ศรีสะเกษ-กรรมการสภาการศึกษาโวยลั่น โครงการครูคืนถิ่นทำให้ ร.ร.มัธยมศึกษาขาดแคลนครูมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากครูย้ายออกไปอยู่ ร.ร.ในตัวจังหวัดเป็นจำนวนมาก
วันนี้ (16 พ.ค.) นายวิวัฒน์ รุ้งแก้ว กรรมการสภาการศึกษา กล่าวว่า จากการที่กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการตามโครงการครูคืนถิ่นเพื่อโยกย้ายครูให้กลับมาอยู่ใกล้บ้าน เพื่อขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดการเรียนการสอนนั้น ในส่วนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 28 (สพม.28) ปรากฏว่ามีครูส่งเรื่องขอย้ายเข้ามาจำนวนทั้งสิ้น 180 กว่าคน โดยเกือบทั้งหมดเป็นการย้ายจากโรงเรียนเล็กที่ครูขาดแคลนอยู่แล้ว เข้ามาสู่โรงเรียนใหญ่ประจำจังหวัด ทำให้โรงเรียนใหญ่ประจำจังหวัดมีครูย้ายเข้ามาอยู่มาก บางที่ได้มามากก็มากจนเกินไป และได้ครูไม่ตรงวิชาเอกที่ต้องการ
ส่วนโรงเรียนขนาดเล็ก ปกติก็ขาดแคลนครูอยู่แล้ว แต่เวลานี้ต้องขาดแคลนครูมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม บางโรงเรียนมีครูอยู่ 10 กว่าคน พอครูย้ายออกก็เหลือครูเพียง 7-8 คน บางโรงเรียนมีครูย้ายออกในคราวเดียวกันถึง 9 คน เดิมทีครูขาดอยู่แล้ว 4 คนก็จะกลายเป็นขาดครู 13 คน ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพการจัดการศึกษาที่มีนโยบายว่า จะให้คุณภาพการศึกษาใกล้เคียงกันทุก โรงเรียน โครงการนี้จะเป็นการซ้ำเติมให้โรงเรียนเล็กยิ่งขาดแคลนครูมากยิ่งขึ้น
นายวิวัฒน์กล่าวต่อไปว่า ในขณะเดียวกัน การย้ายครูคืนถิ่นเพื่อให้ครูทำงานใกล้บ้าน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเขตประถมศึกษาหรือเขตมัธยมศึกษาได้ทำหน้าที่อยู่แล้ว โดยดูจากคำร้องขอย้าย และดูจากภูมิลำเนาของครูที่ขอย้าย แต่การย้ายทำได้จำกัดเพราะมีอัตราตำแหน่งว่างน้อยมาก ซึ่ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา หากย้ายครูออกจากโรงเรียนใดก็จะเติมครูเข้าไปที่โรงเรียนนั้นไม่ให้ขาดแคลน แต่โครงการครูคืนถิ่นที่แจ้งออกมาให้เขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการนั้น เป็นการตัดโอนตำแหน่งตามตัว โดยที่โรงเรียนที่มีครูย้ายออกจะไม่มีครูย้ายเข้าไปแทน ขาดแคลนอยู่แล้วก็ขาดแคลนยิ่งขึ้น ตนจึงอยากเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการนำกฎหมายกระจายอำนาจที่ให้แต่ละเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งรู้ข้อมูลของโรงเรียนเป็นอย่างดีเป็นคนดำเนินการ
ส่วนโครงการครูคืนถิ่นที่มีการจัดที่กรุงเทพฯ ก็ไม่รู้ข้อมูลที่แท้จริง บางทีส่งครูวิชาเอกเดียวกันไปที่โรงเรียนเดียวกัน 7-8 คน ซึ่งเกินความต้องการ แต่ว่าโรงเรียนทุกวันนี้จัดการเรียนการสอน โดยสอนตามวิชาเอกของครูที่จบมา เพราะฉะนั้น การได้ครูไปมากวิชาเอกเดียวกันซ้ำๆ ไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด มีครูมากก็เหมือนไม่มี ถ้าให้ครูกระจายอยู่ตามโรงเรียนที่ขาดแคลนจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษามากกว่านี้
กรรมการสภาการศึกษากล่าวต่อไปว่า ในส่วนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 28 (สพม.28) มีครูขาดอยู่ประมาณ 100 กว่าคน แต่เรื่องครูขาดนี้ คือไม่มีอัตราตำแหน่งให้บรรจุ แต่ถ้ามีเลขที่ตำแหน่งว่าง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 28 (สพม.28) ก็จะพิจารณาบุคคลที่บรรจุก่อนเพื่อให้ทำงานใกล้บ้าน แล้วจึงจะบรรจุคนที่บรรจุทีหลังไปอยู่โรงเรียนที่มีครูย้ายออก เช่นที่โรงเรียนศรีรัตนะวิทยา อ.ศรีรัตนะ จ.ศรีสะเกษ เดิมมีครูขาดเกณฑ์ 4 คน ขาดเกณฑ์คือมีครูน้อยกว่าที่ควรจะมีตามสัดส่วนครูกับนักเรียน ปรากฏว่าในการย้ายตามโครงการครูคืนถิ่นนี้ มีครูย้ายออก 9 คนก็จะกลายเป็นขาดแคลน 13 คน ซึ่งถือว่าเป็นการขาดครูรุนแรง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต28 (สพม.28) เองคงไม่มีการจัดอัตรากำลังไปทดแทน เพราะว่าไม่มีอัตรากำลังเหลืออยู่
นายวิวัฒน์ยังกล่าวด้วยว่า แต่เรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แจ้งมาว่า ถ้าโรงเรียนใดมีครูย้ายออกมากจนมีครูขาดแคลนเกิน 30% ให้ทำเรื่องไปที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะจัดเงินมาจ้างครูสอนเป็นการชั่วคราว ตนจึงมีความเห็นว่าเด็กนักเรียนในโรงเรียนที่ห่างไกลไม่มีสิทธิ์เรียนกับครูประจำการ กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายว่าจะให้มีครูทั่วถึงทุกโรงเรียน แต่ว่าลูกชาวบ้านให้ไปเรียนโรงเรียนเล็ก แล้วไม่มีครูประจำการสอน ต้องไปเรียนกับครูอัตราจ้างชั่วคราว ตนเห็นว่า โรงเรียนใดครูลุกจากเก้าอี้ ควรจะมีครูเติมเข้าไป เพื่อให้การจัดการศึกษาเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีคุณภาพต่อไป