xs
xsm
sm
md
lg

“มูหามะสุกรี มะสะหนิง” ลูกทะเล..ผู้อุทิศชีวิตเพื่อท้องทะเล / คอลัมน์ ส่องฅนคุณภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“มูหามะสุกรี มะสะหนิง”
ลูกทะเล..ผู้อุทิศชีวิตเพื่อท้องทะเล

เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ

“เพราะชุมชนประสบปัญหาด้านทรัพยากรชายฝั่งเสื่อมโทรมอย่างหนักในช่วงปี 2534-2535 อันเกิดจากเรือประมงพาณิชย์ใช้อวนรุน และอวนลากในการหาปลาจนเกิดปัญหาการทำประมงชายฝั่ง ส่งผลให้ชาวบ้านเดือดร้อนอย่างหนักซึ่งในเวลานั้นเราใช้วิธีการรุนแรงในการแก้ปัญหาแต่ก็ไม่มีผลดี จนกระทั่งในปี 2536 เริ่มคิดว่าเราควรจะขอความช่วยเหลือจากภาครัฐประกอบกับมีหน่วยงานราชการต้องการยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นมุสลิมและสื่อสารด้วยภาษายาวีเป็นหลัก สื่อสารภาษาไทยได้น้อยจึงเกิดปัญหาในการพูดคุย ผมในฐานะแกนนำชุมชนและเป็นคนเดียวที่พูดภาษาไทยได้ จึงเป็นตัวกลาง ทำหน้าที่ล่าม ประสานระหว่างคนในชุมชนและหน่วยงานภาครัฐ” คำบอกเล่าของ นายมูหามะสุกรี มะสะหนิง ประธานสมาคมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี

นายมูหามะสุกรี เล่าต่อว่า นับแต่อดีตจนปัจจุบันชาวบ้านในหมู่บ้านตันหยงเปาว์ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ดำรงชีพด้วยการทำประมงพื้นบ้าน แต่ผลกระทบเรือประมงพาณิชย์ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนอย่างหนักแม้จะพยายามช่วยกันดูแลทรัพยากรให้ดีขึ้น และได้มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ มาช่วยแก้ไขปัญหา แต่เราก็ตระหนักดีว่ามันยังมีปัญหาบางอย่างที่ภาครัฐยังไม่เข้าใจ โดยเฉพาะเมื่อตนมาทำหน้าที่เป็นล่ามประสานงานรู้ดีว่าในชุมชนมีองค์ความรู้มากพอที่จะนำมาใช้แก้ไขปัญหาได้ แต่เวลาเราเอาสิ่งที่มีไปเสนอทางราชการกลับไม่สามารถต่อรองอะไรกับเขาได้

“วิทยาลัยชุมชน (วชช.) เป็นทางออกที่ดีที่สุดของผมในเวลานั้น และเป็นโอกาสที่จะทำให้ผมและทุกคนเข้าถึงการศึกษาแม้จะกังวลและมีคำถามในใจมากมายว่าจะเรียนตามคนอื่นทันไหม จะเรียนจบหรือเปล่า แล้วความรู้ที่ได้จะเอาไปช่วยเหลือชุมชนได้อย่างที่ต้องการหรือเปล่า แต่เมื่อได้เรียนความกังวลและคำถามที่เกิดขึ้นหมดไปนั่นเพราะความหลากหลายของผู้เรียนที่มีทั้งเด็กที่เพิ่งจบ คนทำงาน บางคนเป็นทหาร เป็นโต๊ะครู เป็นผู้นำตามธรรมชาติ โดยเฉพาะด้านการเรียนการสอนก็มีอาจารย์ผู้สอนที่มีความรู้ประสบการณ์ตรง มีความเชี่ยวชาญทำให้เราได้เรียนรู้สิ่งที่เป็นธรรมชาติมากกว่าเรียนเพียงตำราวิชาการ และนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในชุมชนได้ ที่สำคัญ ทำให้ผมได้ฝึกความกล้าความมั่นใจในการจะสื่อสารต่อคนหมู่มาก” นายมูหามะสุกรี เล่าด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจ

นายมูหามะสุกรี บอกด้วยว่า ตนตั้งใจกับการเรียนมาก และใช้โอกาสนี้นำปัญหาที่เกิดในชุมชนไปขอคำแนะนำจากอาจารย์ และก็นำความรู้ที่ได้ไปแลกเปลี่ยนสู่ชุมชนเวลาไปนั่งร้านน้ำชา ขณะเดียวกัน ตนและชุมชนก็ร่วมมือกับทางมูลนิธิฯ ในการผสมผสานความรู้ที่ได้จากบรรพบุรุษมาพัฒนาต่อยอดศึกษาวิจัยเพื่อฟื้นฟูชายฝั่งที่เสื่อมโทรมจนเกิดเป็นโครงการนำร่องการจัดการและฟื้นฟูชายฝั่งจังหวัดปัตตานี บริหารงานโดยชาวบ้าน และยังสร้างเครือข่ายดึงชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงจากหลายอำเภอ อาทิ อ.หนองจิก อ.ยะหริ่ง และ อ.ปานาเระ มาร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากร และยังได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี ซึ่งตนเป็นประธาน ซึ่งที่นี่เปรียบเสมือนศูนย์กลางที่ชาวปัตตานีมาร่วมกันทำกิจกรรมฟื้นฟูทะเลอย่างจริงจังต่อเนื่อง ภายใต้เงื่อนไขที่ชุมชนร่วมกันกำหนดไม่ใช่ให้ใครมากำหนดให้เรา ที่สำคัญปัญหาการใช้อวนรุนก็ลดจำนวนลงไปมากทำให้ความอุดมสมบูรณ์กลับคืนสู่ท้องทะเล นอกจากนี้ ยังร่วมกับ วชช.ปัตตานี ส่งเสริมการเลี้ยงปูนิ่มเพื่อรายได้อีกทางให้กับชุมชนด้วย

แม้จะสามารถรวมตัวกันในชุมชนได้อย่างเข้มแข็งแต่ นายมูหามะสุกรี ก็ไม่ได้วางเฉยยังเตรียมพร้อมสร้างคนรุ่นใหม่ที่จะมาต่อยอดในสิ่งที่ชุมชนร่วมกันผลักดันมา ว่า “ตอนนี้ผมยังเป็นสมาชิกสภาองค์กรบริหารส่วนตำบล ที่สำคัญ คือ ผมเป็นลูกชาวประมง เหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมภาคภูมิใจดังนั้นทุกวันของผมที่ทำงานตามหน้าที่เหล่านี้แล้ว ผมจะเข้าสมาคมฯ ไปสอนให้ความรู้แก่ชาวบ้าน ดึงเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ สร้างและปลูกฝังจิตสำนึกให้แก่เขารู้จักรักและหวงแหนทรัพยากรที่มี โดยพยายามทำตัวเป็นต้นแบบให้เด็กได้เห็นซึ่งผมก็รู้สึกว่าเขาก็ภูมิใจในตัวเรา ขณะเดียวกัน สมาคมฯก็ได้ตั้งกลุ่มเยาวชนอาเนาะเลาโอะ หรือ กลุ่มลูกทะเล จำนวน 30-40 คนสนับสนุนให้ทุนการศึกษาซึ่งตอนนี้มีหลายคนกำลังเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษา บางคนก็เรียนมัธยม ซึ่งเรามุ่งหวังให้เด็กๆ เหล่านี้กลับมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชนต่อไปในอนาคต”

ทั้งนี้ ความมุ่งมั่นและการอุทิศเวลาเพื่อฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ของ นายมูหามะสุกรี ทำให้ได้รับเลือกเป็น ครูภูมิปัญญาไทย ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รุ่นที่ 3 ประจำปี 2546 จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น