xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมโชว์ “กระจกเกรียบวัดพระแก้ว” ในงานแสงซินโครตรอนเอเชีย-โอเชียเนีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตัวอย่างกระจกเกรียบจากการศึกษาด้วยแสงซินโครตรอนเพื่อหาองค์ประกอบและนำไปสู่การพัฒนาสูตรผลิตกระจกเกรียบเพื่อใช้ในการบูรณะซ่อมแซมวัดพระแก้ว
สซ.-สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนรับหน้าที่ในฐานะไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมการวิจัยด้านแสงซินโครตรอนระดับเอเชีย-โอเชียเนียครั้งที่ 6 ซึ่งมีนักวิจัยจากหลายชาติมารวมตัวกันกว่า 200 คน พร้อมได้โอกาสโชว์ผลงานวิจัยไทยในการใช้แสงซินโครตรอนศึกษากระจกเกรียบโบราณวัดพระแก้ว วันที่ 8-12 ส.ค.นี้

ศ.นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ได้รับเกียรติให้เป็นประเทศเจ้าภาพจัดการประชุม“เวทีวิจัยด้านแสงซินโครตรอนภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย ครั้งที่ 6” ระหว่างวันที่ 8 - 12 ส.ค.55 นี้ ณ โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ พาร์ค ซึ่งเป็นการประชุมนัดสำคัญของนักวิจัยด้านแสงซินโครตรอนทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 200 คน การประชุมดังกล่าวจะนำเสนอความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับแสงซินโครตรอนโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงระดับโลก แสดงผลงานวิจัยเด่นจากแสงซินโครตรอนและแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างกัน

โอกาสนี้สถาบันวิจัยซินโครตรอนไทยเตรียมแสดงผลงานวิจัย “การศึกษากระจกเกรียบโบราณวัดพระแก้ว” ตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมกันนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดงานประชุมดังกล่าว ที่จัดขึ้นภายใต้หลักการที่ว่า Bright light for better life ในวันที่ 9 ส.ค.นี้

“ทรงสนพระทัยด้านฟิสิกส์เครื่องเร่งอนุภาค โดยได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ทอดพระเนตรความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีเครื่องเร่งอนุภาค ขององค์กรวิจัยที่มีชื่อเสียงระดับโลกในหลายโอกาส รวมถึงเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนของไทย ณ ห้องปฏิบัติการแสงสยาม จ.นครราชสีมา และทรงสนพระทัยงานวิจัยการใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอน รวมทั้งได้ทรงให้แนวพระราชดำริที่จะเปิดโอกาสให้นักศึกษา คณาจารย์ นักวิจัย และนักวิชาการไทย ได้เปิดโลกทัศน์และสร้างเครือข่ายวิจัยร่วมกับนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ กระทั่งได้เกิดโครงการสนองพระราชดำริผ่านกิจกรรมนักศึกษา-ครูภาคฤดูร้อนร่วมกับองค์กรวิจัยระดับโลก เช่น เซิร์น และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนเดซี เป็นต้น” ศ.นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิกล่าว

ผู้อำนวยการสถาบันกล่าวอีกว่า สถาบันฯ ได้นำห้องปฏิบัติการแสงสยาม เข้าเป็นสมาชิกขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตแสงซินโครตรอนในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย (Asia and Oceania) เมื่อปี 2549 ซึ่งประกอบด้วย สาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน สาธารณรัฐเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และประเทศไทย ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ การร่วมมือพัฒนาความรู้ความสามารถของบุคลากร และการพัฒนาเครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านแสงซินโครตรอนร่วมกัน และกลุ่มสมาชิกได้กำหนดให้มีการประชุม “เวทีวิจัยด้านแสงซินโครตรอนภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย (Asia-Oceania Forum for Synchrotron Radiation Research) หรือ AOFSRR ขึ้นเป็นประจำทุกปี

ในปี พ.ศ. 2555 นี้ สถาบันฯ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุม AOFSRR ครั้งที่ 6 ขึ้นที่ประเทศไทย ในวันที่ 8-12 ส.ค. 55 ซึ่งถือเป็นการประชุมที่สำคัญในระดับนานาชาติของนักวิจัยด้านแสงซินโครตรอน ครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งชาวไทยและต่างประเทศ จำนวนกว่า 200 คน โดยจัดให้มีกิจกรรมบรรยายพิเศษเกี่ยวกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีแสงซินโคร ตรอน เครื่องเร่งอนุภาค และการใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอน โดยนักวิชาการที่มีชื่อเสียงระดับโลกจะนำเสนอพัฒนาการเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน

ในจำนวนนักวิชาการที่มีชื่อเสียงนั้น ศ.มูน ฮอ รี (Prof. Moonhor Ree) จากห้องปฏิบัติการแสงซินโครตรอนโปฮัง (Pohang Light Source) เกาหลีใต้ และประธานการประชุม AOFRSS จะบรรยายเรื่องการพัฒนาแสงซินโครตรอนสู่รุ่นที่ 4 Free Electron Laser รวมถึงการบรรยายพิเศษของ ศ.เฮลมุท ดอสช์ (Prof. Helmut Dosch) ห้องปฏิบัติการวิจัยเดซี (DESY) เยอรมนี และ ศ.เทซึยะ อิชิกาวะ (Prof. Tetsuya Ishikawa) ห้องปฏิบัติการแสงซินโครตรอนสปริง-8 (SPring-8) ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการแสงซินโครตรอนที่มีความก้าวหน้าและใหญ่ที่สุดในโลก

นอกจากนี้ยังมีการเสนอผลงานวิจัยเด่นที่ครอบคลุมทางด้าน ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ และวัสดุศาสตร์ การเสนอผลความร่วมมือระหว่างหน่วยงานสมาชิกต่อที่ประชุม ในโอกาสนี้นักวิจัยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ดร.วันทนา คล้ายสุบรรณ์ จะได้ถวายรายงาน “แสงซินโครตรอนกับการศึกษากระจกเกรียบโบราณของไทย” เพื่อการใช้ประโยชน์ต่อการบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ส่วนในวันที่ 8 ส.ค.จะมีการประชุมนัดพิเศษสำหรับ “คณะทำงานเฉพาะกิจ” ของผู้แทนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมกับคณะผู้บริหารของ AOF Council สืบเนื่องจากที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนได้เสนอวาระ“แสงซินโครตรอนเพื่อประชาคมอาเซียน” (Synchrotron Technology for ASEAN) เพื่อรองรับการประกาศสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ที่จะถึงนี้ ซึ่งจะได้ร่วมหารือกำหนดขอบข่ายการใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอนให้ได้ผลสัมฤทธิ์สูงสุด เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันการพัฒนางานวิจัย ที่ส่งผลต่อการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ ที่จะเป็นเครื่องมือผลักดันเพื่อการแข่งขันได้ของภูมิภาคอาเซียนในประชาคมโลกต่อไป
แถลงข่าวการจัดงานประชุม
กำลังโหลดความคิดเห็น