มะพร้าวแก้วเชียงคาน
OTOP : GMP Minus...สู่อาเซียน
โดย วรรณภา บูชา
ช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ “เชียงคาน” ถือเป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก เสน่ห์ของเชียงคานหาใช่มีเพียงวิว ทิวทัศน์ บ้านเรือนไม้หลังโตที่สวยงาม บรรยากาศริมโขงที่สงบ สบายเท่านั้น แต่เชียงคานยังมีของดี ของขึ้นชื่อ อย่าง “มะพร้าวแก้ว” แสนอร่อย เป็นตัวชูโรง ชวนเชิญให้ผู้คนจากทั่วสารทิศ แวะเวียนมาลองลิ้มชิมรสชาติอย่างไม่ขาดสาย
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ลงพื้นที่ อ.เชียงคาน จ.เลย เพื่อเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ชุมชนของกลุ่มสตรีและเยาวชนสหกรณ์ผู้ใช้น้ำบ้านน้อย โดยได้แปรรูปมะพร้าวแก้วเส้น มะพร้าวแก้วอ่อน กล้วยสุกทอดกรอบ เผือกทอดเค็ม มันรังนกตราเคียงเลย ฯลฯ ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เป็นผลิตภัณฑ์โอทอป 5 ดาว การันตีความเป็นสุดยอด อีกทั้งได้การรับรองความปลอดภัยจาก อย.อีกด้วย
นางอภิสรา ธรรมาพา ประธานกลุ่มสตรีและเยาวชนสหกรณ์ผู้ใช้น้ำบ้านน้อย บอกว่า นับตั้งแต่ได้รับเครื่องหมายอย. ทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจว่า ผลิตภัณฑ์ของเรามีคุณภาพ ปลอดภัย นอกจากรสชาติอร่อยถูกปากแล้ว ยังโดยมีวัน เดือน ปี แสดงวันผลิตและวันหมดอายุ ไม่ได้ใส่วัตถุกันเสีย หรือสารกันบูด หรือกันเชื้อรา โดยมะพร้าวอ่อนแก้วสามารถเก็บไว้ได้นาน 10 วัน แต่หากเป็นมะพร้าวแก้วแบบเส้นจะเก็บไว้ได้นาน 1 เดือน
นางจริตา อาสารินทร์ อายุ 45ปี หนึ่งในสมาชิกกลุ่มสตรีและเยาวชนสหกรณ์ผู้ใช้น้ำบ้านน้อย บอกเคล็ดลับวิธีการทำมะพร้าวอ่อนแก้ว สินค้าสร้างชื่อของเชียงคาน ว่าขั้นแรกคัดเลือกมะพร้าว ซึ่งสั่งมาจากเพชรบุรี เนื่องจากที่เชียงคานมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยเลือกใช้มะพร้าวอ่อนแล้วนำมาผ่าออกเป็น 2 ซีก จากนั้นใช้ไม้พาย แคะเนื้อมะพร้าวออจากกะลานำเนื้อไปแช่ในน้ำมะพร้าวเพื่อชำระสิ่งสกปรกลอกเปลือกมะพร้าวสีแดงออกให้หมดจนเหลือแต่เนื้อมะพร้าวสีขาว แล้วนำมาตัดเป็นชิ้นๆ และนำไปฝานเป็นแผ่นล้างน้ำเปล่าให้สะอาดอีก 3 น้ำ ต่อจากนั้น นำเนื้อมะพร้าวมาชั่งให้ได้ 7 กิโลกรัมต่อน้ำตาล 3 กิโลกรัม ต้มประมาณ 1 ชม.และเคี่ยวจนแห้ง และสุดท้ายนำมะพร้าวที่เคี่ยวเสร็จแล้วไปเทลงบนโต๊ะสเตนเลสที่เตรียมไว้เพื่อผึ่งให้แห้ง ก็ได้มะพร้าวอ่อนแก้ว สุดแทนอร่อยแล้ว
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) บอกว่า ของฝาก หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์ชุมชน ผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบและภูมิปัญญาไทย ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายควบคุมบังคับให้ต้องขอรับเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) เพื่อประกันคุณภาพของอาหารแปรรูป ลดการปนเปื้อน ขจัดอันตราย เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับอาหารที่ปลอดภัย รวมถึงเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558
ดังนั้น อย.ได้ดำเนินการยกร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรื่อง มาตรฐานอาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย หรือ จีเอ็มพี ไมนัส (GMP Minus) ซึ่งจะเป็นมาตรฐานสำหรับโรงงานผลิตขนาดเล็ก จะครอบคลุมโรงงานที่ผลิตอาหารโอทอป ของฝากหรืออาหารอื่นใดที่บรรจุในภาชนะบรรจุ โดยเกณฑ์การประเมินจะยืดหยุ่นกว่ามาตรฐานจีเอ็มพีที่เป็นมาตรฐานสำหรับโรงงานการผลิตในระบบอุตสาหกรรม ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานการผลิตเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและรองรับประชาคมอาเซียนโดยให้เวลาผู้ค้ารายเก่าปรับตัวก่อนปฏิบัติตามประกาศฯ ภายในเวลา 3 ปี คือในปี 2558 ส่วนผู้ค้ารายใหม่ให้เข้าสู่ระบบทันที
น.ส.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการกองควบคุมอาหาร อธิบายเพิ่มว่า นิยาม ของ “อาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย” หมายความว่า อาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูป เช่น ตัดแต่งในลักษณะที่นำไปปรุงหรือบริโภค คั่ว ทำให้แห้ง หมักดอง เป็นต้น หรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะของอาหาร หรืออาหารที่ผ่านกระบวนการผลิตเรียบร้อยแล้ว และบรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่ายต่อผู้บริโภค แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงอาหารควบคุมเฉพาะ หรืออาหารที่กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน และอาหารที่ต้องมีฉลากที่มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามวิธีการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิตและเก็บรักษาอาหารแล้ว ดังนั้น จึงรวมอาหารทั่วไปทุกประเภทที่ผ่านการแปรรูปที่อยู่ในภาชนะบรรจุพร้อมจำหน่ายต่อผู้บริโภค และอาหารพร้อมปรุงและอาหารสำเร็จรูปพร้อมบริโภคทันทีที่ยังไม่ถูกบังคับ GMP ยกเว้นอาหารที่ผู้ผลิตจำหน่ายโดยตรงต่อผู้บริโภค