พิษณุโลก - สกย.-ธ.ก.ส.เรียกตัวแทนสถาบันเกษตรกรยางพาราภาคเหนือ และตะวันออกอบรมคัดมาตรฐานยางพารา ก่อนส่งขาย อสย.ตามโครงการ 1.5 หมื่นล้านบาท เผยหากฝีมือคัดคุณภาพยางไม่ถึงมีสิทธิ์เจ๊งได้
วันนี้ (30 ส.ค.) ที่โรงแรมอมรินทร์ลากูน จ.พิษณุโลก สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) พิษณุโลก และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ได้จัดประชุมตัวแทนสถาบันเกษตรกรยางพาราในภาคเหนือ และภาคตะวันออก พร้อมพนักงาน สกย.รวมแล้วประมาณ 300 คน เพื่ออบรมหลักสูตรมาตรฐานการผลิต การบริหารจัดการตลาดยางพารา
โดย สกย.เป็นผู้ให้ความรู้และความเข้าใจแก่สถาบันเกษตรกรในการคัดเลือกคุณภาพยางพารา และซื้อยางพาราจากสมาชิก ตามโครงการพัฒนาศักยภาพและรักษาเสถียรภาพยางพารา 1.5 หมื่นล้านบาทของรัฐบาล เพื่อที่จะขอเงินกู้จาก ธ.ก.ส.ไปรับซื้อผลผลิตจากสมาชิก และนำไปขายต่อแก่องค์การสวนยาง (อสย.)
ซึ่งขณะนี้มีสถาบันเกษตรกรได้จัดตั้งเป็นนิติบุคคล สามารถรวมรวบยางพาราเพื่อส่งขาย อสย.แล้วทั่วประเทศ 419 สถาบัน ส่วนสถานบันเกษตรที่กำลังยื่นขอจดทะเบียนทั่วประเทศอีกกว่า 700 สถาบัน เพิ่งอนุมัติก่อตั้งสถาบันเกษตรกรแล้วกว่า 600 สถาบัน
นายสุรพล ฝันเชียร ผู้อำนวยการ สกย.พิษณุโลก เปิดเผยว่า ผู้บริโภคยางพาราสูงสุดในโลกคือ ประเทศจีน โดยนำวัตถุดิบยางไปผลิตเพื่อส่งออกเป็นสินค้าต่างๆ ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจจีนลดความร้อนแรงทำให้ภาวะตลาดยางพาราไม่ร้อนแรง โครงการ 1.5 หมื่นล้านบาทของรัฐบาลจึงพยายามรักษาเสถียรภาพราคายางพาราให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ณ วันนี้ราคายางพาราที่ อสย.รับซื้อ 100 บาทต่อกิโลกรับ ขณะราคาตลาดอยู่ที่ 73 บาท ส่วนยางก้นถ้วย 100% รับซื้อสูงถึง 92 บาท แต่ราคาตลาดต่ำกว่ามาก
ซึ่งการรับซื้อในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดมากเพราะวางเกณฑ์คุณภาพยางพาราไว้สูง แต่ถ้าคุณภาพของผลผลิตจริงไม่ถึง ราคาก็ต้องลดลงไปตามเกณฑ์คุณภาพยาง
ในการอบรมตัวแทนสถาบันเกษตรกรครั้งนี้มีเป้าหมายให้ตัวแทนสถาบันเกษตรกรมีความรู้เกี่ยวกับยางพารา สามารถคัดคุณภาพยางพาราให้ได้มาตรฐาน ไม่เช่นนั้นหากสถาบันฯ รับซื้อยางพาราจากสมาชิกโดยให้ราคาสูงเกินไป เมื่อนำไปขายให้องค์การสวนยางจะได้ราคาต่ำกว่าทำให้ขาดทุนได้ เพราะ อสย.มีหลักเกณฑ์มาตรฐานอยู่ ดังนั้นตัวแทนสถาบันเกษตรกรต้องมีความเข้าใจในการประเมินคุณภาพราคายางพาราก่อน
“สกย.ไม่อยากเห็นสถาบันเกษตรกรเจ๊ง โครงการ 1.5 หมื่นล้านบาทเป็นโอกาสของเกษตรกรชาวสวนยาง ฉะนั้นอย่าทิ้งโครงการ และอยากให้เดินหน้าโครงการต่อ หลังจากหมดโครงการในเดือนมีนาคม 56 สถาบันเกษตรกรควรเก็บเกี่ยวผลกำไรไว้ต่อยอดต่อไป”
สำหรับสถาบันเกษตรกรที่พิษณุโลกก่อตั้งและรวบรวมยางพาราแล้ว 2 แห่ง คือ สหกรณ์เกษตรยางพาราพิษณุโลก และสหกรณ์ลูกค้า ธ.ก.ส.ยางพาราพิษณุโลก และยังมีอีก 5 กลุ่มที่ยื่นขอก่อตั้งเป็นนิติบุคคล คือ สหกรณ์บ้านชมพู 55, สหกรณ์น้ำริน, บ้านใหม่ชัยเจริญ, สหกรณ์อินโดจีน และสหกรณ์บ้านใหม่ชัยมงคล