xs
xsm
sm
md
lg

อุปทูตอเมริกายันใช้สนามบินอู่ตะเภาแค่ 6 เดือน ย้ำมีแต่ผลดีต่อการพยากรณ์อากาศได้แม่นยำขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางจูดิธ เบธ เซฟคิน อัครราชทูตที่ปรึกษา และอุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย
อุดรธานี - อุปทูตอเมริกา เยือนอุดรธานี เผยกรณีสหรัฐฯ ขอใช้สนามบินอู่ตะเภาเพียงเพื่อภารกิจสำรวจบรรยากาศในไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นการร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ไทย และใช้เวลาแค่ 6 เดือน ย้ำมีแต่ผลดีเพราะจะทำให้การพยากรณ์ภัยพิบัติต่างๆ ได้แม่นยำมากขึ้น ส่วนกรณีประชาคมอาเซียนเปิดเสรีสมบูรณ์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า อเมริกาก็ยังเดินหน้าโครงการช่วยเหลือต่างๆ ต่อไป ไม่ลดบทบาทเด็ดขาด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (25 มิ.ย.) นางจูดิธ เบธ เซฟคิน อัครราชทูตที่ปรึกษา และอุปทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย พร้อมคณะได้เดินทางมาที่สถานีวิทยุแห่งประเทศไทยอุดรธานี เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่ US-ไทย และหุ้นส่วนสหรัฐฯ สังคมและวัฒนธรรม โดยมีนายกิจจา วิชาชัย ผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดอุดรธานี ให้การต้อนรับ จากนั้น ได้พบปะพูดคุ้ยกับคนในท้องถิ่น และสื่อมวลชนในอุดรธานี

นางจูดิธ เบธ เซฟคิน อัครราชทูตที่ปรึกษา และอุปทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่องค์การนาซามีโครงการเข้ามาใช้สนามบินอู่ตะเภาเพื่อใช้ในการสำรวจบรรยากาศในภูมิภาคประเทศไทย-กัมพูชาว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการได้ทำความตกลงร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ของไทยมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2010 โดยเป็นโครงการที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเคยทำร่วมกับหลายประเทศมาแล้วในภูมิภาคนี้ เช่น ฮ่องกง จุดประสงค์ที่มาทำที่ประเทศไทย เพราะว่า บริเวณประเทศไทยมีสภาพอากาศที่แปลกไม่เหมือนกับบริเวณอื่นตรงช่วงมรสุม

โดยการดำเนินการจะใช้เวลา 6 สัปดาห์ ในระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2555 การวิจัยนี้จะทำให้นักวิทยาศาสตร์มีความเข้าใจต่อสภาพภูมิอากาศในช่วงการเปลี่ยนแปลงช่วงมรสุมดีขึ้น รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว

นางจูดิธ กล่าวต่ออีกว่า ถ้าโครงการดังกล่าวนี้สามารถดำเนินการได้ต่อไป ก็จะเป็นผลดีต่อประเทศไทยในแง่ของการพยากรณ์กาศได้แม่นยำ และดีขึ้น และในโอกาสเดียวกัน ก็ให้สามารถรู้ถึงการเกิดภัยพิบัติต่างๆ เช่น น้ำท่วม หรืออื่นๆ ถ้าหากว่าเราสามารถที่จะทำนายได้แม่นยำขึ้น ก็จะสามารถป้องกันเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ดีขึ้น นอกจากนี้แล้ว นักวิทยาศาสตร์ขององค์การนาซา จะปฏิบัติงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ของไทย ฉะนั้น สิ่งที่ได้มาก็จะถือว่าเป็นความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย และจะเป็นผลดีด้วยกันทั้งสองฝ่าย

นอกจากนี้ นางจูดิธ ยังกล่าวเสริมอีกว่า ข้อมูลของการที่ทั้งสองฝ่ายทำการสำรวจร่วมกันนั้น ก็จะมีการนำเอาออกมาเปิดเผยให้แก่สาธารณชนได้รับทราบด้วยกัน ต่อข้อถามที่ทางองค์การนาซาได้กำหนดเส้นตายให้แก่รัฐบาลไทยตัดสินใจอนุมัติการใช้สนามบินอู่ตะเภาภายในวันที่ 26 มิ.ย.2555 นี้ หากพ้นกำหนดไปแล้วก็จะยกเลิกโครงการดังกล่าว

นางจูดิธ ตอบว่า ตามที่ทางองค์การนาซาได้กำหนดให้วันที่ 26 มิ.ย.เป็นวันที่จะต้องได้รับคำตอบ ก็เนื่องมาจากองค์การนาซาต้องการเวลาที่จะใช้เวลาในการขนส่งอุปกรณ์ต่างๆ เข้ามาในประเทศไทย อีกกรณีหนึ่งก็คือว่า โครงการดังกล่าวนี้ ทางรัฐบาลสหรัฐฯ ได้กำหนดเอาไว้ในปีงบประมาณปัจจุบัน หากว่าไม่สามารถที่จะดำเนินการในปีงบประมาณปัจจุบันนี้ได้ ก็ไม่แน่ใจว่าในปีงบประมาณหน้า หรือในปีต่อๆ ไปนั้น ทางองค์การนาซาจะได้รับเงินงบประมาณสนับสนุนโครงการอีกหรือไม่

ฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการโครงการดังกล่าวให้เสร็จเรียบภายในปีงบประมาณปัจจุบันนี้ เพราะได้มีการจัดสรรเอาไว้ให้แล้วโดยใช้เงินงบประมาณ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ

“สำหรับโครงการสำรวจบรรยากาศโดยใช้สนามบินอู่ตะเภานั้น ขอย้ำว่าเป็นโครงการชั่วคราวเวลาประมาณ 6 สัปดาห์ ฉะนั้น เมื่อเสร็จจากโครงการดังกล่าวแล้วนั้น จะไม่มีการใช้สนามบินอู่ตะเภาเพื่อกิจการอื่นอย่างแน่นอน” นางจูดิกดท์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ในปี ค.ศ.2015 ประเทศอาเซียนจะเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว ประเทศสหรัฐอเมริกาจะลดบทบาท หรือเพิ่มบทบาทของตัวเองต่ออาเซียนหรือไม่อย่างไร ได้รับคำตอบว่า หลังจากที่มีการรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว ประเทศสหรัฐอเมริกา คงจะไม่มีการลดบทบาทของตนเองลงในภูมิภาคนี้ อาจจะจัดเสริมให้เข้มแข็งมากขึ้น เพราะเนื่องจากที่ผ่านมานั้น ประเทศสหรัฐอเมริกามีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นอย่างดีอยู่แล้ว

เห็นได้จากการที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญต่อการประชุมอาเซียนมาโดยตลอด โดยจะส่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลในระดับสูงเดินทางมาร่วมในการประชุมด้วยทุกครั้ง ในขณะเดียวกัน เมื่ออาเซียนมีการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กลับที่จะเป็นผลดีกับประเทศสหรัฐอเมริกาเองเสียอีก เพราะว่าสหรัฐฯ มีการลงทุน มีกิจกรรมต่างๆ ที่อยู่ในประเทศกลุ่มอาเซียนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งประเทศไทยด้วย ดังนั้น การรวมตัวของอาเซียนนั้น สหรัฐฯ เองก็จะได้อาศัยการเติบโตของอาเซียนทำการขยายกิจการธุรกิจต่างๆ ของสหรัฐฯ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

นอกจากนี้แล้ว โครงการ USID หรือโครงการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ เช่นโครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง ก็จะมีการเชื่อมโยงกันมากขึ้น คือ โครงการเชื่อมโยงทางการขนส่ง หรือ ลอจิสติกส์ ซึ่งนางฮิลลารี คลินตัน รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ประกาศกำหนดแล้วว่าจะเริ่มต้นโครงการในปี ค.ศ.2019 จะเป็นโครงการส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของประเทศลุ่มแม่น้ำโขง คือ ประเทศไทย สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม และประเทศเมียนมาร์ และอีกประการหนึ่งการรวมตัวของอาเซียนก็ยังจะเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ของกลุ่มประเทศอาเซียนกับสหรัฐอเมริกาให้มีความแน่นเฟ้นมากขึ้น

พร้อมกันนี้ นางจูดิธ กล่าวอีกว่า นอกจากที่จะมีการร่วมมือกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้วนั้น ก็ยังจะมีความร่วมมือกับประเทศนอกกลุ่มอาเซียนอีกด้วย โดยมุ่งหวังว่าจะให้ประเทศเหล่านั้นมีความเจริญเติบโตควบคู่กันไปกับกลุ่มประเทศอาเซียน และมีความเสมอภาคกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น