xs
xsm
sm
md
lg

ทุ่ม 45 ล้านสร้างสถานีใหม่ทดลอง “แสงซินโครตรอน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถานีทดลองแสงที่ 5 สร้างขึ้นด้วยงบประมาณ 45 ล้านบาท จาก 3 สถาบัน
สซ. -3 สถาบันชั้นนำด้านการวิจัยของไทยทุ่มงบ 45 ล้านบาท สร้างสถานีทดลองแห่งใหม่ด้านเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอ็กซ์ จากแสงซินโครตรอน ใช้ทดลองวิจัยได้หลากหลายและไม่ทำลายตัวอย่างที่ศึกษา

ศ.ดร.นาวาอากาศโท สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงการจัดตั้งและดำเนินการสถานีร่วมวิจัยกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อการใช้แสงซินโครตรอน โดยทั้ง 3 สถาบันจะใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอนในการวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีร่วมกัน

ทั้งนี้ ได้ใช้งบประมาณ 45 ล้านบาทเปิดสถานีทดลองใหม่เป็นระบบลำเลียงแสงที่ 5 ซึ่งใช้ชื่อว่า “ระบบลำเลียงแสง มทส.-นาโนเทค-สซ.” (SUT-NANOTEC-SLRI Beamline) โดยเป็นสถานีทดลองด้านเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอ็กซ์ (X-ray Absorption Spectroscopyหรือ XAS) ที่ทำงานได้ในช่วงพลังงานแสงซินโครตรอน ย่านรังสีเอ็กซ์ตั้งแต่ 1,250-10,000 อิเล็กตรอนโวลต์ (eV) โดยใช้เครื่องคัดเลือกพลังงานแสงแบบผลึกคู่ (Double Crystal Monochromator หรือ DCM)

เทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ดังกล่าวสามารถวิเคราะห์สถานะทางเคมีและโครงสร้างอะตอมโดยรอบของธาตุที่สนใจศึกษาได้หลายชนิด ตั้งแต่ธาตุที่มีเลขอะตอมมากกว่าธาตุแมกนีเซียมขึ้นไปจนถึงยูเรเนียม และเป็นเทคนิคที่ไม่ทำลายสารตัวอย่าง สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในงานวิจัยด้านต่างๆ เช่น วัสดุศาสตร์ ชีววิทยา สิ่งแวดล้อม และโบราณคดี โดยวิเคราะห์สารตัวอย่างได้ทั้งในสภาวะของแข็ง ของเหลว และก๊าซ

ระบบลำเลียงแสงที่ 5 นี้ ถือเป็นหน่วยงานวิจัยกลางในการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ โดยให้บริการแสงซินโครตรอนที่สามารถรองรับงานวิจัยเพิ่มมากขึ้น และยังเป็นการเพิ่มโอกาสและศักยภาพของกลุ่มวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีของประเทศให้เข้มแข็งและทัดเทียมกับนานาอารยประเทศได้อีกด้วย







กำลังโหลดความคิดเห็น