคลุมช่วงพลังงานตั้งแต่ช่วงของรังสีอินฟราเรดจนถึงรังสีเอ็กซ์ ทำให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย มีประโยชน์อย่างมากต่องานวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐานและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ รวมทั้งสามารถใช้ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต

สำหรับความร่วมมือกับบริษัท สยามวิจัยและนวัตกรรมในครั้งนี้ ทางสถาบันฯ จะให้การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาโดยจัดสรรเวลาการให้บริการแสงซินโครตรอนและเครื่องมือวิเคราะห์อื่นๆ พร้อมให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีการทดสอบ ตรวจสอบ รวมทั้งการวิเคราะห์ผลจากแสงซินโครตรอน รวมถึงการสนับสนุนการปรับปรุงพัฒนาด้านเทคนิคและวิศวกรรม

ดร.ปริญญา สายน้ำทิพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทสยามวิจัยและนวัตกรรม จำกัด ในเครือ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG เปิดเผยว่า บริษัท สยามวิจัยและนวัตกรรม จำกัด ในเครือ SCG เป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างที่เกี่ยวข้อง เช่น มอร์ตาร์ คอนกรีต และวัสดุทนไฟ เพื่อสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High Value Added Products and Services - HVA) ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลายและเฉพาะด้านมากยิ่งขึ้น

“การร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงครั้งนี้เพื่อสนับสนุนด้านวิชาการและการฝึกอบรมเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างโดยใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอนและเครื่องมือวิเคราะห์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนการวิเคราะห์ ตรวจสอบ และทดสอบวัสดุก่อสร้างโดยใช้แสงซินโครตรอน ส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเทคนิคและวิศวกรรม รวมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการองค์กร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานวิจัยของทั้ง SCG และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานวิจัย สามารถขยายขอบเขตงานวิจัยได้หลากหลาย และทำให้สามารถทำงานวิจัยในเชิงลึกได้มากขึ้น” ดร.ปริญญากล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น