xs
xsm
sm
md
lg

เกย์-กะเทยลั้นลา สธ.เร่งช่วยลดอคติสังคม หวังติดเอดส์น้อยลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พบเกย์-กะเทย กทม.ติดเชื้อเอชไอวีมากสุด 31% รอง อธ.ควบคุมโรค รับยังลดจำนวนผู้ติดเชื้อไม่ได้ เพราะมีการเข้าถึงการรักษาและการตรวจเชื้อน้อย เหตุผู้ให้บริการสาธารณสุขบางส่วนอคติใส่ เร่งสร้างการยอมรับและความเข้าใจในเพศที่สามมากขึ้น เชื่อ ลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้

วันนี้ (29 พ.ค.) ที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพมหานคร สำนักโรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ ด้านสาธารณสุข และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร จัดงานสัมมนา “กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและสาวประเภทสอง ระดับชาติ ครั้งที่ 1 เรื่อง ยอมรับ เข้าใจ ไม่มีการติดเชื้อใหม่ในชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและสาวประเภทสอง” โดยมี นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานในการเปิดงาน

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการดูแลป้องกันรักษาโรคเอดส์มาก และนานาชาติให้การยอมรับว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ดี คือ จากการติดเชื้อปีละกว่าแสนราย สามารถลดจำนวนลงมาได้เหลือปีละหมื่นราย ขณะที่การรักษา คนไทยสามารถเข้าถึงบริการยาต้านไวรัสได้ทุกคน อย่างไรก็ตาม บุคคลบางกลุ่มยังไม่มีการป้องกันที่ดีนักคือ กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (MSM) และสาวประเภทสอง (TG) ยังไม่สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้ ต่างจากกลุ่มอื่นๆ ที่สามารถลดจำนวนลงได้แล้ว

จากการเฝ้าระวังและสำรวจความชุกการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายทั่วประเทศ พบว่า มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีแล้วร้อยละ 10 โดยใน กทม.มีการติดเชื้อมากที่สุดร้อยละ 31 สาเหตุ คือ มีการแบ่งแยกตีตรากลุ่มบุคคลเหล่านี้ สังคมไทยยังไม่ให้การยอมรับ เวลาจะกลุ่มเหล่านี้จะเข้าไปหาฝ่ายให้บริการสาธารณสุข ก็ถูกแบ่งแยกตีตรา ทำให้ก็ไม่กล้าเข้าไปใช้บริการ” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า ผู้ให้บริการสาธารณสุขบางกลุ่มยังมีอคติหรือมายาคติอยู่ จะเกิดความรู้สึกว่าไม่อยากให้บริการ ซึ่งการสัมมนาดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อจะเน้นให้ทุกคนเกิดการยอมรับ และเข้าใจ ให้สังคมให้โอกาสกับเพื่อนๆ ที่เป็น MSM/TG เชื่อว่า ถ้าสามารถทำได้ บุคคลทั้งสองกลุ่มนี้จะกล้าเดินเข้ามารับบริการมากขึ้น ขณะที่กลุ่มผู้ให้บริการก็จะเปิดใจมากขึ้น และมองว่า เขาก็เป็นเพื่อนมนุษย์ที่อยู่บนโลก รวมถึงการแจกเอกสาร และอุปกรณ์ป้องกันก็จะทำได้มากขึ้น และจำทำให้การติดเชื้อเอชไอวีลดลง

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า การลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวี โดยเฉพาะเรื่องการตายเป็นศูนย์นั้นสามารถทำได้ หากคนไทยรู้สถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวีของตัวเอง คือถ้าเคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ต้องรีบไปตรวจเชื้อทันที เพราะที่ผ่านมาพบว่าการเสียชีวิตจากโรคเอดส์เกิดจากการไปตรวจหาเชื้อเอชไอวีช้า ซึ่งเมื่อไปตรวจแล้วพบว่าร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำ เมื่อไปรับบริการก็จะไม่สามารถทนยาได้

ด้าน นายกิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หัวเมืองที่เจริญอย่าง กทม. และเชียงใหม่ จะมีการรวมตัวของกลุ่ม MSM สูงมากกว่าที่อื่น ส่งผลให้มีการยั่วยุทางกามารมณ์และเอื้อต่อการมีเพศสัมพันธ์แบบเสี่ยงมากกว่า อีกทั้งการไปมาหาสู่กันค่อนข้างง่าย จึงทำให้มีแนวโน้มการติดเชื้อเอชไอวีมากขึ้นด้วย

นายกิตตินันท์ กล่าวอีกว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อเอชไอวีมีหลายปัจจัย ทั้งการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ใส่ถุงยางอนามัย การรู้สึกว่าการใช้ถุงยางอนามัยแล้วไม่ตื่นเต้นและไม่เร้าใจ การไม่มีทุนทรัพย์ในการซื้อหา โดยเฉพาะวัยเรียนอายุ 14-15 ปี รวมถึงความรู้ความเข้าใจในการใช้ถุงยางอนามัยที่ผิด เราจำเป็นต้องเสริมสร้างความรู้ทุกประเภทในการใช้ถุงยางอนามัยที่ถูกวิธี และต้องลดอคติทางเพศลง ต้องทำสองสิ่งควบคู่กันไป ก็จะสามารถลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้ ที่สำคัญคือต้องให้เกิดการยอมรับในกลุ่ม MSM/TG และต้องให้ความรู้ความเข้าในในเพศที่สามมากขึ้น ในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่งที่มีสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย ผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศ ผู้รับผิดชอบงานจากสำนักงานสาธารณสุข 76 จังหวัด สำนักงานป้องกันควบคุมโรค 12 แห่ง กรุงเทพมหานคร เครือข่ายภาคประชาสังคม สถานประกอบการ นักวิชาการ/นักวิจัย สื่อมวลชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 350 คน มาร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์การปฏิบัติงาน และร่วมกันวิเคราะห์หาแนวทางที่เหมาะสมในการปรับเปลี่ยนทัศนคติของสังคมเพื่อให้สังคมมีมุมมองเชิงบวกต่อชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย สาวประเภทสองและผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ให้เข้าใจและยอมรับตัวตนและศักยภาพ เลิกล้อเลียน กลั่นแกล้ง ให้โอกาสได้ใช้ความสามารถในการสร้างสรรค์สังคม ในฐานะพลเมืองไทยคนหนึ่ง ซึ่งเป็นการส่งผลดีต่อการเข้าถึงบริการ การป้องกันและดูแลรักษาสุขภาพ รวมถึงการบรรลุเป้าหมายที่เป็นศูนย์ตามแผนยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์แห่งชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น