xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นงบ 1.5 หมื่นล้านอุ้มราคายางไม่ถึงมือเกษตรกร แกนนำเมืองคอนเตรียมหารือใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นครศรีธรรมราช - ชาวสวนยางพารายังไม่ปลื้มราคายางที่มีการช่วยเหลือ กก.ละ 100 บาท โดยใช้งบประมาณ 1.5 หมื่นล้าน ของ “เสี่ยเต้น-ณัฐวุฒิ” หวั่นไม่โปร่งใส ผลประโยชน์ไม่ถึงมือเกษตรกร และท้ายที่สุด มีการทุจริต ขณะที่ธุรกิจกล้าพันธุ์ยางพาราราคาดิ่ง เนื่องจากผลกระทบจากยางพาราราคาตกต่ำ ส่วนแกนนำชาวสวนยางนครศรีธรรมราชชุดใหม่ เตรียมหารือข้อสรุปในวันพรุ่งนี้

วันนี้ (18 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์ราคายางพาราตกต่ำ ผลพวงที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบต่อธุรกิจจำหน่ายกล้าพันธ์ยางพาราอย่างต่อเนื่อง หลายรายต้องหยุดกิจการ เนื่องจากยางที่เพาะกล้าพันธุ์ไว้จำหน่ายออกไปได้น้อยมาก ส่วนผู้ประกอบการที่มีชื่อเสียงและเกษตรกรให้ความเชื่อมั่น ยังต้องผลิตกล้าพันธ์ยางต่อไป เนื่องจากวงจรในการผลิตนั้นต้องใช้ระยะเวลากว่า 2-3 เดือน จึงจะจำหน่ายออกไปให้เกษตรกรปลูกในแปลงได้ และเกษตรกรยังคงสนใจซื้อ แต่ปริมาณลดลงไปกว่าช่วงที่ยางราคาดีกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

นางบุญให้ ผลเกลี้ยง เจ้าของผลึกพันธุ์ยาง ในฐานะผู้ประกอบการเพาะพันธ์กล้ายางพาราจำหน่ายให้แก่เกษตรกรที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เปิดเผยว่า กล้ายางที่ผลิตออกให้เกษตรกรปลูกในแปลงนั้นมี 2 แบบ คือ ยางชำถุง ช่วงยางราคาแพงเกือบ 200 บาทต่อกิโลกรัม ยางชำถุงมีราคาสูงถึง 50-60 บาทต่อต้น ปัจจุบันเหลือต้นละ 30-35 บาท อีกแบบคือ ยางตาเขียวเดิมอยู่ที่ 27-30 บาท ช่วงนี้เหลือแค่ 10 บาทเท่านั้น

“ช่วงนี้การสั่งซื้อจากภาคอีสาน ภาคเหนือไม่มีเข้ามาเลย จากเดิมมีออเดอร์สูงมาก ปีที่แล้วสามารถจำหน่ายออกได้ไปนับล้านต้น แต่ปีนี้ไม่มีเลย จำหน่ายออกไปได้แค่ในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากการบอกต่อของเกษตรกร ยอดจำหน่ายออกเหลือเพียงแค่ไม่กี่หมื่นต้นเท่านั้น รายได้หายไปกว่า 30-40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายจ่ายในเรื่องค่าแรงที่สูงถึงวันละ 300 บาทต่อคน ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่สูงขึ้นเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” เจ้าของกิจการกล้าพันธุ์ยางรายนี้กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานหลังจากที่มติ ครม.ให้มีการปรับราคายางพารา โดยกำหนดให้ราคายางพาราแผ่นดิบชั้น 3 อยู่ที่ 100 บาทต่อกิโลกรัม ยางแผ่นรมควันอยู่ที่ 104 บาทต่อกิโลกรัม โดยใช้งบประมาณอีก 1.5 หมื่นล้านบาทเพื่อการนี้ โดยหลังจากที่ผลการประชุม ครม.เกี่ยวกับเรื่องยางพารานี้สะพัดออกไปในวงการชาวสวนยางพารา กลับกลายเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องถึงการใช้จ่ายงบประมาณในการนี้ว่า จะทำอย่างไร ใช้วิธีการไหน ซึ่งท้ายที่สุด ต่างเชื่อว่าผลประโยชน์จากงบประมาณที่จะเข้ามาแทรกแซงซื้อยางพาราโดยรัฐบาลจะตกอยู่เพียงกลุ่มพ่อค้า และนายทุนเช่นเดิม ส่วนเกษตรกรรายย่อยยังคงไม่สามารถเข้าถึงมาตรการเหล่านี้ได้ตามคาดหวัง

นางสุจิตรา ดวงยิหวา กรรมการสหกรณ์กองทุนสวนยางยูงทอง จำกัด อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ราคายางที่ประกาศออกมานั้น ยอมรับว่าไม่น่าเชื่อถือรัฐบาลนี้ และไม่มั่นใจว่าราคาจะเป็นไปตามนั้น ขณะนี้ ราคายางในการรับซื้อจริงๆ จากเกษตรกรอยู่ที่ประมาณ 80 บาทเศษเท่านั้นเอง

“ราคาที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ 120-130 บาท เวลานี้สินค้าทุกอย่างแพงขึ้นทั้งนั้น ต้นทุนในการทำยางพาราสูงขึ้นทุกตัว สินค้าค่าครองชีพสูงขึ้นทุกอย่าง อยากให้รัฐบาลดูแลชาวสวนยางให้มากกว่านี้ เพราะยางพาราคือหัวใจที่สำคัญของเศรษฐกิจประเทศไทย” นางสุจิตรากล่าว

ขณะที่นายวิรัตน์ เหมทานนท์ นายก อบต.ปริก อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช แกนนำชาวสวนยางพาราชุดใหม่ เปิดเผยว่า ช่วงบ่ายของวันพรุ่งนี้ (19 ก.ค.) จะมีการนัดหารือกับแกนนำชุดใหม่ที่จะร่วมกันเคลื่อนไหวว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร ซึ่งจะมีข้อสรุปออกมาอย่างแน่นอน

ส่วนนายสมยศ รักษาวงศ์ นายกสมาคมชาวสวนยางพารานครศรีธรรมราช แกนนำในการเคลื่อนไหวเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ยอมรับว่า การประกาศราคาเช่นนี้ของรัฐบาลนั้นอาจไม่เป็นที่พอใจทั้งหมด เขาใช้คำว่าราคาขั้นต่ำที่ 100 บาท แต่ที่ได้ขอไปนั้นคือ 120 บาท ซึ่งอาจต้องให้โอกาสในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลว่าจะเป็นอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น