xs
xsm
sm
md
lg

คนข้ามเพศอุบลฯ ร่วมสะท้อนความเห็น เสรีภาพทางสรีระบนความเท่าเทียม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

: ที่ลานกิจกรรมห้างสรรพสินค้าโรงแรมสุนีย์แกรนด์ สื่อสร้างสุขจังหวัดอุบลราชธานีเปิดเวทีให้ตัวแทนคนข้ามเพศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแสดงความเห็น
อุบลราชธานี - สื่อสร้างสุขเมืองอุบลร่วมคนข้ามเพศจัดเวทีสะท้อนความคิดความหลากหลายทางเพศไม่เป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิต เพียงครอบครัวให้การยอมรับ ด้านแพทย์ชี้ไม่มีคำอธิบายทางการแพทย์อย่างชัดเจน การเบี่ยงเบนทางเพศเกิดจากยีนหรือโครโมโซมตัวใดตัวหนึ่งของร่างกาย ส่วนผู้ร่วมสะท้อนส่วนใหญ่ยันการเบี่ยงเบนทางเพศเกิดจากความชอบตั้งแต่วัยเด็ก และเริ่มแสดงออกชัดเจนในช่วงเป็นวัยรุ่น

ที่ลานกิจกรรมห้างสรรพสินค้าโรงแรมสุนีย์แกรนด์ สื่อสร้างสุขจังหวัดอุบลราชธานีเปิดเวทีให้ตัวแทนคนข้ามเพศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแสดงความเห็น เพื่อแสวงแนวทางในการดำเนินชีวิตในสังคม โดยมีนายสุชัย เจริญมุขยนันท เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

คุณตู่ ชลิตา ผู้จัดการสถานเสริมความงานแฮร์ดีไซน์ หนึ่งในผู้ร่วมเสวนากล่าวถึงความนึกคิดที่ต้องการเป็นผู้หญิงว่า ความรู้สึกต้องการเป็นผู้หญิงเริ่มตั้งแต่สมัยอยู่ในวัยเรียน แต่ครอบครัวไม่ยอมรับ การศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาเกิดปัญหาเนื่องจากต้องการเรียนด้านความสวยความงาม แต่ครอบครัวต้องการให้เข้ารับราชการเป็นทหาร ตำรวจ จึงต้องหลบหนีออกจากบ้านมาใช้ชีวิตตามที่ตนเองชอบ ต่อมาครอบครัวเข้าใจความนึกคิดกายเป็นชายใจเป็นหญิง จึงได้กลับมาอยู่กับครอบครัว และเปิดธุรกิจเสริมความงามและมีครอบครัวที่เป็นสุขถึงปัจจุบัน

พร้อมให้ความเห็นว่า การเป็นกะเทยในความรู้สึกของสังคมไม่ได้เป็นภัยร้ายแรง กะเทยก็ได้ทำประโยชน์ให้สังคมมากมาย และรู้สึกชื่นชมสังคมปัจจุบันที่ให้การยอมรับบุคคลข้ามเพศมากกว่าอดีต คนมีความเบี่ยงเบนทางเพศไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ เหมือนอดีต

ด้านคุณศุกวสันต์ วงศ์ธนู ผู้จัดการศูนย์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า สมัยเด็กชอบเล่นกับเด็กผู้หญิงและชอบของสวยของงาม จึงไม่เหมือนกับเด็กผู้ชายทั่วไป และเริ่มมีความรู้สึกเป็นผู้หญิงตอนอยู่ชั้นมัธยมฯ ทำให้พ่อไม่ยอมรับ มีแต่แม่ที่คอยให้กำลังใจ

“ช่วงหนึ่งของชีวิตเข้าไปอยู่กับคณะหมอลำ จึงพบกับเพื่อนข้ามเพศจำนวนมาก เรียกว่าเป็นแหล่งรวมของคนข้ามเพศทั้งเกย์ กะเทย เพราะคนเหล่านี้ต้องการแสดงออกเพื่อให้สังคมยอมรับการข้ามเพศของตนเอง” แต่มองว่าชีวิตที่อยู่กับคณะหมอลำไม่มีอะไรดีขึ้น จึงกลับมาเรียนต่อ ตนเป็นคนชนบทคนเฒ่าคนแก่ไม่ยอมรับ แต่ต่อมาเมื่อเข้าร่วมทำกิจกรรมให้สังคม แววตาที่มองคนข้ามเพศก็เปลี่ยนไป พร้อมทั้งกล้าประกาศตนเองเป็นคนข้ามเพศ ทำให้สังคมมองในแง่ดีที่ไม่ปกปิดตนเอง

ทั้งนี้ เนื่องจากการแต่งกายของตนยังเป็นผู้ชาย ความเห็นในการประพฤติปฏิบัติของคนข้ามเพศถ้าไม่สร้างความเดือดร้อนให้สังคมสังคมก็พร้อมยอมรับการข้ามเพศ แต่หากคนข้ามเพศทำเรื่องไม่ดีงาม ก็เหมือนคนทั่วไปที่สังคมก็ไม่ยอมรับ จึงไม่เกี่ยวกับการเป็นคนข้ามเพศ ทุกอย่างขึ้นกับพฤติกรรมของแต่ละคน

นางรัชนี บุญหนุน ผู้ปกครองของบุตรชายที่เป็นคนข้ามเพศกล่าวให้ความเห็นว่า เป็นแม่ที่มีลูกชาย 2 คน ต่อมาจู่ๆ ลูกชายคนเล็กได้เข้ามาบอกว่าไม่อยากเป็นผู้ชาย แต่ต้องการเป็นผู้หญิง ในหัวใจแม่ขณะนั้นรู้สึกตกใจ แต่ก็เข้าใจความรู้สึกของลูกชาย จึงบอกกับลูกจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ได้ ขอเพียงให้ตั้งใจเรียน ไม่ทำอะไรที่ไม่เหมาะสม และลูกก็เรียนจนจบ โดยระหว่างเรียนไม่เกเรไม่แสดงออกเหมือนคนข้ามเพศทั่วไปที่ต้องการเรียกร้องความสนใจ แต่มีความรู้สึกกังวลเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อลูกไปสมัครทำงานที่ธนาคารแห่งหนึ่ง เพราะร่างกายดูเป็นผู้หญิงและลูกได้บอกกับผู้รับสมัครว่าเป็นคนข้ามเพศ แต่เมื่อผลสอบออกมาได้คะแนนสูงตามที่ธนาคารต้องการ เมื่อถูกเรียกสัมภาษณ์ก็ไม่ถูกมองด้วยความรังเกียจ และสามารถเข้าทำงานในธนาคารแห่งนั้นได้

“ทำให้เห็นว่าปัจจุบันสังคมไม่ได้มองคนข้ามเพศเป็นคนผิดปกติ แต่หน่วยงานมองถึงเรื่องความสามารถของคนคนนั้น” การเบี่ยงเบนทางเพศจึงไม่ใช่ปัจจัยให้มีงานทำหรือไม่มีงานทำ แต่คนข้ามเพศต้องเป็นคนดีที่ทำประโยชน์ให้สังคม ประการสำคัญคือ พ่อแม่ต้องเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของลูก เพื่อให้ลูกสามารถดำเนินชีวิตได้เหมือนคนปกติ

ด้านนายอาคม พุฒพิมพ์ ผู้จัดการศูนย์เพื่อนฟ้าสีรุ้ง จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า คนข้ามเพศปัจจุบันไม่มีแค่เกย์ ทอม ดี้ กะเทย แต่มีคนข้ามเพศอีกจำนวนมากทั้งคนที่เป็นไบเซ็กชวล เลสเบี้ยน สวิงกิ้ง ฯลฯ จะรู้ได้อย่างไรว่าคนนั้นเป็นเพศอะไร ก็ต้องดูความนิยมทางเพศ เพราะชายบางคนดูร่างกายบึกบึน ถ้าเป็นเกย์ก็น่าจะเป็นเกย์คิง แต่เอาเข้าจริงเมื่ออยู่บนเตียงกลับเป็นเกย์ควีนเพราะชอบถูกกระทำมากกกว่าจะเป็นผู้กระทำ

เช่นเดียวกับผู้หญิงบางคนที่ดูภายนอกแสนหวาน แต่กลายเป็นทอมหรือเลสเบี้ยนตัวผู้ ส่วนชายที่มีภรรยา มีลูก แต่เป็นไบเซ็กชวล ชอบทั้งหญิงและชาย ดังนั้นการแยกมนุษย์ว่าใครควรเป็นอย่างไรดูแต่เพียงภายนอกไม่ได้แล้ว ต้องดูจากพฤติกรรมความนิยมทางเพศเป็นหลักจึงได้ความจริงว่าคนนั้นเป็นคนเพศใด

ส่วน นพ.จิรวัฒน์ มูลศาสตร์ นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลศูนย์สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี กล่าวถึงคนข้ามเพศว่า ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ใช้อธิบายยืนยันอย่างชัดเจนเป็นความผิดปกติของโครโมโซม หรือยีนตัวใดตัวหนึ่งของร่างกาย การจำแนกทางเพศขณะนี้ทำได้เพียงลักษณะของร่างกาย หรือการแสดงออก

การแยกเพศในสังคมปัจจุบันยังซับซ้อน มีความหลากหลายทางเพศ แต่จะเป็นเพศอะไร ก็ขอให้เป็นคนดี ก็จะได้การยอมรับจากสังคมไปเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น