เชียงราย- รมว.สธ.ขึ้นเชียงรายเป็นประธานพิธีเปิดงานหมอพื้นบ้าน หมอชนเผ่าฯ พร้อมรับปากหมอเมือง 17 จังหวัด เหนือช่วยผลักดันเข้าสู่ระบบรับรองสถานะหมอพื้นบ้านเข้าสู่แพทย์แผนไทย หมอเมืองวอนไม่อยากเป็นหมอเถื่อน ทั้งที่ต่างชาติให้การยอมรับแต่คนไทยด้วยกันกลับดูถูก เชื่ออนาคตภูมิปัญญาไทยสูญสิ้นตกอยู่ในมือต่างชาติหมด
วันนี้ (10 ก.พ.) นายวิทยา บูรณศิริ รมว.กระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีเปิดงาน “หมอพื้นบ้าน หมอชนเผ่า วิถีม่ะเก๋าทรงคำของล้านนาไทย” ณ สวนตุงและโคมเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนธนาลัย อ.เมือง จ.เชียงราย โดยมีบรรดาแพทย์พื้นบ้านหรือหมอเมืองจาก 17 จังหวัดภาคเหนือนำภูมิปัญญาไปจัดแสดงครบครัน
นายไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-11 ก.พ.ตามโครงการรวมพลังการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านปี 2555 เพื่อเผยแพร่ภูมิปัญญาไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับมากขึ้น เพราะกรรมวิธีพื้นบ้านหลายอย่างมีคุณภาพเป็นที่ประจักษ์ เช่น กดจุด ขูดพิษ กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต การนวด การรักษาโรคเรื้อรัง การใช้สมุนไพรต่างๆ ฯลฯ
สำหรับกลุ่มการแพทย์พื้นบ้านแขนงต่างๆ จากหลายจังหวัด ได้มีการนำภูมิปัญญาไปจัดแสดงหลากหลาย เช่น ตัวสมุนไพรซึ่งส่วนใหญ่มาจากพืชต่างๆ เทคนิคการรักษาด้วยภูมิปัญญาในโรคต่างๆ การแปรรูปยาสมุนไพรเพื่อจัดให้ผู้ป่วย การจำแนกหมอเมืองที่สืบทอดภูมิปัญญาในการรักษาแขนงต่างๆ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ได้มีกลุ่มผู้เฒ่าผู้แก่ในสภาหมอเมืองล้านนาภาคเหนือ นำโดยนายสมบูรณ์ หล้าพรหม ประธานสภาหมอเมืองล้านนา จ.เชียงราย ได้ยืนถือป้ายเรียกร้องมีเนื้อหาขอให้รัฐบาลผลักดันการรับรองการแพทย์พื้น บ้านเข้าสู่ระบบ เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าเป็นหมอเถื่อนและไม่ให้ภูมิปัญญาสูญหายไป
จากนั้นมีการยื่นหนังสือต่อนายวิทยา หลังพิธีเปิดงาน เพื่อขอให้ผลักดันการ รับรองสถานะของหมอพื้นเมือง โดยมีเนื้อหาว่าเครือข่ายแพทย์พื้นบ้านได้ผลักดันสถานะของการแพทย์พื้นบ้าน มาตามลำดับ จึงขอให้ผลักดันด้วยการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนถึงองค์กรปกครองส่วนท้อง ถิ่นรับรองสถานะของหมอพื้นบ้านและจัดตั้งสภาการแพทย์พื้นบ้านในระดับตำบลและ จังหวัดขึ้น กำหนดและจัดทำแผนพัฒนาการแพทย์พื้นบ้านในแผนแม่บทของท้องถิ่น จัดสรรงบประมาณประจำปี พัฒนาแพทย์พื้นบ้านเพื่อให้ประชาชนดูแลกันเองในชุมชนได้ และพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ โดยส่วนหนึ่งอยู่บนพื้นฐานการใช้ความรู้ด้าน การแพทย์พื้นบ้าน
รวมทั้งเรียกร้องให้กองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยจัดสรรงบประมาณอย่างน้อย ปีละ 10 ล้านต่อจังหวัด เพื่อนำไปพัฒนาองค์ความรู้ดังกล่าว โดยให้ จ.เชียงราย เป็นจังหวัดนำร่องในการพัฒนาเป็นศูนย์กลางการแพทย์พื้นบ้านด้วย
ด้าน นายวิทยา กล่าวว่า การแพทย์พื้นบ้านของไทย ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก โดยมีตัวอย่างกรณีการรักษาโรคมะเร็งซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนไทย พบว่า ในขณะที่ยังไม่มียารักษาที่ได้ผลกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ส่งเสริมให้มี การวิจัยด้านสมุนไพรไทยและต่างประเทศ เพื่อนำมาเพาะปลูกรักษาผู้ป่วย
ปัจจุบันสถาบันการแพทย์ไทย-จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ร่วมกับ 12 หน่วยงาน เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ฯลฯ ศึกษาวิจัยเห็ดหลินจือครบวงจรพบว่ามีฤทธิ์ฆ่าเซลมะเร็งเต้านมได้ จึงมีการนำมารักษาผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายแล้ว 2 กลุ่มคือมะเร็งรังไข่และมะเร็งทั่วไปกลุ่มละ 60 คน ผลการทดลองคืบหน้ากว่า 50% โดยพบว่า ยับยั้งการลุกลามของเซลล์มะเร็งได้ คาดว่าจะสรุปผลได้กลางปีนี้
นายวิทยา กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องการรับรองสถานะของหมอพื้นบ้านนั้น ตนยืนยันว่า จะเข้าไปดูแลให้อย่างดี โดยหลังจากนี้จะไปติดตามความคืบหน้าการดำเนินการที่ผ่านมา เบื้องต้นทราบว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องก็กำลังจะมีการประกาศบังคับใช้อยู่แล้ว ซึ่งครอบคลุมทั้งเรื่องการรับรองด้านการรักษา ตัวยา การบำบัด หรือแม้แต่การกำหนดเรื่องหลักสูตรทางวิชาการต่างๆ สำหรับการจะนำไปสู่การเบิกจ่ายได้อย่างชัดเจนนั้น ก็จะอาศัยเวทีทางวิชาการในครั้งนี้ เพื่อหารือในรายละเอียดและหาคำตอบกันต่อไป
ด้าน นายสมบูรณ์ หล้าพรหม ประธานสภาหมอเมืองล้านนา จ.เชียงราย กล่าวว่า ชาวหมอเมืองภาคเหนือสืบทอดภูมิปัญญาการจัดหาสมุนไพร แปรรูป ดูแลรักษาผู้ป่วย ฯลฯ มาตั้งแต่บรรพบุรุษซึ่งที่ผ่านมาก็จะเห็นได้ว่าไม่ได้ส่งผลร้ายใดๆ ต่อสุขภาพเพราะจะอิงกับธรรมชาติเป็นหลัก
ที่ผ่านมา ภูมิปัญญามีการแตกแขนงออกไปมากมาย แต่ปรากฏว่า ประเทศไทยกลับยัง ไม่มีการรับรองสถานะอย่างเป็นทางการ ทำให้บรรดาหมอเมืองถูกมองว่าเป็นหมอเถื่อนไปเสีย ขณะที่ต่างประเทศกลับนำไปจดทะเบียนรับรอง เช่น เปล้าน้อย ฤๅษีดัดตน ฯลฯ แต่ในประเทศไทยกลับถูกดูถูก พวกตนจึงเกรงว่าหาไม่มีการรับรองสถานะอย่างเป็นทางการก็จะทำให้ภูมิปัญญา เหล่านี้นอกจากจะสูญหายแล้วยังถูกดูดกลืนไม่ได้เป็นสมบัติของชาติไปเสีย ดังนั้น จึงได้เรียกร้องให้รัฐบาลได้ผลักดันในเรื่องนี้อย่างจริงจังด้วย