“มัลลิกา” จี้รัฐบาลถอนเรื่องให้สหรัฐฯ ใช้สนามบินอู่ตะเภา ออกจาก ครม. หากแข็งขืนยื่นเอาผิดละเมิด ม.190 เฉ่ง “นายกฯ ปู” มุ่งแต่จะช่วย “นช.แม้ว” ได้วีซ่าเข้าสหรัฐฯ โดยเอาชาติไปเสี่ยง
วันนี้ (12 มิ.ย.) น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า ถ้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ถอนเรื่องการใช้สนามบินอู่ตะเภาเพื่อประโยชน์ด้านการสำรวจของสหรัฐอเมริกา พรรคประชาธิปัตย์จะเดินหน้าเอาผิดเพราะเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญมาตรา 190 และสุ่มเสี่ยงต่อการเอาชาติไปแลกประโยชน์แฝงของใครบางคน
รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า หลังจากที่ พล.อ.มาร์ติน อี. เดมป์ซีย์ (Martin E.Dempsey) ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมสหรัฐฯ เข้าพบจับมือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ทำเนียบรัฐบาลไม่กี่วันก่อน ก็ปรากฏเรื่องเกี่ยวกับการใช้อู่ตะเภาและการอนุญาตให้สหรัฐฯ สำรวจบนอธิปไตยไทยคร่อมแผนที่ประเทศไทย แถมรุกไปในอ่าวไทยอย่างมีพิรุธ เกรงว่าจะเป็นการแลกกับการแลกวีซ่าเข้าเมืองให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือทำอะไรที่อ่าวไทยใช่หรือไม่ จึงขอเรียกร้องนายกรัฐมนตรีถอนเรื่องนี้ออกจากวาระประชุม ครม.
น.ส.มัลลิกากล่าวว่า สิ่งที่คนเป็นนายกรัฐมนตรีควรรู้เรื่องอู่ตะเภา คือ 1. ผลกระทบความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม มีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญตามมาตรา 190 ซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาก่อน 2. สหรัฐฯ สามารถนำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจไปใช้ประโยชน์ด้านยุทธศาสตร์ทางทหาร หรือเศรษฐกิจ
3. เป็นการสร้างความหวาดระแวงแก่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยรวมทั้งจีน 4. เป็นการบินผ่านพื้นที่ชายแดน และการลงจอดฉุกเฉินในประเทศเพื่อนบ้านโดยไม่ได้รับอนุญาต และต้องเป็นความรับผิดชอบในหน่วยงานความมั่นคงของประเทศไทย 5. เป็นการบินผ่านเขตหวงห้ามของไทย เช่น พื้นที่การฝึกฝ่ายทหาร เขตพระราชฐาน 6. อาจมีการซ่อนเร้นอุปกรณ์ที่เป็นยุทโธปกรณ์นอกเหนือจากอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์บนเครื่องบินสำรวจ โดยไม่มีการแจ้งให้ทางการไทยทราบมาก่อน 7. เป็นการกระตุ้นให้ฝ่ายต่อต้านสหรัฐอเมริกาก่อการร้ายในไทยได้ ถือเป็นการชักศึกเข้าบ้าน
“เรื่องขนาดนี้รู้บ้างไหม “โครงการการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ” หรือเอชเอดีอาร์ และ “โครงการการศึกษาการก่อตัวของเมฆที่มีผลกระทบต่อสภาพอากาศ” หรือเอสอีเอซี 4 อาร์เอสเป็นคนละโครงการกันโดยสิ้นเชิงอันแรกไม่เป็นปัญหาแต่อันหลังนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการอย่างเสี่ยงๆ”
รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์อธิบายว่า กระทรวงการต่างประเทศมีโครงการ 2 โครงการ คือ โครงการเอชเอดีอาร์ได้รับการริเริ่มโดยรัฐบาลไทย ในสมัยที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่กระทรวงการต่างประเทศระบุว่าแนวคิดนี้ในการประชุมอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 3 ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อ 29 ต.ค. 2553 เนื่องจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มการประสบภัยพิบัติเพิ่มขึ้น และประเทศไทยมักถูกขอใช้เป็นศูนย์กระจายความช่วยเหลือบ่อยครั้ง เพราะมีที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางของภูมิภาค จึงเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการหารือระหว่างทางการไทยและสหรัฐฯ ยังไม่มีข้อสรุป ทั้งนี้จะต้องมีการใช้สนามบินอู่ตะเภาด้วย ซึ่งเรื่องนี้ควรทำเพราะช่วยประชาชนด้านภัยพิบัติ แต่ยิ่งลักษณ์กลับไม่ทำ
ส่วนที่เป็นเรื่องอยู่ขณะนี้ คือ การขอใช้สนามบินอู่ตะเภาขององค์การนาซาเพื่อใช้เป็นสถานีวิจัยและเก็บตัวอย่างอากาศในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ ซึ่งเป็นฤดูมรสุม ภายใต้โครงการเอสอีเอซี 4 อาร์เอส โดยนาซาจะต้องขออนุญาตบินผ่านน่านฟ้าของไทยทุกครั้ง โดยขอบเขตน่านฟ้าที่นาซาระบุไว้ครอบคลุม 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา และสิงคโปร์ ซึ่งทั้ง 2 ประเทศไม่ได้คัดค้านขณะนี้เรื่องดังกล่าวถูกเสนอเข้าที่ประชุม ครม.แล้ว อยู่ในช่วงรอบรรจุวาระเข้า ครม.
“กรณีนี้ฝ่ายความมั่นคงมีความกังวลอย่างมาก โดยเฉพาะกองทัพอากาศขอให้ระงับเรื่องนี้ เพราะแม้แต่ ผบ.ทอ.ก็ยังไม่ทราบเรื่องนี้ แต่เป็นการดำเนินการของนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.การต่างประเทศ โดยการผลักดันของนายจิระชัย ปั้นกระษิณ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ เป็นผู้ขับเคลื่อน”
น.ส.มัลลิกากล่าวว่า น่าจับตามองเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ส่วนตนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่จะขอวีซ่าเข้าสหรัฐอเมริกาด้วย เพราะหากสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายยอมยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้นักโทษหนีคดีเข้าประเทศได้นั้น ย่อมต้องมีผลประโยชน์มหาศาลต่ออเมริกาเป็นข้อแลกเปลี่ยน ซึ่งเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับทรัพยากรใต้ท้องทะเลที่บริษัทยักษ์ใหญ่อันดับ 3 มารับสัมปทานขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอยู่ เรื่องขนาดนี้นายกรัฐมนตรีช่วยรู้สักเรื่องได้หรือไม่