xs
xsm
sm
md
lg

แสงซินโครตรอนยืนยัน “ติ้วขน-สนสามใบ” ทำเซลล์มะเร็งทำลายตัวเองได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ต้นติ้วขนซึ่งกิ่งมีลักษณะเป็นหนาม และนักวิจัยได้ใช้แสงซินโครตรอนยืนยันว่าติ้วขนและสนสามใบนั้นมีฤทธิ์ทำให้เซลล์มะเร็งทำลายตัวเองได้ โดยไม่ส่งกระทบต่อเซลล์ปกติ
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน - ใช้ “แสงซินโครตรอน” ติดตามวิเคราะห์พบกิ่งสนสามใบ และติ้วขน พืชสมุนไพรท้องถิ่นไทย มีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว ระบุพืชมหัศจรรย์ 2 ชนิดมีศักยภาพทำให้เซลล์มะเร็งทำลายตัวเอง โดยไม่มีผลต่อเซลล์รอบข้าง เผยเป็นผลงานการวิจัยในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพฯ

ภญ.รศ.ดร.นาถธิดา วีระปรียากูร อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ รศ.ดร.สหพัฒน์ บรัศว์รักษ์ อาจารย์ประจำคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ น.ส.ศศิภาวรรณ มาชะนา นักศึกษาปริญญาเอกภายใต้โครงการเครือข่ายเชิงกลยุทธ์เพื่อการผลิตและพัฒนาอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา จากมหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมกับ ดร.วราภรณ์ ตัณฑนุช และ ดร.กาญจนา ธรรมนู นักวิจัยจากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ใช้แสงซินโครตรอนศึกษาสารต้านมะเร็งจากพืชสมุนไพร

ภญ.รศ.ดร.นาถธิดา หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า โรคมะเร็ง เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของประเทศไทย แม้ปัจจุบัน การรักษาด้วยการใช้ยาเคมีบำบัด เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง แต่ยังพบว่ามีผู้ป่วยเป็นจำนวนมากได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยา และมีรายงานถึงการดื้อยาเกิดขึ้น ซึ่งนับเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้การรักษาด้วยเคมีบำบัดไม่ประสบความสำเร็จ จึงมีความพยายามนำสารสกัดจากธรรมชาติ เช่น จากพืชสมุนไพรไทยที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งและลดการดื้อยา มาเสริมใช้กับยาเคมีบำบัดที่ใช้อยู่ปัจจุบัน

ผลจากการศึกษาทีมวิจัยพบว่า สารสกัดจากกิ่งของพืช 2 ชนิด คือ ติ้วขนและสนสามใบ ให้สารออกฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยมีศักยภาพทำให้เซลล์มะเร็งค่อยๆ สลายตัวจากการทำลายตัวเองจากภายใน หรือเรียกว่าการตั้งโปรแกรมทำลายตัวเอง (Apoptosis) ซึ่งกระบวนการนี้ เป็นผลดีอย่างมากต่อการรักษาโรคมะเร็ง เนื่องจากมีเพียงเซลล์มะเร็งเท่านั้นที่ตายลงไป ไม่มีผลต่อการทำลายเซลล์ปกติที่อยู่ข้างเคียง ร่างกายจึงไม่เกิดการอักเสบขึ้น และไม่มีผลข้างเคียงต่อการใช้ยา

ด้าน ดร.วราภรณ์ กล่าวว่า เพื่อให้ทราบกลไกการออกฤทธิ์ที่แท้จริงของพืชสมุนไพรทั้งสองชนิดนี้ คณะผู้วิจัยได้ใช้เทคนิคจุลทรรศน์อินฟราเรด (FTIR microspectroscopy) ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงในเชิงลึกที่เกิดขึ้นภายในเซลล์มะเร็ง และผลการทดลองพบว่าสารสกัดสมุนไพรทั้ง 2 ชนิดดังกล่าว ทำให้เซลล์มะเร็งตายโดยการชักนำให้มีการสร้างโปรตีนชนิดใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการทำลายตัวเองเกิดขึ้น
สนสามใบ
ทีมวิจัยพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงปริมาณของไขมัน โปรตีน และกรดนิวคลีอิก ในลักษณะที่แตกต่างจากกลไกการออกฤทธิ์ของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีต่อการใช้ยาเคมีมาตรฐานชนิด “เมลฟาแลน” อีกด้วย ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า กลไกการออกฤทธ์ของพืชทั้งสองชนิด แตกต่างจากการรักษาโดยใช้ยาเมลฟาแลน

“งานวิจัยนี้นำเทคนิคการวิเคราะห์แบบใหม่มาใช้ศึกษาสิ่งมีชีวิต ซึ่งเทคนิคจุลทรรศน์อินฟราเรด สามารถศึกษาการเปลี่ยนแปลงสารชีวโมเลกุลระดับเซลล์ อีกทั้งมีขั้นตอนการเตรียมตัวอย่างไม่ยุ่งยาก ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีใดๆ ในการเตรียมตัวอย่าง และใช้เวลาตรวจวิเคราะห์สั้น ซึ่งแตกต่างจากการวิเคราะห์ทางชีวเคมีทั่วไป ที่มีขั้นตอนเตรียมตัวอย่างยุ่งยากและสารเคมีราคาสูง ดังนั้น เทคนิคนี้เป็นทางเลือกที่ดีของนักวิจัยเพื่อให้ได้ข้อมูลแบบใหม่เพิ่มขึ้นมาจากวิธีปกติ และให้ผลรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น” ทีมวิจัยสรุป

สำหรับงานวิจัยนี้ต่อยอดมาจากงานวิจัยสำรวจพืชตามพฤกษศาสตร์พื้นบ้านของ ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ ธิติเมธาโรจน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งหลังจากนั้น รศ.ดร.บังอร ศรีพานิชกุลชัย จากคณะเภสัชสถาบันเดียวกันได้นำเลือกพืชที่มีการศึกษาดังกล่าวมาเตรียมเป็นสารสกัดและหามาตรฐานของสารสกัด และใช้บริการแสงซินโครตรอนในปี 2554-2555 เพื่อได้ทำการศึกษาฤทธิ์ในการต้านเซลล์มะเร็งจากสารสกัดพืชสมุนไพรมาอย่างต่อเนื่อง

ทีมวิจัยเชื่อว่าการศึกษาครั้งนี้จะนำไปสู่การนำพืชสมุนไพรไปใช้ประโยชน์จริงในอนาคต นอกจากนี้การนำแสงซินโครตรอนไปใช้ศึกษากลไกการออกฤทธิ์ของพืชสมุนไพรในเชิงลึก จะเป็นอีกแนวทางในการศึกษาและพัฒนาหาสารออกฤทธิ์ต้านมะเร็งจากพืชสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ต่อไป ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการทำงานวิจัยเชิงบูรณาการเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดูแลสุขภาพของประชาชนชาวไทย และยังเป็นการอนุรักษ์พันธุ์พืชดั้งเดิม อีกด้วย
(ซ้ายไปขวา) รศ.ดร.สหพัฒน์ บรัศว์รักษ์, ภญ.รศ.ดร.นาถธิดา วีระปรียากูร , ดร.วราภรณ์ ตัณฑนุช และ น.ส.ศศิภาวรรณ มาชะนา
กำลังโหลดความคิดเห็น