xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ยกสินค้าโอทอป อัปมาตรฐานจีเอ็มพี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สธ.” ขานรับนโยบายนายกรัฐมนตรี เร่งยกมาตรฐานสินค้าโอทอป อาหาร สินค้าแปรรูป ให้ได้มาตรฐานจีเอ็มพี

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมผู้บริหารระดับสูง ที่กระทรวงสาธารณสุข วันนี้ (6 ส.ค.) ว่า ในที่ประชุมได้กำชับให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดนโยบายของนายกรัฐมนตรีในเรื่องการพัฒนามาตรฐานอาหารไทย สินค้าโอทอป สินค้าแปรรูปทุกชนิด ที่อยู่ในภาชนะบรรจุเสร็จพร้อมปรุงและพร้อมบริโภค ให้เข้าสู่มาตรฐานการผลิตที่ดีขั้นพื้นฐาน หรือ ไพรมารีจีเอ็มพี (PrimaryGMP) เพื่อให้พร้อมก่อนเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ใน พ.ศ.2558 โดยมอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เร่งพัฒนาด้านวิชาการ อบรมผู้ประกอบการทุกจังหวัด ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจคนไทยและอาเซียน ที่จะได้บริโภคสินค้าที่มีคุณภาพและความปลอดภัย ให้ได้โดยเร็วที่สุด ไม่ต้องรอ 3 ปี สินค้าดังกล่าวเมื่อผ่านมาตรฐานจีเอ็มพีแล้ว สามารถส่งจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อต่างๆ และตลาดอาเซียนได้ เป็นการกระตุ้นให้เกิดการสร้างงานและเกิดกระแสเงินหมุนเวียนในประเทศ และการส่งออก คาดว่า จะเพิ่มมูลค่ารายได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท

ทางด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในที่ประชุมวันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้เตรียมข้อมูลเรื่องความพร้อมการเข้าสู่อาเซียนของประเทศไทยในด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีในวันที่ 20 สิงหาคม 2555 ทั้งหมด 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ระบบบริการทางการแพทย์ โดยจะเพิ่มการผลิตแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรองรับการเปิดเสรีอาเซียน ให้ประชาชนไทยและต่างชาติได้รับบริการที่มีคุณภาพ 2.ด้านอาหาร ได้มอบหมายให้ อย.ดูแลโดยได้เตรียมแผนดำเนินการพัฒนาให้สินค้าโอทอปทั้งหมดทุกดาว ให้ได้มาตรฐานการผลิตที่ดีขั้นพื้นฐาน และ 3.การควบคุมโรคติดต่อจะต้องพัฒนาระบบให้ได้มาตรฐานอนามัยระหว่างประเทศ หรือ ไอเอชอาร์ (IHR : International Health Regulation)

ทางด้าน นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการสินค้าโอทอป ประมาณ 20,000 รายทั่วประเทศ เฉลี่ย 200-300 รายต่อจังหวัด อย.ได้มอบอำนาจให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดออกใบอนุญาตประกอบการได้เลยหากระบบการผลิตได้ตามเกณฑ์มาตรฐานจีเอ็มพีขั้นพื้นฐาน เช่น เกณฑ์ความสะอาดสถานที่ ความปลอดภัย คุณภาพวัตถุดิบที่ใช้ ระบบการควบคุมคุณภาพ ขณะนี้ อย.ได้จัดอบรมผู้แทนจังหวัดไปแล้ว 2 รุ่น เพื่อนำไปถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยได้มอบประกาศนียบัตร ให้ผู้ประกอบการที่พัฒนาผ่านเกณฑ์แล้วประมาณ 400 ราย จะดำเนินการส่วนที่เหลือให้ครบโดยเร็วที่สุด

นพ.ไพจิตร์ กล่าวอีกว่า ประเด็นด้านการบริการทางการแพทย์นั้น สิ่งสำคัญคือ ต้องมีบุคลากรสาธารณสุขให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้กระทบกับการบริการของประชาชนคนไทย หากมีการเปิดเสรีดังกล่าว โดยเฉพาะวิชาชีพแพทย์ พยาบาล และทันตแพทย์ ซึ่งสถานการณ์ล่าสุดที่มีการสำรวจความต้องการในปี 2558 นั้น พบว่า สาขาวิชาชีพแพทย์ ณ ขณะนี้มีกำลังผลิตต่อปีอยู่ที่ 2,500 อัตรา ซึ่งในส่วนของภาครัฐยังขาดแคลนอยู่ที่ 10,719 อัตรา ขณะที่ความต้องการสำหรับรองรับอาเซียนอยู่ที่ 1,200 อัตรา รวมแล้วยังขาดแคลนแพทย์อยู่ที่ 11,974 อัตรา ส่วนสาขาวิชาชีพพยาบาล กำลังผลิตอยู่ที่ 10,000 อัตราต่อปี ภาครัฐยังขาดแคลนอยู่ที่ 16,030 อัตรา ความต้องการสำหรับรองรับอาเซียนอยู่ที่ 5,454 อัตรา รวมความขาดแคลนพยาบาลอยู่ที่ 21,628 อัตรา และสาขาวิชาชีพทันตแพทย์ กำลังผลิตอยู่ที่ 800 คนต่อปี ซึ่งภาครัฐยังขาดแคลนอยู่ที่ 2,900 อัตรา ความต้องการสำหรับรองรับอาเซียนอยู่ที่ 345 อัตรา รวมขาดแคลนทันตแพทย์ทั้งหมดอยู่ที่ 3,267 อัตรา
กำลังโหลดความคิดเห็น