xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ได้แล้วยังจะเสีย/คอลัมน์...ได้อย่าง ไม่เสียอย่าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...นิมิตร์ เทียนอุดม : มูลนิธิเข้าถึงเอดส์

ทันทีที่มติของแพทยสภา พิจารณาปรับปรุงแนวปฏิบัติของแพทย์ และมีมติไม่อนุมัติให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวีได้โดยไม่ต้องมีผู้ปกครองเซ็นยินยอม ผมก็คิดว่า เรื่องนี้สังคมเราได้ไม่คุ้มเสีย ที่พูดอย่างนี้ก็เพราะว่า ผลสำรวจของ working group กระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี 2554 ที่ได้สำรวจกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และ 5 และนักเรียนระดับอาชีวศึกษาทั้งชายและหญิง พบว่า มีแนวโน้มการใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกลดลง ซึ่งก็หมายความว่า เยาวชนของประเทศเรามีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีเพิ่มขึ้น

เมื่อเสี่ยงไปแล้ว การรู้ผลเลือดเร็วเท่าไหร่ก็จะทำให้เราจัดการชีวิตของตัวเองได้ดีขึ้น เร็วขึ้น แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า เยาวชนที่อายุต่ำว่า 18 ปีจะตรวจเลือดได้ก็ต้องให้ผู้ปกครองเซ็นยินยอม แล้วเยาวชนที่ไหนจะกล้าไปบอกให้ผู้ปกครองเซ็นยินยอมล่ะครับ เพราะนั่นหมายความว่า เยาวชนต้องเปิดเผยเรื่องเพศของตัวเองให้คนอื่นรับรู้

นี่ล่ะครับ ผมถึงบอกว่าเรื่องนี้ “ได้ไม่คุ้มเสีย” เพราะเรากำลังจะปล่อยให้อนาคตของชาติเผชิญปัญหาเรื่องสุขภาพทั้งๆ ที่วิทยาการทางการแพทย์สามารถจัดการได้ และไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะสิทธิประโยชน์ในหลักประกันสุขภาพครอบคลุมการดูแลรักษาเรื่องเอชไอวี/เอดส์ และยิ่งรักษาเร็ว ก็จะยิ่งเป็นผลดีต่อตัวผู้ติดเชื้อคนนั้นๆ

เรื่องนี้ทำให้ผมประหลาดใจ เพราะบุคลากรทางการแพทย์ย่อมรู้ดี แต่กลับอ้างว่าที่ไม่อนุมัติให้มีการตรวจเลือดในเด็กอายุต่ำกว่า 18 เพราะกลัวว่า หากตรวจพบว่าติดเชื้อ ใครจะรับผิดชอบ และกลัวว่าผู้ปกครองจะฟ้องแพทย์ จึงเกี่ยงให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ออกระเบียบแทน ...เพราะว่าเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของแพทยสภา

อย่างไรก็ตาม กรณีกลัวถูกผู้ปกครองฟ้องร้องนั้น ผมกลับคิดว่า นี่เป็นโอกาสอันดีที่ “พวกเรา” จะได้ทำความเข้าใจประเด็นความเสี่ยงเรื่องเอชไอวีกับบุตรหลานให้ผู้ปกครองฟัง และเชื่อว่า ท้ายที่สุดแล้ว ผู้ปกครองจะต้องขอบคุณคุณหมอ เพราะเท่ากับว่า ได้ช่วยชีวิตลูกหลานเขาให้รอดพ้นจากการเจ็บป่วยหรือการเสียชีวิต นอกจากนี้ กระบวนการักษาเอชไอวี/เอดส์ มีการให้คำปรึกษาก่อนการตรวจเลือด ซึ่งผู้ให้คำปรึกษามีโอกาสที่จะได้พูดคุยกับเด็กในหลายๆ เรื่องที่จะช่วยให้เด็กได้ทบทวนเรื่องความเสี่ยง การป้องกัน และหาทางเลือกที่เหมาะสมและทำได้จริงเพื่อจัดการชีวิตทางเพศของตัวเอง

ถ้าเด็กจัดการชีวิตทางเพศของตัวเองได้ ก็ส่งผลดีต่อทุกคนครับ เริ่มตั้งแต่พ่อแม่ที่จะได้ชีวิตของลูกกลับคืนมา แพทย์ พยาบาล ผู้ให้บริการ ก็จะได้เป็นผู้ช่วยให้ชีวิตของเด็กที่ได้รับการตรวจให้ปลอดภัยขึ้น หรือช่วยให้เด็กคนนั้น มีโอกาสที่จะมีชีวิตที่ยืนยาวและดีขึ้นได้ และในภาพรวมได้ช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้กับประเทศอีกด้วย

นี่เป็นเรื่องของ “เรา” ทุกคนครับ และผมคิดว่า คนทำงานเรื่องเพศเรื่องเอดส์ไม่ได้ปล่อยให้แพทยสภาเผชิญกับผลกระทบที่จะตามมาแต่เพียงฝ่ายเดียว จึงอยากจะชวนแพทยสภา ให้มาช่วยกันทำเรื่องนี้ ให้เป็น ได้อย่าง ไม่เสียอย่าง ด้วยการทบทวนและอนุญาตให้แพทย์สั่งตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เพราะการรู้ผลเลือดเร็วก็จะทำให้เด็กจัดการชีวิตตัวเองได้เร็วด้วย

ทำเถอะครับ...เชื่อว่าไม่เหนือบ่ากว่าแรงของแพทยสภาแน่นอน

*****

คอลัมน์ ได้อย่าง...ไม่เสียอย่าง

**ชักจะขำไม่ออกเสียแล้ว/คอลัมน์ ได้อย่าง ไม่เสียอย่าง
**ไข่ปิ้ง ถั่วต้ม และ โรตี/คอลัมน์ ได้อย่าง ไม่เสียอย่าง
**อุบัติเหตุ เหตุที่ไม่อยากให้อุบัติ/คอลัมน์...ได้อย่าง ไม่เสียอย่าง
**ปรากฏการณ์ผีเสื้อ (Butterfly effect) : CL จากไทยสู่อินเดีย/คอลัมน์ ได้อย่าง...ไม่เสียอย่าง


กำลังโหลดความคิดเห็น