ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - เทศบาลนครโคราชเข้าตรวจอาคาร ร.ร.กวดวิชาเถื่อน “ครูแจ๋ว” ไฟไหม้ พบใช้อาคารผิดประเภทและดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุก 3 เดือน พร้อมสั่งปิดอาคาร 30 วันให้ซ่อมแซมปรับปรุงได้มาตรฐาน ด้านลูกชายเจ้าของโรงเรียนกวดวิชาเถื่อนโอดครอบครัวเครียด โวยสื่อเสนอเกินจริง อ้างเคยขออนุญาตแต่ไม่ผ่าน ด้าน “รอง ผอ.สพป.นม.เขต 1” สวนกลับไม่เคยยื่นขออนุญาต แค่มารับแบบฟอร์มไปแล้วหายจ้อย สั่งต้นสังกัดฟันวินัย “ครูแจ๋ว” ขณะปลัด ก.ศึกษาฯ รุดลงพื้นที่ตรวจสอบ
วันนี้ (26 มิ.ย.) เมื่อเวลา 10.30 น. นายวราเศรษฐ์ พฤฒิศาสตร์ นักบริหารงานช่าง 8 ผู้อำนวยการส่วนควบคุมอาคารและผังเมือง เทศบาลนครนครราชสีมา พร้อมด้วย พ.ต.ท.อนันต์ พิมพ์เจริญ รองผู้กำกับการ (รอง ผกก.) สืบสวนสอบสวน สภ.เมืองนครราชสีมา ได้เข้าตรวจสอบอาคารพาณิชย์ 2 คูหา ขนาด 4 ชั้น ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงเรียนกวดวิชา “ครูแจ๋ว” เลขที่ 99/110 ถ.มนัส ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา ที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในอาคาร เป็นเหตุให้เด็กนักเรียนต้องหนีตายได้รับบาดเจ็บสำลักควันถูกนำส่งโรงพยาบาล 25 ราย เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีนายฐาปะนันท์ สิงห์เจริญกิจ อายุ 29 ปี ลูกชายนางพนัชกร สิงห์เจริญกิจ หรือครูแจ๋ว อายุ 54 ปี เจ้าของโรงเรียนกวดวิชาครูแจ๋ว และเป็นผู้ดูแลอาคารดังกล่าว นำเข้าตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ
นายวราเศรษฐ์ พฤฒิศาสตร์ นักบริหารงานช่าง 8 ผู้อำนวยการส่วนควบคุมอาคารและผังเมือง เทศบาลนครนครราชสีมา กล่าวว่า จากการตรวจสอบเอกสารทางราชการที่มีการยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารแห่งนี้ต่อเทศบาลนครนครราชสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2539 โดยนายกลม วงศ์อมรชัย ซึ่งมีการขออนุญาตใช้อาคารเป็นที่พักอาศัยและการพาณิชย์ แต่เบื้องต้นพบมีการใช้อาคารผิดประเภท เนื่องจากการเปิดเป็นโรงเรียนกวดวิชาจะต้องขออนุญาตจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) นครราชสีมา เขต 1 ก่อน
ดังนั้น เบื้องต้นจะมีความผิดในข้อหาใช้อาคารผิดประเภท และดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งแต่ละข้อหาจะมีโทษ คือจำคุก 3 เดือน ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปตนได้นำประกาศมาติดห้ามไม่ให้ผู้ใดเข้าไปใช้หรือพักอาศัยอยู่ในอาคาร และให้ดำเนินการซ่อมแซม ปรับปรุงให้มั่นคง แข็งแรงได้มาตรฐาน เป็นระยะเวลา 30 วัน ซึ่งในช่วงที่มีการปิดประกาศหากพบมีการละเมิดจะมีการดำเนินการ โดยมีโทษปรับวันละ 10,000 บาทด้วย
“ส่วนกรณีที่มีการดัดแปลงอาคาร หรือใช้อาคารผิดประเภทนั้น เบื้องต้นจะได้สรุปข้อมูลส่งให้นิติกรเทศบาลนครนครราชสีมา เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายย้อนหลังต่อไป” นายวราเศรษฐ์กล่าว
ด้านนายฐาปะนันท์ สิงห์เจริญกิจ ลูกชาย “ครูแจ๋ว” และเป็นผู้ดูแลอาคาร กล่าวว่า หลังเกิดเหตุครอบครัวตนได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากสื่อมวลชนนำเสนอข้อมูลด้านลบ และเกินความเป็นจริงในบางเรื่อง อาทิ การขออนุญาต ตนได้เคยยื่นขออนุญาตต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้วแต่ไม่ผ่าน ซึ่งก็อยู่ในระหว่างการรวบรวมเอกสารเพื่อขอยื่นใหม่
ส่วนที่มีข่าวว่านักเรียนได้รับบาดเจ็บจนเป็นลมจากการสูดควันพิษ ตนก็ขอยืนยันว่าไม่มีนักเรียนที่ติดอยู่ในอาคารคนใดเป็นลม หรือได้รับบาดเจ็บสาหัส เนื่องจากขณะเกิดเหตุตนก็อยู่ในอาคารกับเด็กและลงมาเป็นคนสุดท้าย ส่วนที่มีการระบุค่าเสียหาย 5-10 ล้านบาทนั้นก็ไม่เป็นความจริง เนื่องจากค่าเสียหายน่าจะไม่เกิน 5 แสนบาท
ดังนั้น จึงอยากให้สื่อมวลชนช่วยเสนอข่าวที่เป็นกลาง ซึ่งจากผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ ทำให้นางพนัชกร สิงห์เจริญกิจ หรือครูแจ๋ว มารดาของตน มีอาการเครียดอย่างมากจนนอนไม่หลับ สุขภาพร่างกายทรุดโทรม ตนยืนยันว่าหลังเกิดเหตุตนและครอบครัวได้เข้าไปดูแลนักเรียนทุกคน ทั้งการรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล หรือการจ่ายเงินทำขวัญ ซึ่งผู้ปกครองทุกคนและเด็กก็เข้าใจ โดยบางรายยังมั่นใจในโรงเรียนกวดวิชาของตน และขอให้รีบเปิดสอนโดยเร็วเพื่อที่ลูกหลานจะได้กลับมาเรียนพิเศษได้อีกครั้ง
ทางด้าน พ.ต.อ.สนธยา แต่แดงเพชร ผู้กำกับการ (ผกก.) สภ.เมืองนครราชสีมา กล่าวว่า หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นได้ทำหนังสือประสานไปถึงเทศบาลนครนครราชสีมา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 1 เพื่อให้เข้าไปตรวจสอบและหากมีความผิดให้เข้าแจ้งความดำเนินคดี แต่จนถึงขณะนี้ทั้ง 2 หน่วยงานยังไม่ได้เข้าแจ้งความเอาผิดต่อเจ้าของอาคาร และเจ้าของโรงเรียนกวดวิชาแต่อย่างใด
“สาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้นั้น อยู่ระหว่างการสรุปผลของกองพิสูจน์หลักฐาน ซึ่งคาดว่า 1-2 วันนี้จะได้ข้อสรุป เบื้องต้นคาดว่าเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร เพราะในจุดที่เป็นแผงจ่ายไฟของตัวอาคารมีร่องรอยเกิดไฟสปาร์กขึ้น อย่างไรก็ตาม คงต้องรอผลการตรวจสอบของกองพิสูจน์หลักฐานระบุให้ชัดเจนกว่านี้ จึงจะมีการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป” พ.ต.อ.สนธยากล่าว
ขณะที่นายพรหมมินทร์ ศรีหมื่นไวย รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 1 (รอง ผอ.สพป.นม.เขต 1) และรับผิดชอบโรงเรียนเอกชน และโรงเรียนกวดวิชาในพื้นที่ สพป.นม.เขต 1 เปิดเผยว่า จากข้อมูลล่าสุดพบว่ามีสถานศึกษาเอกชนในระบบที่อยู่ในความรับผิดชอบจำนวน 46 โรงเรียน และสถานศึกษานอกระบบหรือโรงเรียนกวดวิชาที่ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้องมีจำนวน 125 สถานศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาได้มีเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่ได้ยื่นขอใบอนุญาต แต่ไม่ดำเนินการเปิดกิจการ ได้สั่งปิดไปแล้วรวม 10 แห่ง
สำหรับโรงเรียนกวดวิชาครูแจ๋ว ยืนยันว่า ไม่เคยยื่นเอกสารขออนุญาตต่อทาง สพป.นครราชสีมา เขต 1 เลย เพียงแค่มาประสานขอแบบฟอร์มเอกสารและทางสำนักงานฯ ได้ให้คำแนะนำไปแล้ว แต่ทางโรงเรียนก็เงียบหายไปไม่เคยนำเอกสารมายื่นขอใบอนุญาตแต่อย่างใด
ส่วนการเอาผิดทางวินัย นางพนัชกร หรือครูแจ๋ว เจ้าของโรงเรียนกวดวิชาครูแจ๋วที่ไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นข้าราชการครู สังกัดโรงเรียนเมืองนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นั้น ได้ให้โรงเรียนเมืองนครราชสีมาซึ่งเป็นต้นสังกัดของนางพนัชกรไปตรวจสอบดำเนินการแล้ว แต่ไม่ทราบว่าในทางคดีได้มีการแจ้งชื่อเจ้าของโรงเรียนเป็นใคร โดยให้ไปสอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกครั้ง หากเป็นชื่อนางพนัชกร ซึ่งเป็นข้าราชการครูก็สามารถเอาผิดได้ เรื่องนี้ขอดูรายละเอียดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า วันนี้ (26 มิ.ย.) เวลาประมาณ 14.00 น. ปลัดกระทรวงศึกษาธิการมีกำหนดการเดินทางลงพื้นที่ จ.นครราชสีมา เพื่อติดตามกรณีเหตุการณ์ไฟไหม้โรงเรียนกวดวิชาเถื่อน และการดำเนินการเกี่ยวกับปัญหาสถาบันกวดวิชา พร้อมมอบนโยบายที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 1 อ.เมือง จ.นครราชสีมา