xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสวนยางพารากว่า 500 ร้องผู้ว่าฯ ตราดแก้ไขปัญหาราคาตกต่ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตราด - กลุ่มการเกษตรชาวสวนยางจังหวัดตราด กว่า 500 คน ยื่น 4 ข้อเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตราดแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ ผวจ.แนะเกษตรกรปรับพฤติกรรมทำยางแผ่นคุณภาพ เลิกขายขี้ยาง

วันนี้ (20 ส.ค.) ที่บริเวณหน้าศาลา 100 ปี ศาลากลางจังหวัดตราด นายวิพุธ เจริญพืช นายจิรเดช วงษ์สมุทร ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราจังหวัดตราด พร้อมสมาชิกเกษตรกรกว่า 500 คน เดินทางมายื่นหนังสือเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด แก้ปัญหายาคายางตกต่ำให้แก่เกษตรกร

โดยก่อนหน้านี้ ได้เปิดเวทีปราศรัยอ้างถึงราคายางพาราที่ตกต่ำเหลือ 65-70 บาท/กก. กรณียางแผ่นรมควันชั้น 3 ขณะที่ขี้ยาง (ยางถ้วย) มีราคา 30-35 บาท/กก. เมื่อหักกับคนงานแล้วทำให้มีรายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย สร้างความเดือดร้อนให้กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราเป็นอย่างมาก

น.ส.เบญจวรรณ อ่านเปรื่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด พร้อมด้วย นายประกอบ มังกร ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดตราด ได้เดินทางมารับข้อสเนอของกลุ่มเกษตรกรกร พร้อมจะนำหนังสือมอบให้แก่นายกรัฐมนตรีเพื่อแก้ปัญหา ส่วนทางจังหวัดต้องการเห็นเกษตรกรหันมาผลิตยางแผ่นที่มีคุณภาพมากกว่าการหันไปผลิตขี้ยาง หรือยางถ้วยขาย เพราะจะได้ราคาสูงถึง 100-120 บาท/ก.ก. เมื่อทำถึงหลักเกณฑ์

อีกทั้งในขณะนี้ ได้ประกาศให้สหกรณ์การเกษตรที่มีความพร้อมให้มารับซื้อยางแผ่นจากกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งอยู่ระหว่างการคัดเลือกสหกรณ์ฯ ซึ่งทางเกษตรกรควรหันไปผลิตยางแผ่นจะดีกว่า นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์รับซื้อยางแผ่นคุณภาพเช่นกัน จึงน่าจะเป็นทางออก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้อนุมัติเงินมาให้ 15,000 ล้านบาท เป็นทุนให้สหกรณ์การเกษตรฯ รับซื้อในราคาประกันคือ 100-120 บาท/กก. แต่เกษตรกรเองต้องปรับเปลี่ยนพฤติรกรมด้วย

ขณะที่นายประกอบ มังกร ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดตราด กล่าวว่า ขณะนี้ กสย. ตราดได้คัดเลือกสหกรณ์การเกษตรฯ จำนวน 6 แห่งเพื่อเป็นศูนย์รับซื้อยางแผ่นของเกษตรกร และจะเปิดการรับซื้อในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ ปัจจุบันเกษตรกรกว่า 60% ของตราด หันไปผลิตยางถ้วยขายมากกว่าทำยางแผ่นที่มีคุณภาพ ทำให้ได้ราคาต่ำ อย่างไรก็ตาม หากยางแผ่นมีราคาสูงขึ้นยางถ้วยก็มีราคาสูงขึ้นด้วย

ด้านตัวแทนที่มายื่นข้อเรียกร้องพอใจที่ผู้ว่าราชการได้มารับทราบปัญหาของเกษตรกรชาวสวนยางด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทางจังหวัดตราดต้องการให้เกษตรกรหันมาทำยางแผ่นที่มีคุณภาพนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เนื่องจากเกษตรกรมีความจำเป็นในเรื่องค่าใช้จ่าย การทำยางถ้วยขาย 2-3 วันก็จะขายได้แล้ว

แต่หากทำยางแผ่นต้องใช้เวลานานนับ 10 วัน และยังมีความกังวลเรื่องคุณภาพ รวมทั้งค่าความชื้นที่จะทำให้ราคายางแผ่นไม่เป็นไปตามราคาที่รัฐบาลกำหนด อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มพร้อมรอคำตอบภายใน 30 วัน หากยังไม่มีการดำเนินการจะเดินทางมาพบผู้ว่าราชการจังหวัดตราดอีกครั้งหนึ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น