xs
xsm
sm
md
lg

ปลดแอกสาวประเภทสอง จาก ‘มีความผิดปกติทางจิตถาวร’ แปรเป็น ‘เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การเข้ารับราชการทหาร ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ชายไทยทุกคนต้องเข้าไปข้องเกี่ยวในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการไปเป็นนักศึกษารักษาดินแดน (ร.ด.) หรือจะเป็นการไปจับใบดำ-ใบแดงวัดดวง

ที่ผ่านมา คนไทยที่มีคำนำหน้าว่านายทุกคน จะต้องเข้าไปข้องเกี่ยวกับพิธีกรรมดังกล่าวทั้งสิ้น ไม่ว่าโดยเนื้อแท้แล้วจิตใจข้างในจะเป็นชายเต็มร้อยหรือไม่ก็ตาม

ทั้งนี้มันคงจะไม่มีปัญหาอะไร ถ้ากระบวนการการคัดเลือกดำเนินไปโดยคำนึงถึงความเท่าเทียมทางเพศและยอมรับเพศสภาพที่หลากหลายซับซ้อนมากขึ้นในสังคมสมัยใหม่ แต่สุดท้ายมันก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะในใบ สด.43 หรือ ใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกินของเหล่าสาวประเภทสองที่ไม่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก จะถูกบันทึกเหตุผลลงไปว่า ‘มีความผิดปกติทางจิตถาวร’ และเจ้าใบสด.43 นี่ก็จะตามไปหลอกไปหลอนสาวประเภทสองเหล่านั้นไปจนวันตาย เพราะมันจะต้องเอาไปใช้เป็นหลักฐานประกอบในการสมัครงาน หรือทำธุรกรรมต่างๆ

นั่นทำให้สาวประเภทสองกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันยื่นฟ้องร้องรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมในเรื่องนี้ และสุดท้ายพวกเธอก็ชนะ โดยหลังจากนี้ใบสด.43 จะไม่มีคำว่า ‘มีความผิดปกติทางจิตถาวร’ อีกต่อไป! แต่จะถูกแทนที่ด้วยคำว่า ‘ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด’ (Gender identity disorder) แทน

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และนับเป็นชัยชนะเล็กๆ ของกลุ่มสาวประเภทสองอีกด้วย เมื่อเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด

นานาทัศนะสาวประเภทสอง
แน่นอนว่า กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากคำคำนี้ ย่อมต้องดีอกดีใจเป็นธรรมดา เพราะนอกจากจะเกิดผลด้านบวกทางจิตใจแล้ว ในเรื่องของสิทธิความเท่าเทียมก็นับได้ว่า ก้าวหน้าไปอีกขั้น จึงนำประเด็นดังกล่าวไปพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับสาวประเภทสองชื่อดังจากหลายวงการ เพื่อฉายให้เห็นภาพกว้างและผลกระทบในอดีตที่ผ่านมา

นก-ยลดา โคมทอง นายกสมาคมสตรีข้ามเพศแห่งประเทศไทย อดีตสมาชิกวงวีนัส ฟลายแทรบ (venus flytrap)
“เห็นด้วยค่ะ ถ้าเปลี่ยนให้...มันก็จะเป็นคำกลาง ก็มีประโยชน์ทั้งต่อกะเทย และผู้หญิงข้ามเพศด้วย ซึ่งในหน้าที่การงานบางคนเขามีผลกระทบ คนที่เขาต้องใช้ใบ สด.43 ในการสมัครงาน หรือการยืนยันตัวเองในการออกนอกประเทศ ด้วยหลักฐานพาสปอร์ตหรืออะไรต่างๆ ก็มีปัญหาอยู่แล้ว และเอกสารที่จะใช้ยืนยันตัวเองก็น่าจะเป็นใบ สด.43 แต่ที่ผ่านมากลายเป็นว่าการใช้ใบ ส.ด.43 มันทำให้เกิดกระบวนการที่ลิดรอนสิทธิ เมื่อยืนยันไปแล้วกลายเป็นการมัดตัวเองเข้าไปอีก และสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ต้องสามารถให้คุณกับคนอื่นๆ โดยย้อนหลังไปได้ด้วย”

แจ็คเกอรีน-จักริน อดิเรก ผู้สื่อข่าวบันเทิงชื่อดังช่องทีวีพูล
"จริงๆ ก็รู้สึกดีขึ้นที่ทางศาลปกครองเขามีการเปลี่ยนคำจำกัดความใหม่ เพราะว่าตัวเองก็เคยประสบเหตุเองไปเกณฑ์ทหารที่บ้านเกิด ซึ่งทางพฤตินัยมันไม่ได้ก่อให้เกิดอะไรหรอก เพราะว่าเปลี่ยนไปแล้วเราก็ยังเป็นกะเทยอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่ตอนที่เราไปเกณฑ์ทหารหรือจัดเตรียมเอกสารสมัครงานมันก็จะกระทบกระเทือนจิตใจเรามาก อย่างพอเราอ่านใบ สด. 43 แล้วระบุว่าเราเป็นเหมือนคนบ้า เป็นโรคจิตถาวร มันทำให้ตัวเรารู้สึกไม่ดี คนรอบข้างเขาก็จะมองเราไม่ดีไปด้วย คือเพศที่ 3 เหมือนจะเปิดกว้างนะ แต่พอเจอเหตุการณ์จริงมันก็เหมือนยังโดนกดอยู่ ซึ่งเปลี่ยนก็ดีขึ้นค่ะ ทำให้น้องๆ หรือใครหลายๆ คนมีกำลังใจในการใช้ชีวิต อย่างไรไม่ว่าเขาจะใช้คำจำกัดความว่าอะไร หนึ่ง-เราก็ไม่สามารถเป็นทหารได้ สอง-จะดีจะชั่วก็อยู่ที่ตัวเรา”

น้องตุ้ม-ปริญญา เจริญผล นักมวยสาวประเภท 2
“ในความเห็นของตุ้มนั้น มันน่าจะเอาออกไปได้ตั้งนานแล้ว ก่อนหน้านี้ก็มีเพื่อนๆ หลายคนร่วมกันรณรงค์ในเรื่องนี้ ตัวตุ้มเองโดนไม่ค่อยหนักสักเท่าไหร่ แต่เพื่อนๆ ตุ้มที่โดนนี่ถึงขั้นหงอยไปเลยนะคะ บางคนเขาต้องเอาใบนี้ไปสมัครงาน ถ้ามีการเช็กดูแล้วเจอคำว่า โรคจิต แล้วใครจะรับเข้าทำงานล่ะคะ มันเป็นคำที่แรงไปนะ ตัวตุ้มเองก็เคยไปเกณฑ์ทหารนะ ตอนนั้นก็แปลงเพศไปแล้ว ซึ่งเราก็โดนเขียนคำทำนองนี้ลงไปเหมือนกัน เราก็ไม่ชอบมันหรอก ตอนนี้ก็ไม่ได้เก็บใบนั้นไว้แล้ว เราไม่อยากจะจำมันหรอก จริงๆ ควรให้โอกาสกับคนเพศที่ 3 บ้าง ให้เขาได้มีงานดีกว่าให้เขาไปเป็นโจรเป็นขโมย”

แซมมี่-ศิรภัสสร อัฒยกร มิสทิฟฟานี่ ปี 2554
“พอใจมากๆ ที่มีการแก้ไขข้อความในใบ สด.43 เพราะต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับคนกลุ่มนี้ และยังถือเป็นการตัดสินชีวิตคนๆ หนึ่งโดยขัดแย้งกับความเป็นจริงด้วย การเป็นสาวประเภทสอง ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นพวกโรคจิตหรือวิปริต และเราก็ยังมีวุฒิภาวะและตัดสินปัญหาได้ แต่การที่เขาไปเขียนในใบ สด.43 ว่าเราเป็นผู้ป่วยทางจิต มันนำมาสู่ผลกระทบหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน หรือการติดต่อทางราชการซึ่งจะมีปัญหาตามมาเต็มไปหมด

“เพราะฉะนั้น การแก้ข้อความว่า เราไม่สามารถรับใช้หรือเกณฑ์ทหารได้ เพราะสภาพจิตใจไม่ตรงกับทางร่างกาย แค่นี้ก็ถือว่าน่าจะเพียงพอและไม่เป็นปัญหาแล้ว เพราะต้องบอกก่อนเลยว่า สาวประเภทสองส่วนใหญ่สภาพจิตใจจะเป็นผู้หญิง และต้องการจะใช้ชีวิตแบบผู้หญิงไปเลย เห็นได้จากบางคนก็เปลี่ยนแปลงสภาพร่างกายให้เป็นผู้หญิงเต็มตัวเลย”

เบลล์-นันทิตา ฆัมภิรานนท์ นักร้อง 2 เสียงจากเวที Thailand's got talent
“เขาแก้ไขให้ก็รู้สึกดี เพราะว่ารุ่นน้องหรือว่าคนที่มาเกณฑ์ทหาร เขาจะได้สามารถไปประกอบอาชีพสุจริตได้ เพราะว่ากฎหมายที่ออกมาก่อนหน้านี้มันดูเหมือนเป็นการจำกัดการทำงานและอะไรหลายๆ อย่าง ยิ่งถ้าเป็นข้าราชการอย่างนี้ ถ้าระบุว่าเป็นโรคจิตถาวรเขาก็คงไม่เอา อยากให้เขามองเราเป็นเพศปกติในสังคมเหมือนผู้ชายจริง ผู้หญิงแท้ เข้าใจว่าอาจจะเป็นไปได้ยากแต่ก็อยากให้มีการยอมรับมากกว่านี้ และเปิดโอกาสในเรื่องการทำงานให้มากขึ้น”

ครูลิลลี่-กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์ อาจารย์สอนภาษาไทยชื่อดัง
“เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด ก็ถือว่าเป็นคำที่สุภาพ ฟังแล้วก็รู้สึกว่า เออ...เป็นคนปกติ ไอ้คำว่าโรคจิตถาวรอะไรนั่นมันก็ไม่สมควร แต่คำนี้ถือว่าใช้ได้ เหมาะสมและสมควร ฟังแล้วมันรื่นหู ไพเราะหูกว่าคำว่าโรคจิต ใครๆ ก็ไม่อยากโดนตราว่าเป็นโรคจิตหรอก ฟังแล้วคนถูกเรียกก็รู้สึกไม่ดี เห็นด้วยที่เปลี่ยนมาใช้คำนี้”

ศิวาพร ทรัพย์สิน นักแสดงโชว์คาบาเรต์
“ก็ดีใจ รู้สึกดีมากและเห็นด้วยกับเรื่องนี้มากๆ เพราะว่า เรื่องอาชีพการงานก็จะได้มีอิสระ ไม่ต้องมีปัญหากับการสมัครงานด้วย”

พิมพ์ณดา ขำวีระ เลขาธิการสมาคมสตรีข้ามเพศ
“จากกรณีคำฟ้องเรื่องการเรียกสาวประเภทสองว่าเป็นโรคจิตถาวร ทำให้เกิดปัญหาในการเข้าทำงานทั้งเอกชน และราชการ เมื่อปี 2550 แพทย์สภาออกบทบัญญัติ หาคำที่ครอบคลุมกับคนทุกกลุ่มคน ซึ่งถ้าปีหน้าจะประกาศให้เป็นคำว่าเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าพึงพอใจมาก เพราะเอื้อกับส่วนรวมมากกว่า มีความนุ่มนวลกว่า เป็นการหาทางออกด้วยกันกับทางทหารด้วย ซึ่งสมาคมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าพอใจมากแล้ว เพราะไม่มีใครที่อยากโดนตราหน้าว่าเป็นโรคจิตกันทั้งนั้น”

ไอษิกา วัฒนปรากรม อุปนายกสมาคมสตรีข้ามเพศแห่งประเทศไทย
“เห็นด้วยกับเรื่องนี้มาก เราเกิดมาเป็นคนเหมือนกัน พวกเราบางคนมีความสามารถมาก จบจากที่ดีๆ ก็มีเยอะ เราก็อยากเข้าทำงานในที่ดีๆ เหมือนกัน แค่จะสมัครเข้าเป็นราชการก็มีการแข่งขันกันสูงอยู่แล้ว ยังต้องมาเจอกับคำว่าโรคจิตถาวรอีก ก็เหมือนโดนตัดโอกาสทิ้งไปเลย อยากให้มองว่าเราเป็นบุคคลธรรมดาที่ไม่ไร้ความสามารถอะไรเลย”

ภัทรวรินทร์ เดชดี ช่างแต่งหน้า
“มันก็น่าจะดีกว่าเดิมนะ เพราะว่าแบบเดิมการเกิดมาเป็นสาวประเภทสองก็เหมือนกับเป็นคนโรคจิตวิปริต ไม่เหมาะกับการเกณฑ์ทหาร ในการที่จะผ่าตัดแปลงเพศเนี่ย ก็จะมีการทำ ไซโคเทสต์ (Psycho test) อยู่แล้วว่าพร้อมที่จะเปลี่ยนไปเป็นผู้หญิง แล้วสาวประเภทสองก็มีศักยภาพเหมือนกับชายจริงหญิงแท้ปกติ ใช้คำว่าเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด ก็น่าจะโอเคนะ คิดว่าเป็นคำที่สละสลวยกว่า”

เปรมปรีดา ปราโมช ณ อยุธยา ที่ปรึกษาองค์กรเอเชีย แปซิฟิก ทรานเจนเดอร์ เน็ตเวิร์ก
“จริงๆ แล้วในการเกณฑ์ทหารนั้น เขาพึ่งความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งในตัวบทเรียนหรือเอกสารของ WHO เองก็ตาม ก็ยังระบุว่าคนข้ามเพศนั้นเป็นภาวะทางจิตที่ผิดปกติอยู่ แต่กับชายรักชายหรือหญิงรักหญิงนั้น ทาง WHO ได้ถูกกระตุ้นให้ถอดคำว่าภาวะทางจิตออกไปแล้ว นี่เป็นข้อผิดพลาดระดับสากล ซึ่งคนที่ทำงานในระดับสากลก็พยายามกระตุ้นให้ WHO นิยามตรงนี้เสียใหม่ ในระดับโลคอลนั้น บ้านเรายึดคำอธิบายทางการแพทย์แบบนั้นอยู่ ก็จะเห็นว่าตรงนี้มันคือการกีดกันและเลือกปฏิบัติที่ชัดเจนที่สุด นอกเหนือจากทัศนคติที่ไม่สู้ดีอยู่แล้ว”

“แต่หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงตรงนี้แล้วก็นับเป็นเรื่องที่ดี อันที่จริงกระบวนการเกณฑ์ทหารนั้น ส่งผลกระทบต่อสภาวะทางจิตของสาวประเภทสองอยู่มาก จริงๆ แล้วพิธีกรรมเหล่านั้นนั่นแหละที่ทำให้สาวประเภทสองป่วย”

แอมมี่-กุลชญา เจริญสุข อดีตสมาชิกวงเลดี้บอยแบนด์ วีนัส ฟลายแทรป
“เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด ดูแรงจังเลยเนอะ จริงๆ ก็รู้สึกนิดๆ ว่าทำไมต้องเขียนอะไรขนาดนี้ แต่ถามว่ามันตรงไหม มันตรง แต่บางทีมันก็เป็นเรื่องของจิตใจ เพราะว่าใบนี้มันจะอยู่กับเรา แล้วจะต้องทุกข์ทรมานกับคำเรียกนี้รึเปล่า มันยังมีคำอื่นที่ฟังแล้วรู้สึกดีกว่านี้ อย่างคำว่ากระดูกหน้าอกผิดรูป เราฟังแล้วก็ขำไม่ได้รู้สึกอะไร แต่ยังไงเวลาสมัครงานก็ไม่ได้ใช้ใบนี้สมัคร แค่มันจะรู้สึกแย่ตอนที่ไปเกณฑ์ทหาร เราไปเกณฑ์ทหารก็ไปทำตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด เขาก็เห็นว่าเราไม่เหมาะที่จะเป็นทหารแล้ว ส่วนเรื่องคำที่จะเขียนลงในใบก็เป็นเรื่องของทางผู้หลักผู้ใหญ่เขาที่จะระบุลงไป เพราะถึงยังไงใบนี้ก็ไม่ได้มีผลอะไรกับเรามากมายอยู่แล้ว”

เอกอมร บุญฤทธิ์ เจ้าของธุรกิจส่วนตัว
“มันพูดยากนะ คิดว่ายังฟังดูไม่ค่อยดี น่าจะมีคำที่ดีกว่านี้ อย่างสภาพร่างกายไม่เหมาะกับการเป็นทหาร มันก็จะดูดีกว่า แล้วก็หมายความว่าสภาพร่างกายไม่เหมาะกับการเป็นทหารอย่างเดียว แต่ก็ยังสามารถทำงานอย่างอื่นได้อยู่ ใช้คำนี้มันน่าจะดีกว่า”
 
คนข้ามเพศจะไม่ใช่คนป่วยอีกต่อไป
 
ในประเด็นที่ว่าการเป็นคนข้ามเพศคือคน ป่วยหรือไม่ป่วยนั้น ศ.วิทิต มันตาภรณ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความเห็นว่า ในหลักการคนทั้งโลกเลิกมองคนข้ามเพศเป็นคนป่วยมานานแล้ว ส่วนการเปลี่ยนคำเรียกในกระบวนการเกณฑ์ทหารนั้น ก็ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะถึงอย่างไรคำใหม่ก็ยังดีกว่าคำที่ใช้ดังเดิมมากขึ้น

"ตอนนี้หลายๆ แห่งเปลี่ยนแนวคิดเรื่องนี้หมดแล้ว อย่างองค์การอนามัยโลกที่เมื่อก่อนนั้นถือว่าการเป็นคนข้ามเพศนั้นเป็นเพราะไม่สบาย แต่ตอนนี้ก็เลิกไปแล้ว ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ผมมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญในแง่ของการปฏิบัติ และในมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญไทย (บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน) ก็เปิดช่องอยู่แล้ว เพราะช่วงที่มีการร่างฯ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็เคยเสนอว่าควรใส่ทางเลือกทางเพศเอาไว้ด้วย ซึ่งแม้สุดท้ายจะไม่ได้ระบุไว้โดยตรง แต่ก็ระบุไว้ในเจตนารมณ์ของการร่าง ซึ่งล่าสุดศาลปกครองที่เชียงใหม่ (กรณีห้ามสาวประเภทสองขึ้นเสลี่ยงในงานลอยกระทง) ก็ได้ใช้ประเด็นนี้มาพิจารณาด้วย"

อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนถ้อยคำเช่นนี้ก็ยังถือเป็นการบรรเทาได้ชั่วคราวเท่านั้น ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างถาวร ทางออกที่ดีจริงๆ ก็คือ การมองย้อนกลับไปที่ต้นตอของเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องความเข้าใจของผู้คนที่อาจจะยังสับสนในเรื่องนี้อยู่ และที่สำคัญต้องยึดหลักสิทธิของความเป็นมนุษย์เป็นสำคัญ เพราะนี่ไม่ใช่ความผิดของใคร แต่ถือเป็นเรื่องส่วนตัว
 
"ถ้าจะแก้ปัญหานี้โดยถาวรก็ต้องไปทำที่บัตรประชาชน ถ้าแก้ตรงนี้จะได้ผลในระยะยาว ตอนนี้หลายๆ ประเทศก็สามารถเปลี่ยนบัตรประชาชนตามอัตลักษณ์ทางเลือกทางเพศได้แล้ว แม้แต่ในอาเซียนเอง เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซียก็ยอมรับ แม้แต่ในยุโรป หลายแห่งก็เปลี่ยนจากบุรุษเป็นสตรีให้ พอเรื่องเกี่ยวกับทางการทหาร เขาก็จะถือว่าคนกลุ่มนี้เป็นสตรี ดังนั้นแบบฟอร์มที่ว่าก็ไม่ต้องใช้ไปเลย" ศ.วิทิต กล่าว
 

..........

โลกในปัจจุบัน เป็นโลกที่มีเสรีภาพ ดังนั้นไม่ว่าจะใครเป็นเพศไหน หรือมีรสนิยมแบบใด ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ผิดบาป และแน่นอนว่าทุกคนย่อมมีเกียรติมีศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน ดังนั้นการที่ใครจะเป็นสาวประเภทสองก็ไม่ใช่เรื่องที่จะมาลดทอนความเป็นคนและสิทธิอันพึงมีของเขาลงไป
แต่อย่างไรก็ตาม การแก้และพัฒนาเรื่องนี้เพื่อสร้างความเท่าเทียมด้านสิทธิควรจะมองไปยังการแก้ที่ต้นสายปลายเหตุ ไม่ใช่การแก้เมื่อเกิดปัญหาแบบเฉพาะหน้าอย่างที่ผ่านมา ไม่เช่นนั้นก็คงมีปัญหาใหม่ๆ ตามออกมาเรื่อยๆ และก็ต้องตามแก้กันไปไม่รู้จักจบจักสิ้น และเรื่องของสิทธิความเท่าเทียมก็คงจะเป็นแค่คำที่เอาไว้พูดกันเท่ๆ เท่านั้นเอง.
 

>>>>>>>>>>

……….

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK
กำลังโหลดความคิดเห็น