xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสวนลำไยเชียงรายโวยค่าแรง-น้ำมันแพง พ่อค้ารุมกดราคา-นัดขนคนเข้ากรุงร้อง “ปู”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - เกษตรกรชาวสวนลำไยเชียงรายฮือชุมนุมประท้วง โวยถูกพ่อค้าคนกลางรวมหัวกดราคารับซื้อต่ำติดดิน แต่เจ้าของสวนต้องจ้างแรงงานแพงสุดกู่ ชาย 300-หญิง 200 บาท/วัน หรือแพกคู่ 500 บาท/วัน แถมน้ำมันพุ่งสูง จี้รัฐตั้งเพดานราคา AA ที่ 20 บาท/กก. ขีดเส้นให้จังหวัดแก้ไขใน 2 วัน พร้อมเตรียมขนคน 1 รถบัสเข้ากรุงร้อง “นายกฯ ปู”

วันนี้ (23 ก.ค.) กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกลำไยในพื้นที่ 20 หมู่บ้านของ ต.ห้วยสัก ประมาณ 300 คน ได้ไปรวมตัวกันที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ห้วยสัก อ.เมืองเชียงราย เพื่อชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือกรณีราคาผลผลิตลำไยในปีนี้ตกต่ำอย่างหนัก ต่อมานายวีรเดช สมวรรณ นายอำเภอเมืองเชียงราย ได้เจรจากับชาวบ้าน พร้อมแนะนำให้กลุ่มผู้ชุมนุมนำโดยนายสมิง ปินใจ กำนันตำบลห้วยสัก นายวัชรพงศ์ ปิโย รองนายก อบต.ห้วยสัก นำแกนนำประมาณ 30 คนเดินทางไปประชุมหารือที่ศาลากลางจังหวัดเชียงราย

ต่อมานายสมิงจึงพาแกนนำเดินทางไปประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ห้องประชุมของศาลากลางจังหวัดฯ โดยมีนายสุรชัย ลิ้นทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย รับเรื่อง พร้อมมีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมแก้ไขปัญหาให้ เช่น นายเฉลิมพล พงศ์ฉบับนภา พาณิชย์จังหวัดเชียงราย, นายสุเทพ ทิพย์รัตน์ เกษตรกรจังหวัดเชียงราย ฯลฯ

นายสมิงได้เป็นตัวแทนยื่นหนังสือให้ทางจังหวัดมีเนื้อหาว่า เกษตรกรในพื้นที่ปลูกลำไย 6,538 ไร่ ผลผลิตกว่า 3,000 ตัน ปัจจุบันเก็บเกี่ยวแล้วประมาณ 30% แต่ราคาตกต่ำ พ่อค้าที่รับซื้ออ้างว่าจุดรับซื้อเต็ม หรือเตาอบเต็ม หรือขาดเงินหมุน แต่ก็ยังรับซื้อในราคาถูกอยู่ จึงขอให้ภาครัฐแก้ไขปัญหาด้วยการหาพ่อค้าไปรับซื้อลำไยเกรด AA ขั้นต่ำกิโลกรัมละ 20 บาทขึ้นไป เกรด A กิโลกรัมละ 18 บาท และเกรด B กิโลกรัมละ 10 บาท โดยจะให้เวลาจังหวัด 2 วัน

แกนนำยังระบุด้วยวาจาอีกว่า หากพ้นกำหนดเกรงว่ากลุ่มเกษตรกรจะออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง

นายสมิงกล่าวว่า ปีนี้ผลผลิตติดดอกออกช่อมากกว่าทุกปี จึงทำให้มีผลผลิตออกมามาก แต่ปัญหาคือช่วงต้นฤดูราคาพุ่งสูง โดยเกรด AA กิโลกรัมละประมาณ 24 บาท แต่ท้ายฤดูเก็บเกี่ยวคือเดือน ก.ค.จะย่างเข้า ส.ค. 55 นี้ราคากลับตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันเหลือเพียงกิโลกรัมละประมาณ 15 บาท และยังผกผันไม่คงที่ โดยพ่อค้าที่รับซื้อจะรับซื้อขึ้นลงวันละกว่า 3-4 ครั้ง ทำให้เกษตรกรเดือดร้อนอย่างหนัก จึงอยากให้กำหนดราคาขั้นต่ำเกรด AA กิโลกรัมละ 20 บาท

ด้านนายวัชรพงศ์กล่าวว่า ในพื้นที่มีพ่อค้าไปตั้งจุดรับซื้อประมาณ 19 ราย แต่ว่าเหมือนกันหมดคือกดราคาต่ำและขึ้นลงไม่แน่นอน วันละหลายครั้งด้วย และส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ปิดราคารับซื้อหรือรับซื้อไม่ตรงกับราคาที่ปิดเอาไว้ ซึ่งสร้างความเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะเกษตรกรต้องรับภาระค่าแรงงานขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันแรงงานชายต้องจ้างวันละ 300 บาท หญิง 200 บาทหรือคู่ละ 500 บาท ปุ๋ยแพง ค่าขนส่งแพง ฯลฯ จึงขอให้ช่วยเหลือด่วน เพราะเป็นปลายฤดูแต่กลับมีผลผลิตเหลืออยู่กว่า 70% หากไม่ช่วยก็จะเสียหาย เพราะลำไยเก็บได้แค่ 1-2 เดือน หรือถึงแค่สิงหาคมนี้ ไม่เช่นนั้นก็จะเสียหายไม่เหมือนสินค้าคงทนอื่นๆ

นายวัชรพงศ์กล่าวอีกว่า นอกจากจะยื่นหนังสือที่จังหวัดแล้ว จะนำเกษตรกรไปทำเนียบรัฐบาลด้วยรถบัส 1 คัน เพื่อไปร้องต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ช่วยเหลือด้วย โดยจะเสนอเพิ่มเติมจากที่เสนอให้จังหวัด คือขอให้สร้างจุดรับซื้อลำไยในพื้นที่ 100 ไร่ซึ่งจะสร้างเป็นศูนย์ราชการของตำบลพื้นที่ ม.4 ม.22 และ ม.30 โดยอาจจะออกมาในรูปเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และให้พ่อค้าโดยเฉพาะชาวจีนไปรับซื้อโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางอีกต่อไป

ต่อมานายเฉลิมพลได้ชี้แจงต่อชาวบ้านว่า ปัจจุบันรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรตามนโยบายกระจายผลผลิตไปยังนอกพื้นที่ ด้วยการชดเชยให้ผู้ขนกิโลกรัมละ 2.50 บาท แต่ราคาลำไยก็คำนวณตามค่าเศรษฐกิจเกษตร คือกิโลกรัมละ 10.19 บาท และเพิ่มค่ากำไรให้อีก 30% แต่ต้องเป็นผลผลิตเกรด A ขึ้นไปและสดช่อไม่ใช่ร่วง ดังนั้นราคาก็จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 13.24 บาทขึ้นไป ส่วนอีกมาตรการคือ ให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการแปรรูปก็จะเพิ่มให้อีก 3% ดังนั้นกรณีเกษตรกรขอให้มีการรับซื้อถึง 18-20 บาท จึงเกินกว่าค่าเศรษฐกิจเกษตร จึงต้องนำปัญหาเสนอหน่วยเหนือต่อไป

รายงานข่าวแจ้งอีกว่าต่อมานายสุรชัยได้สรุปการหารือโดยมอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดและเกษตรกรจังหวัดไปประสานภาคเอกชนทั้ง 19 ราย และเอกชนจากนอกพื้นที่ เพื่อไปรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในราคาที่เรียกร้อง แต่ไม่รับปากว่าจะได้ตามนั้นหรือไม่ โดยกำหนดประชุมกันในวันพรุ่งนี้ (24 ก.ค.) ซึ่งกลุ่มตัวแทนเกษตรกรก็รับจะไปแจ้งเกษตรกรตามนั้น แต่ไม่ประกันเรื่องการออกมาเคลื่อนไหวในอนาคตหากไม่ได้รับคำตอบที่พอใจเช่นกัน

ขณะที่บางส่วนยังคงสงสัยเรื่องค่าเศรษฐกิจเกษตรที่คำนวณราคาต้นทุนลำไยไว้ที่กิโลกรัมละ 10.19 บาท เพราะพวกเขาเห็นว่าจะสามารถอยู่ได้ก็ต้องเป็นไปตามราคาที่เสนอ ก่อนจะสลายตัวไปรอมาตรการแก้ไขดังกล่าวต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น