“วิทยา” ลงนามประกาศมาตรการคุมอาหารแปรรูปทุกชนิด ขีดเส้นเวลา 3 ปี ปรับปรุงมาตรฐาน ขึ้นทะเบียนขอฉลาก
น.ส.ทิพวรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง วิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาอาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย หรือ จีเอ็มพี ไพรมารี่ (GMP Primary) ว่า ขณะนี้ อย.ได้ส่งเรื่องให้ นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สธ.ลงนามในประกาศแล้ว และส่งลงประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาเพื่อมีผลบังคับใช้ต่อไป โดยจะมีระยะเวลาเพื่อผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการปรับปรุงเป็นเวลา 3 ปี โดยเปลี่ยนชื่อจาก GMP Minus เป็น GMP Primary และภายหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะครอบคลุมอาหารแปรรูปทุกชนิด โดยหมายถึงอาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูป หรือ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะของอาหาร หรือ อาหารที่ผ่านกระบวนการผลิต และบรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่ายต่อผู้บริโภค และอาหารที่ถูกกำหนดไว้จะต้องมีฉลากตามที่กระทรวงกำหนด และมีมาตรฐานในการผลิตตามที่ประกาศกำหนด มีฉลากที่ระบุ วันเดือน ปี ผลิต และหมดอายุอย่างชัดเจน
น.ส.ทิพวรรณ กล่าวว่า อาหารแปรรูปในที่นี่จะหมายรวมถึงอาหารที่ผ่านกระบวนการทุกชนิด เช่น คั่ว หมัก ดอง ทอด โดยเน้นที่อาหารซึ่งบรรจุพร้อมจำหน่าย เช่น สินค้าโอทอป และของฝากทั่วประเทศ อาหารถุง กล่อง ที่ทำคราวละมากๆ พร้อมขาย ซึ่งในระหว่าง 3 ปีนี้ ผู้ผลิตสามารถปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐาน ส่วนผู้ผลิตที่ปรับมาตรฐานการผลิตแล้ว สามารถมาขอขึ้นทะเบียนและทำฉลากได้ทันที ส่วนผู้ผลิตรายใหม่ กฎหมายจะบังคับใช้ทันที โดยหลังจากช่วงระยะเวลาผ่อนปรน 3 ปี อย.จะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามทันที ซึ่งคาดว่า จะมีผู้ประกอบการในข่ายนี้ประมาณ 5-6 หมื่นราย แบ่งเป็นระดับโรงงงาน 100 ราย ผู้ประกอบการระดับกลางหมื่นราย และขนาดเล็ก 3-4 หมื่นราย
สำหรับหลักเกณฑ์ GMP Primary ตามร่างประกาศ สธ.ประกอบด้วย 6 ข้อหลัก ได้แก่ 1.สถานที่ตั้งและอาคารผลิต เช่น ต้องไม่มีฝุ่นควัน มากผิดปกติ และไม่มีน้ำขังแฉะสกปรก 2.เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต ต้องง่ายแก่การทำความสะอาด ทำด้วยวัสดุผิวเรียบ ไม่เป็นสนิม 3.การควบคุมกระบวนการผลิต วัตถุดิบ ส่วนผสมต่างๆ และภาชนะบรรจุ มีการคัดเลือก มีการล้างทำความสะอาดอย่างเหมาะสมในบางประเภทที่จำเป็น มีการเก็บรักษาอย่างเหมาะสม มีการใช้วัตถุเจือปนอาหารตามที่กฎหมายกำหนด การผลิตภัณฑ์ มีการคัดแยก หรือทำลายผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสม มีการเก็บรักษาอย่างเหมาะสมและขนส่งในลักษณะที่ป้องกันการปนเปื้อน และการเสื่อมสลาย 4.การสุขาภิบาล เช่น น้ำที่ใช้ภายในสถานที่ผลิตเป็นน้ำสะอาด มีภาชนะสำหรับใส่ขยะพร้อมฝาปิดและตั้งอยู่ในที่ที่เหมาะสมและเพียงพอ และมีวิธีการกำจัดขยะที่เหมาะสม มีการจัดการการระบายน้ำทิ้งและสิ่งโสโครก และมีมาตรการในการป้องกันและกำจัดมิให้สัตว์หรือแมลงปนเปื้อนในกระบวนการผลิต เป็นต้น 5.การบำรุงรักษาและการทำความสะอาด มีวิธีการหรือมาตรการดูแลทำความสะอาดอาคารผลิตอย่างสม่ำเสมอ 6.บุคลากรและสุขลักษณะผู้ปฏิบัติงาน ผู้ปฏิบัติงานในบริเวณผลิตอาหารไม่มีบาดแผล ไม่เป็นโรค หรือพาหะของโรคตามที่ระบุในกฎกระทรวง แต่งกายสะอาด