xs
xsm
sm
md
lg

“ปลัด ก.ศึกษาฯ” ลงโคราชสั่งแจ้งจับ ร.ร.กวดวิชาเถื่อนไฟไหม้-เอกซเรย์ทั่วประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.ศศิธารา  พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางมาติดตามการช่วยเหลือนักเรียนได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงเรียนกวดวิชาครูแจ๋ว และมอบนโยบายการแก้ปัญหาโรงเรียนเอกชนเถื่อน ที่ สพป.นครราชสีมา เขต 1 อ.เมือง จ.นครราชสีมา วันนี้ ( 26 มิ.ย.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- “ปลัด ก.ศึกษาฯ” ลงพื้นที่โคราชสั่งล้อมคอกไม่ให้ซ้ำรอย ร.ร.กวดวิชาเถื่อนไฟไหม้ งัดมาตรการแก้ปัญหาโรงเรียนเอกชนเถื่อนโดยให้เอกชนควบคุมกันเอง เอกซเรย์ทุกเขต สพป.โคราชและทั่วประเทศ พร้อมให้แจ้งดำเนินคดี “ร.ร.กวดวิชาครูแจ๋ว” เปิดสอนไม่ได้รับอนุญาต โทษจำคุก 1 ปี ส่วนการเอาผิดวินัย “ครูแจ๋ว” ให้ต้นสังกัดไปดูว่าผิดระเบียบใด อ้างจัดการปัญหาโรงเรียนกวดวิชาเถื่อนไม่ช้าเกินไป

วันนี้ (26 มิ.ย.) เมื่อเวลา 15.30 น.ที่ห้องประชุมชั้น 1 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 1 (สพป.นม.เขต 1) ถ.เพชรมาตุคลา ต.หัวทะเล อ.เมือง จ.นครราชสีมา ดร.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมคณะเดินทางมาติดตามการช่วยเหลือนักเรียนที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงเรียนกวดวิชา “ครูแจ๋ว” อ.เมือง จ.นครราชสีมา และหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาโรงเรียนเอกชนที่เปิดทำการโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมมอบนโยบายการดำเนินการ โดยมีนายพรหมินทร์ ศรีหมื่นไว รองผู้อำนวยการ สพป.นม.เขต 1, คณะกรรมการสมาคมโรงเรียนเอกชนจังหวัดนครราชสีมา และผู้บริหาร สพป.นครราชสีมา อีก 6 เขตของ จ.นครราชสีมาเข้าร่วมประชุม

ดร.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า กรณีเหตุเพลิงไหม้โรงเรียนกวดวิชาครูแจ๋ว จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา คาดว่าเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรเนื่องจากมีการใช้กระแสไฟฟ้าจากปลั๊กร่วมเดียวกันเป็นจำนวนมาก จึงเกิดไฟฟ้าลัดวงจรขึ้น และโรงเรียนกวดวิชาดังกล่าวเปิดให้บริการโดยไม่ขออนุญาตจึงทำให้มีเด็กนักเรียนบาดเจ็บ 25 คน ต้องนอนพักรักษาอยู่โรงพยาบาล 22 คน ซึ่งทั้งหมดอาการดีขึ้นและกลับไปพักฟื้นที่บ้านหมดแล้ว

วันนี้ที่ประชุมมีมติร่วมกันในการแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นอีก รวม 4 เรื่องหลัก คือ 1. ภาคเอกชนยังไม่มีความรู้เรื่องการเปิดโรงเรียนกวดวิชา จึงให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนโดยสมาคมโรงเรียนเอกชนของจังหวัดนครราชสีมาประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกทราบ โดยทางกระทรวงฯ จะสนับสนุนงบประมาณในการจัดการสัมมนา และให้เชิญโรงเรียนเอกชนทั้งหมดมาหารือและทำความเข้าใจว่าการจะเปิดโรงเรียนสอนนักเรียน แม้แต่การติววิชาอะไรก็แล้วแต่ แม้กระทั่งสอนขับรถ ถ้าเกิน 7 คนจะต้องขออนุญาต และมีวิธีการขออย่างไร สถานที่ที่จะใช้เรียนควรจะเป็นอย่างไร จะบอกให้ทราบทั้งหมด

“จึงต้องขอความร่วมมือทางภาคเอกชนให้รวมกลุ่มกัน และควบคุมกันเอง หากใครที่นิยมประกอบธุรกิจได้เงินอย่างเดียวแล้วทำให้ลูกหลานเป็นอันตราย อยากให้ภาคเอกชนด้วยกันต่อต้านอย่าให้เข้าร่วมกลุ่ม และเชื่อว่าทุกคนที่ทำกิจการประเภทนี้ล้วนมาจากครอบครัวของครูทั้งนั้น ซึ่งภาคเอกชนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี คาดว่าจะมีการจัดประชุมผู้ประกอบการโรงเรียนเอกชนในสัปดาห์หน้า” ดร.ศศิธารากล่าว

ดร.ศศิธารากล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องที่ 2 คือ ได้มอบหมายให้ สพป.ทั้ง 7 เขตของ จ.นครราชสีมา ร่วมกับสถานศึกษาเอกชน, สำนักบริหารยุทธศาสตร์, ศูนย์เสมารักษ์ของกระทรวงศึกษาธิการ และการศึกษานอกโรงเรียน ทำการเอกซเรย์พื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดว่ามีโรงเรียนหรือหน่วยไหนไปเปิดโรงเรียนสอนหนังสือหรือสอนวิชา สอนขับรถ โดยไม่ถูกต้องและยังไม่ได้จดทะเบียน ก็ชวนให้มาจดทะเบียน โดยแบ่งเป็น 5 ระดับ ซึ่งระดับที่ 5 คือผิดทุกอย่างทั้งไม่มีใบอนุญาต, อาคารไม่ถูกต้อง นักเรียนมากเกินไป ปลั๊กไฟอันเดียวใช้มากเกินไป เบื้องต้นจะมีการตักเตือน หากไม่ดำเนินการครั้งต่อไปจะแจ้งให้ตำรวจเข้ามาจับกุม เรื่องนี้อยากฝากไปถึงผู้ประกอบการว่าต้องคิดถึงลูกหลานของเราให้มาก โดยจะมีเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจดูและคอยแนะนำท่าน

เรื่องที่ 3 เราคงไม่ทำเฉพาะที่ จ.นครราชสีมาจังหวัดเดียว แต่ทางกระทรวงฯ จะให้ผู้ตรวจราชการทุกเขตทั้ง 12 เขตทั่วประเทศร่วมกับหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการเอกซเรย์ทุกจังหวัดในประเทศไทย และใช้รูปแบบเดียวกับที่ จ.นครราชสีมา โดยให้ที่นี่นำร่องเป็นจังหวัดแรกของประเทศ

ดร.ศศิธารากล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องที่ 4 ในส่วนของโรงเรียนกวดวิชา “ครูแจ๋ว” ที่เกิดเหตุไฟไหม้ขึ้นนั้น ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการจะมีการแจ้งความดำเนินคดี โดย สพป.นครราชสีมา เขต 1 จะเดินทางเข้าแจ้งความในวันนี้ เนื่องจากเปิดโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับ 20,000 บาท หรือจำคุก 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะนี้โรงเรียนปิดไปแล้วและจะไม่อนุญาตให้เปิดจนกว่าจะปรับปรุงให้เรียบร้อยและถูกต้องตาม พ.ร.บ.การศึกษาเอกชน

อย่างไรก็ดี ต้องขอขอบคุณโรงเรียนกวดวิชาครูแจ๋วที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีและดูแลเด็กนักเรียนที่ได้รับบาดเจ็บในเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ จึงไม่อยากให้มองในแง่ลบ ซึ่งเขาอาจไม่รู้ก็ได้ และมันเป็นอุบัติเหตุ ถือเป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับพวกเราทุกคน และทราบว่าผู้ปกครองก็ไม่ได้ติดใจเอาความแต่อย่างใด

ต่อข้อถามที่ว่า จะมีการดำเนินการทางวินัยต่อ “ครูแจ๋ว” หรือ นางพนัชกร สิงห์เจริญกิจ เจ้าของโรงเรียนกวดวิชาครูแจ๋ว ซึ่งเป็นข้าราชการครูประจำที่โรงเรียนเมืองนครราชสีมาหรือไม่ ดร.ศศิธารากล่าวว่า ในภาพรวมแล้วคนที่สอนกวดวิชา หรือสอนหนังสือเป็นอาชีพอื่นไม่ได้นอกจากครอบครัวครู เพราะฉะนั้นต้องดูว่าถ้าเขาทำแล้วผิดวินัยข้อใดก็ต้องว่าไปตามเรื่องวินัย แต่ยังคิดไปในทางที่ดีว่า บางคนไม่รู้ระเบียบซึ่งอาจเพราะเราอ่อนประชาสัมพันธ์ไปก็เป็นได้ ซึ่งได้เน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กระทรวงศึกษาธิการเข้ามาดำเนินการช้าหรือไม่ เพราะโรงเรียนกวดวิชาดังกล่าวซึ่งไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องได้ทำการเปิดการเรียนการสอนและติดป้ายหน้าโรงเรียนใหญ่โตมานานกว่า 7 ปีก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ขึ้น ดร.ศศิธารากล่าวว่า เช่นเดียวกับเรื่องตึกถล่ม เพราะเกิดการถล่มแล้วเราจึงมาดูว่าเสาตรงกลางมันตัดไม่ได้ จากนั้นเราก็มาออกระเบียบ กรณีน้ำท่วมก็เหมือนกันท่วมก่อนถึงจะมาขุดคลองกัน และต้องขอบคุณครูแจ๋วที่ทำให้เราตื่นตัว ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงฯ ไม่ได้ช้า หลังเกิดเหตุเราก็ดำเนินการทันที โดยเฉพาะการช่วยเหลือเด็ก ซึ่งทุกคนปลอดภัยแล้ว

ดร.ศศิธารา  พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ


กำลังโหลดความคิดเห็น