xs
xsm
sm
md
lg

“ม็อบสมาคมผี” ขู่เผาตัวตายหน้าอนุสาวรีย์พ่อขุนฯ ประชด “ปู”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - สมาชิกสมาคมฌาปนกิจฯ เชียงรายร่วม 200 คนฮือชุมนุมหน้าศาลากลางจังหวัดฯ จี้จัดการปัญหาถูกสมาคมฯ โกงเงินคนตาย โวยลั่นร้องเรียนทุกหน่วย แถมขึ้นโรงพักแจ้งความแล้วเรื่องกลับเงียบเป็นเป่าสากมานานถึงปีครึ่ง แกนนำถึงขั้นขู่เผาตัวตายหน้าอนุสาวรีย์พ่อขุนฯ ประชด “นายกฯ ปู”

วันนี้ (30 ส.ค.) กลุ่มผู้ที่เคยเป็นสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์เมืองเชียงราย และสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์เชียงรายร่วมใจ ประมาณ 200 คน นำโดยนายเอกนรินทร์ รักพงค์ อายุ 51 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้าน ม.7 ต.ทุ่งก่อ อ.เวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย ได้พากันมาชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดฯ เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้จังหวัดฯ ช่วยเร่งรัดดำเนินการ หลังจากชาวบ้านเคยร้องเรียนว่าได้รับความเดือดร้อนกรณีญาติผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นสมาชิกสมาคมฯ กว่า 102 คนไม่ได้รับเงินตามวงเงินรายละ 42,000 บาท ซึ่งผ่านมากว่า 1 ปีครึ่งแล้ว

นายเอกนรินทร์ และชาวบ้านระบุว่า ที่ผ่านมาเคยร้องเรียนทางจังหวัด ฝ่ายปกครอง อ.เมือง เทศบาล ต.ท่าสุด อ.เมือง แจ้งความต่อตำรวจ สภ.เมืองเชียงราย ฯลฯ มาครบถ้วนหมดแล้วแต่ก็ไม่มีความคืบหน้า ที่สำคัญในปัจจุบันผู้ที่เป็นประธานสมาคมฯ ซึ่งเป็นคู่กรณีกับชาวบ้านกลับได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกเทศมนตรีอีกด้วย ทำให้ชาวบ้านเกรงว่าจะมีการโยกย้ายหรือเปลี่ยนแปลงหลักฐานที่เคยร้องเรียนไปก่อนหน้านี้ด้วย

นายเอกนรินทร์ยังได้ขู่ว่า หากไม่ได้รับความเป็นธรรมในวันนี้ ได้เตรียมแก๊าซหุงต้ม 2 ถัง น้ำมันเบนซิน 1 แกลลอน รอไว้ที่รถยนต์ที่ขับมาแล้ว หากทางจังหวัดไม่สามารถช่วยให้โยกย้ายเอกสารหลักฐานจากเทศบาล ต.ท่าสุดไปไว้ ณ ที่ว่าการ อ.เมืองเชียงราย และไม่แจ้งความคืบหน้าคดีก็จะไปเผาตัวเองให้ตายหน้าลานอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราย บริเวณห้าแยกพ่อขุนฯ อ.เมือง

โดยช่วงปราศรัย นายเอกนรินทร์ได้นำเงินส่วนตัวจำนวน 17,000 บาทแจกชาวบ้าน โดยระบุว่าขายข้าวได้ 20,000 บาท แบ่งให้ภรรยา 3,000 บาทเพื่อเอาไว้ทำพิธีศพของตน ที่เหลือจะขอต่อสู้เป็นครั้งสุดท้าย รวมทั้งได้เรี่ยไรเงินจากชาวบ้านที่ไปร่วมกันได้อีกร่วม 4,000 บาทเพื่อแจกจ่ายให้ชาวบ้าน ใช้เป็นค่าน้ำมันไปชุมนุมด้วย

จากนั้นประกาศจะไปเผาตัวเองให้ตายเพื่อเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และให้สังคมทราบว่าสังคมนี้มีความเป็นธรรมหรือไม่ ตำรวจ อำเภอ และจังหวัดจะหันมาสนใจหรือไม่

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ต่อมานายยุทธนา สายสิงห์ทอง ท้องถิ่น จ.เชียงรายได้รับเรื่องจากชาวบ้าน โดยได้ให้ทางพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.เชียงราย นิติกรเทศบาล ต.ท่าสุด ปลัดอาวุโส อ.เมืองเชียงราย ฯลฯ ชี้แจงความคืบหน้าพร้อมรับฟังปัญหาเพิ่มเติมจากชาวบ้านได้ความว่า กรณีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2554 โดยชาวบ้านได้ร้องเรียนว่าไม่ได้รับเงินดังกล่าว พร้อมตรวจสอบพบหลักฐานที่เป็นพิรุธหลายรายการ เช่น รายชื่อของผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นเหตุให้สมาคมฯ ต้องเก็บเงินจากสมาชิกศพละ 20 บาท

ปรากฏว่ากลับมีรายชื่อผู้เสียชีวิตคนเดียวหลายครั้ง เช่น นายปัน ประยงค์ เสียชีวิตคนเดียวถึง 4 ครั้ง, นายจุ่ม ถาวร เสียชีวิตหัวปีท้ายปีในปี 2553 ฯลฯ และยังมีคนอื่นๆ อีกมากมาย ส่วนผู้ที่ทำงานในสมาคมฯ ก็ลงรายชื่อจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้ตัวเอง

นายเอกนรินทร์ยังระบุอีกว่า จากสมาชิกประมาณ 10,000 คนได้ทำให้มีมูลค่าความเสียหายทั้งหมดกว่า 33 ล้านบาท เพราะเป็นการวนเสียชีวิตและเก็บเงินร่ำไป โดยชาวบ้านเสียเงินให้สมาคมฯ คนละประมาณ 600-1,200 บาทต่อเดือนสะสมกันมานาน

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ด้านเจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงว่าปัจจุบันตำรวจก็อยู่ระหว่างดำเนินคดี พบผู้ที่คาดว่ากระทำความผิด 1 คนหลบหนีไป ทำให้จับกุมและดำเนินคดีต่อไม่ได้ ส่วนสมาคมทั้ง 2 แห่งก็ได้ยกเลิกไปแล้ว เพราะหลังจากเกิดปัญหาขึ้นชาวบ้านก็มีการร้องเรียน จนเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2554 มีการประชุมใหญ่และมีมติให้ยกเลิกสมาคมฯ

แต่ขั้นตอนการตรวจสอบคือจะต้องมีการตรวจสอบบัญชีเพื่อหาความผิดที่เกิดขึ้น ซึ่งมีการตั้งคณะตรวจสอบบัญชีขึ้นมา แต่ปรากฏว่าต้องอาศัยผู้มีความชำนาญจึงได้ประสานไปยังสำนักงานทะเบียนกลาง กรุงเทพฯ ให้ไปตรวจสอบ แต่เนื่องจากต้องรับผิดชอบการตรวจบัญชีทั่วประเทศจึงทำให้ล่าช้า ทางจังหวัดก็เคยส่งหนังสือแจ้งไปแล้วถึง 2 ครั้ง
 
ในส่วนของคณะกรรมการระดับอำเภอก็ได้ตรวจสอบเรื่องราว และลงความเห็นว่าเรื่องนี้น่าจะมีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น และชาวบ้านก็ได้ไปแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้บริหารสมาคมฯ จำนวน 15 คนด้วย

นายยุทธนากล่าวว่า กรณีที่ชาวบ้านเรียกร้องจะแจ้งให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดได้ทำหนังสือไปยังสำนักงานทะเบียนกลางให้รับทราบ เพราะหากผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งไปเองคงจะมีการเร่งรัดกันมากขึ้น ส่วนกรณีจะให้ย้ายเอกสารหลักฐานนั้นทางอำเภอจะร่วมกับชาวบ้านไปดำเนินการนำเอกสารหลักฐานไปเก็บไว้ที่อำเภอได้เลย

นายเอกนรินทร์กล่าวตอนท้ายอีกว่า ตนไม่เข้าใจว่าสังคมมีความเป็นธรรมหรือไม่เพราะเอกสารหลักฐานที่พวกตนไปตรวจสอบก็ค่อนข้างจะหนาแน่น โดยเฉพาะเอกสารของสมาคมฯ ระบุชัดเจนเรื่องรายชื่อผู้ตายซ้ำซ้อน การเบิกจ่ายเงินให้ตัวเอง ฯลฯ แต่ปรากฏว่าเมื่อไปร้องเรียนหน่วยงานต่างๆ ก็โยนกันไปมา ตำรวจก็บอกผู้ต้องหาหลบหนีทำให้ฟ้องศาลไม่ได้ ตนก็สงสัยว่าเหตุใดจึงมุ่งไปที่บุคคลที่ทำบัญชีภายในสมาคมฯ คนเดียว เพราะคนที่สั่งจ่ายเงิน และมีอำนาจหน้าที่ในสมาคมฯ ขณะนั้นก็คือคณะกรรมการ และหลายคนก็คือนักการเมืองท้องถิ่นที่ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกและรองนายกท้องถิ่นในขณะนี้ รวมทั้งยังมีผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่อีกหลายคนในเทศบาล แล้วตำรวจยังมารอสำนักงานทะเบียนกลางอีกทั้งๆ ที่หลักฐานชัดเจน

“ปล่อยให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีหน้ามีตาในสังคมอย่างสุขสบาย ขณะที่ชาวบ้านเดือดร้อน ข้าราชการก็โยนเรื่องกันไปมาให้ล่าช้า ส่วนระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ก็อ้างกันอยู่ได้ ทั้งๆ ที่ชาวบ้านต้องการความคืบหน้าของการดำเนินการไม่ใช่เรื่องระเบียบ ซึ่งเป็นเครื่องมือในการดำเนินการดังกล่าว ดังนั้นพวกผมคงทนไม่ไหวเพราะอึดอัดในการไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะผมถูกขู่ฆ่ามาแล้วหลายครั้ง ผมจึงขอบอกว่าไม่ต้องขู่เพราะผมพร้อมจะตายอยู่แล้ว” นายเอกนรินทร์กล่าว

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า การประชุมหาข้อยุติเริ่มวุ่นวาย เมื่อทางจังหวัดไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าจะเร่งรัดให้ทางตำรวจดำเนินคดีให้รวดเร็วได้อย่างไร และต้องการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอไปรับเรื่องเพราะเคยร้องไปแล้วแต่ยังเงียบอยู่ ทำให้นายเอกนรินทร์พาชาวบ้านจะเดินทางไปที่ลานหน้าอนุสาวรีย์ฯ เพื่อเผาตัวเองตามคำขู่ แต่เจ้าหน้าที่ได้ห้ามปรามและขอให้กลับไปประชุมหารือกันตามเดิม

ซึ่งนายเอกนรินทร์ยังสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีผู้สมัครท้องถิ่นว่า เหตุใดทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงรับคนเหล่านี้เข้าไปสมัครทั้งๆ ที่คณะกรรมการอำเภอได้ตรวจพบความผิดปกติของคนเหล่านี้แล้ว

กระทั่งนายยุทธนา และเจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่าจะเร่งรัดคดีให้โดยเร็ว และให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรับเรื่องเพื่อแจ้งไปยังดีเอสไอให้รับทราบต่อไป

ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมแยกย้ายกันออกจากศาลากลางจังหวัด แต่ไปชุมนุมที่หน้าสำนักงาน กกต.เพื่อสอบถามเรื่องคุณสมบัติผู้สมัครเป็นผู้บริหารท้องถิ่นต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น