xs
xsm
sm
md
lg

“ซินโครตรอน” เร่งผุดห้องปฏิบัติการสร้าง “หุ่นยนต์” 124 ล้าน ทันสมัยที่สุดในไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.น.ท.ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผอ.สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กระทรวงวิทย์ สนองนโยบายรัฐบาล เร่งผุดโครงการสร้างห้องปฏิบัติการกลางพัฒนาหุ่นยนต์ทันสมัยที่สุดในไทยที่โคราช เผยใช้งบฯ กว่า 124 ล้าน หวังผลิตหุ่นยนต์ใช้เอง ลดเม็ดเงินไหลออกนอกประเทศ พร้อมพัฒนาสร้างบุคลากร ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคอุตสาหกรรม

วันนี้ (18 ก.พ.) ศาสตราจารย์ ดร. น.ท.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) อ.เมือง จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีแผนที่จะดำเนินโครงการสร้างห้องปฏิบัติการกลางสำหรับการพัฒนาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่ทันสมัยที่สุดในประเทศ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จะใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศ โดยสถาบันฯ จะเป็นศูนย์กลางในการสาธิต ออกแบบพัฒนาหุ่นยนต์และถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคอุตสาหกรรม เพื่อใช้งานและให้บริการทางด้านต่างๆ

ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติถูกนำมาใช้งาน และเป็นที่ต้องการอย่างมากในวงการอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ซึ่งมีการตื่นตัวในการนำเทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามาใช้งานอย่างกว้างขวาง ในแต่ละปีประเทศไทยต้องใช้เงินงบประมาณเพื่อนำเข้าหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้งานทางด้านต่างๆ คิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท เช่น หุ่นยนต์แขนกล ที่ใช้ในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ หุ่นยนต์บริการ หุ่นยนต์ทางด้านการแพทย์ หุ่นยนต์สำรวจอวกาศ เป็นต้น

ฉะนั้น หากเราสามารถพัฒนาสร้างหุ่นยนต์และกลไกอัตโนมัติบางรูปแบบขึ้นใช้เองภายในประเทศได้จะทำให้ลดการนำเข้าและการสูญเสียเงินตราต่างประเทศได้เป็นจำนวนมหาศาล อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาบุคลากรทางด้านเทคนิคและวิศวกรรมในสาขาต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย การออกแบบเชิงกล การคำนวณ และวิเคราะห์เชิงพลศาสตร์ รวมถึงงานทางด้านไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และระบบควบคุมระดับสูงให้มีความเข้มแข็งและชำนาญยิ่งขึ้น

“การสร้างห้องปฏิบัติการกลางสำหรับการพัฒนาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัตินั้น คาดว่าจะใช้งบประมาณในการลงทุนกว่า 124 ล้านบาท ส่วนสถานที่ใช้ห้องปฏิบัติการแสงสยามที่มีอยู่แล้วที่ จ.นครราชสีมา มีระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2557-30 กันยายน 2558 ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอโครงการเพื่อขออนุมัติงบประมาณจากรัฐบาลในการจัดสร้างห้องปฏิบัติการดังกล่าว” ศาสตราจารย์ ดร. น.ท.สราวุฒิกล่าว
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) อ.เมือง จ.นครราชสีมา
ห้องปฏิบัติการแสงสยาม
กำลังโหลดความคิดเห็น