xs
xsm
sm
md
lg

“ซินโครตรอน” ช่วยเกษตรกรไทย เตรียมสร้าง “เครื่องอบแห้งลำไยไมโครเวฟ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาสตราจารย์ น.ท.ดร.สราวุฒิ สุจิตจร
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - นักวิจัยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กระทรวงวิทย์ เร่งช่วยเกษตรกรไทยเตรียมสร้าง “เครื่องอบแห้งลำไยไมโครเวฟ” ต้นแบบ ขนาดกำลัง 100 กิโลวัตต์ อบได้ครั้งละ 1 ตัน ขึ้นเป็นครั้งแรก เผยร่นระยะเวลาอบได้ถึง 15 เท่า จากเดิม 2-3 วัน เหลือแค่ 3-5 ชม. ชี้เพิ่มรายได้ส่งออกลำไยไทยในตลาดโลก

วันนี้ (5 มี.ค.) ศาสตราจารย์ น.ท.ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อ.เมือง จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนได้รับนโยบายจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้จัดทำโครงการ “เครื่องต้นแบบสำหรับอบแห้งลำไยด้วยไมโครเวฟ”

ทีมงานวิจัยของสถาบันฯ ได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญการอบแห้งด้วยไมโครเวฟ ผู้เชี่ยวชาญแหล่งจ่ายไมโครเวฟกำลังสูงของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เพื่อพัฒนาเครื่องอบแห้งลำไยด้วยไมโครเวฟขนาดกำลัง 100 กิโลวัตต์ สามารถอบแห้งลำไยสดได้ถึงครั้งละ 1 ตัน และได้ลำไยอบแห้งที่ความชื้นประมาณ 10% ภายในเวลา 3-5 ชั่วโมง ขึ้นเป็นครั้งแรก

ทั้งนี้ การแปรรูปลำไยสดเป็นลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง และลำไยอบแห้งทั้งเปลือก จะช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกลำไยมีช่องทางการขายลำไยสดเพิ่มขึ้น ในปัจจุบันเทคโนโลยีหลักที่ถูกนำมาใช้สำหรับการอบแห้งลำไยคือการใช้ลมร้อนซึ่งต้องใช้เวลาอบนานประมาณ 2-3 วัน

สำหรับไมโครเวฟเป็นเทคโนโลยีอีกทางเลือกหนึ่งในการอบแห้งซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ เนื่องจากมีข้อดีในเรื่องการประหยัดพลังงานและประหยัดเวลาได้มากกว่าการใช้ลมร้อน

“การนำคลื่นไมโครเวฟมาใช้อบลำไยจะสามารถทำความชื้นของลำไยสดจากประมาณ 80% ให้เหลือความชื้นที่ 10-15% และสามารถร่นระยะเวลาการอบลงจากเดิมถึง 15 เท่า เหลือแค่ 3-5 ชั่วโมงเท่านั้น และหมดปัญหาเครื่องลำไยไหม้อีกด้วย แต่ปัจจุบันประเทศไทยยังใช้วิธีนี้น้อยมาก เพราะขาดผู้เชี่ยวชาญทางด้านคลื่นไมโครเวฟกำลังสูง” น.ท.ดร.สราวุฒิ กล่าว

ศ.น.ท.ดร.สราวุฒิกล่าวต่อว่า ฉะนั้นสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ซึ่งมีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยและใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ตั้งอยู่ที่ จ.นครราชสีมา มีทีมนักวิจัยและวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญในการออกแบบด้านเทคนิคและวิศวกรรมชั้นสูง จึงสามารถที่จะพัฒนาต้นแบบเครื่องอบแห้งลำไยด้วยไมโครเวฟขนาดกำลัง 100 กิโลวัตต์ได้

โครงการดังกล่าวกำหนดระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2556 ถึง 30 กันยายน 2557 ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอเพื่อขออนุมัติงบประมาณดำเนินโครงการจากรัฐบาล และหากโครงการฯ ประสบความสำเร็จ จะทำให้ประเทศไทยมีเครื่องต้นแบบการอบแห้งลำไยด้วยไมโครเวฟ ส่งผลให้ประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการส่งออกลำไยอบแห้งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกด้วย
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน)  อ.เมือง จ.นครราชสีมา
กำลังโหลดความคิดเห็น