xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรศรีสะเกษโวยจี้ รบ.จ่ายค่า “หอมแดง”- ผลสอบซื้อรอบแรกละลายงบฯ ทิ้ง 300 ล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดง อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ  เข้าลงชื่อรับการตรวจสอบการนำหอแดงขายเข้าโครงการแก้ปัญหาราคาหอมแดงฤดูการผลิต ปี 2554/2555 ของรัฐบาล รอบ 2 ยังไม่ได้รับเงิน วันนี้ ( 6 พ.ค.)
ศรีสะเกษ - เกษตรกรศรีสะเกษ โวยจี้รัฐบาลจ่ายเงินค่ารับซื้อหอมแดงรอบ 2 เผยเดือดร้อนหนักลูกหลานใกล้เปิดเทอม ขณะ กก.ตรวจสอบหอมแดงเน่า “อคส.” ระบุการรับซื้อรอบ 2 งบฯ 1,200 ล้าน ยังไม่สมบูรณ์ต้องรอ คชก. ชี้ขาด ส่วนความคืบหน้าตรวจสอบหอมแดงเน่าทั้งหมดใกล้แล้วเสร็จ พบโครงการฯ รอบแรกละลายงบฯ ทิ้ง 300 ล้าน สูญเกือบทั้งหมด ทั้งเน่าเสียและล่องหน เชื่อทุจริตเวียนเทียนเข้าโครงการฯ อื้อ

วันนี้ (6 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณวัดพระธาตุบึงบอน ต.บึงบอน อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบการบริหารจัดการหอมแดงตามโครงการแก้ไขปัญหาราคาหอมแดงฤดูการผลิต ปี 2554/2555 ทั้งระบบ ขององค์การคลังสินค้า (อคส.) จ.ศรีสะเกษ ตามคำสั่งของคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ที่ 1/2555 ลงนามโดย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ได้เปิดให้เกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงที่นำเอาหอมแดงมาขายให้แก่องค์การคลังสินค้า ตามโครงการฯรอบที่ 2 (รัฐบาลอนุมัติงบประมาณดำเนินโครงการฯรอบที่สอง 1,265 ล้านบาท) ได้ลงชื่อว่า มีการนำเอาหอมแดงมาขายรอบ 2 แล้ว และเก็บรักษาไว้ที่บ้านเรือนของตัวเอง

ทั้งนี้ เพื่อที่คณะอนุกรรมการฯ จะได้ไปทำการตรวจสอบว่ามีหอมแดงที่ขายให้แก่องค์การคลังสินค้ารอบ 2 แล้วมีเก็บไว้ที่บ้านจริง ปรากฏว่า มีกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงในเขต อ.ยางชุมน้อย มาลงชื่อเพื่อให้มีการตรวจสอบกันจำนวนมาก โดยก่อนหน้านี้ มีหอมแดงที่องค์การคลังสินค้ารับซื้อจากเกษตรกร จ.ศรีสะเกษ ไปแล้วในรอบแรก ด้วยงบประมาณ 324.5 ล้านบาท (เป็นงบฯ ซื้อ 295 ล้านบาท ค่าดำเนินการ 29.5 ล้านบาท) และนำเอาหอมแดงไปเก็บไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ จำนวน 43 แห่ง และมีปัญหาหอมแดงเกิดการเน่าเสียเบื้องต้นประมาณกว่า 10,000 ตัน จากทั้งหมดประมาณ 26,000 ตัน

นางอัญชลี สีหะวงษ์ อายุ 42 ปี อยู่บ้านเลขที่ 241/2 บ้านยางชุมน้อย ต.ยางชุมน้อย อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ตนได้นำเอาหอมแดงจำนวน 4 ตัน ไปขายให้แก่องค์การคลังสินค้า โดยขายหอมแดงเป็นรอบที่ 2 เมื่อวันที่ 2 มี.ค.55 ที่ผ่านมา มีหลักฐานการซื้อขายถูกต้องตามขั้นตอนขององค์การคลังสินค้าทุกอย่าง แต่ปรากฏว่า ขณะนี้เวลาผ่านมานานแล้วยังไม่ได้รับเงินค่ารับซื้อหอมแดงรอบ 2 จากองค์การคลังสินค้าแต่อย่างใด

ทำให้ตนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากขณะนี้ลูกหลานใกล้จะเปิดเทอมเรียนหนังสือแล้ว และจะต้องนำเงินไปใช้จ่ายเป็นค่าเสื้อผ้าเครื่องแบบนักเรียน และค่าสมุดหนังสือเรียน รวมทั้งเป็นเงินให้ลูกไปเป็นค่าอาหารในการไปเรียนหนังสือทุกวันด้วย จึงขอวอนไปยังรัฐบาล และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เร่งรัดการจ่ายเงินค่ารับซื้อหอมแดงรอบ 2 ให้แก่พวกเราโดยด่วนด้วย เพราะขณะนี้กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก

ทางด้าน นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบการบริหารจัดการหอมแดงตามโครงการแก้ไขปัญหาราคาหอมแดงฤดูการผลิต ปี 2554/2555 ทั้งระบบ ขององค์การคลังสินค้า จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ขณะนี้การตรวจสอบหอมแดงยังไม่ครบทั้งหมด ดำเนินการไปแล้วประมาณ 80% ของกระบวนการรับซื้อ และจัดเก็บรักษาหอมแดงทั้งหมดจำนวน 43 แห่ง ของโครงการแทรกแซงแก้ไขปัญหาราคาหอมแดง จ.ศรีสะเกษ รอบแรก ซึ่งผลปรากฏออกมาตามที่ได้ประเมินทุกวันพบว่า มีปริมาณหอมแดงสูญหายไปกว่า 60% ทั้งที่หายไปจากโกดังสถานที่จัดเก็บไว้ รวมทั้งน้ำหนักหอมแดง และจำนวนถุงบรรจุหอมแดงที่สูญหายไปด้วย

ฉะนั้น ความเสียหายที่เกิดจากโครงการแทรกแซงแก้ไขปัญหาราคาหอมแดง จ.ศรีสะเกษรอบแรกของรัฐบาลครั้งนี้ เมื่อรวมทั้งปริมาณหอมแดงที่สูญหายล่องหนไป ประมาณ 60% และหอมแดงที่เหลืออยู่แต่เกิดเน่าเสียเกือบ 100% เพราะนำไปขายให้ใครไม่ได้ คงทำได้แค่ปุ๋ย นั้น เท่ากับว่ารัฐต้องสูญงบประมาณไปแบบสูญเปล่า ถึงจำนวน 295 ล้านบาท ในเวลาเพียงไม่กี่วัน

โดยขณะนี้จากการตรวจสอบหอมแดงตามสถานที่ที่เก็บรักษาหอมแดงทุกแห่งทั้ง 43 แห่ง ดังกล่าว พบว่า อาจจะมีการทุจริตหมุนเวียนนำหอมแดงเข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งจากการที่ไปตรวจสอบตามคลังสินค้าของ อคส. ที่มีการเก็บรักษาหอมแดงไว้ เห็นชัดเจนว่า ไม่มีของอยู่จริงตามที่ระบุ เช่น ที่วัดพระธาตุบ้านบอน บอกว่า มีหอมแดงบรรจุถุงอยู่จำนวน 15,000 ถุง แต่นับเสร็จแล้วมีอยู่แค่ประมาณ 5,000 ถุง แสดงว่าหายไปประมาณ 10,000 ถุง ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบว่าหอมแดงที่เก็บไว้หายไปอยู่ที่ใด

“หลังจากส่งผลสรุปการตรวจสอบให้ คชก.ชุดใหญ่ทราบแล้ว คณะกรรมการฯ จะตัดสินประการใด จะให้ดำเนินการอย่างไรก็ขึ้นอยู่ คชก. เพราะการดำเนินการโครงการฯ เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์การคลังสินค้า ซึ่งการตรวจสอบคงเหลืออีกประมาณไม่เกิน 10 แห่ง ในเขต อ.ยางชุมน้อย โดยในวันนี้น่าจะตรวจสอบแล้วเสร็จ เพราะยังเหลืออีก 2 อำเภอเล็กๆ อีกประมาณ 6 จุดเท่านั้น ” นายอุบลศักดิ์ กล่าว

นายอุบลศักดิ์ กล่าวต่อว่า การที่เกษตรกรเรียกร้องขอให้จ่ายเงินการขายหอมแดงรอบที่ 2 ก่อน เนื่องจากมีความเดือดร้อนนั้น ตนมีความเข้าใจเกษตรกรแต่ภาระหน้าที่ของตนในครั้งนี้คือ ต้องมาตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้วสรุป เมื่อสรุปเสร็จแล้วคณะกรรมการ คชก.ชุดใหญ่ จึงจะมีมติว่า จะดำเนินการต่อ หรือให้ชะลอโครงการไว้ก่อน ไม่ใช่การยุติโครงการ อีกทั้งโครงการรอบ 2 นี้มีการอนุมัติเงินมาแล้วจำนวน 1,265 ล้านบาท ฉะนั้น นโยบายนี้มีเงินอยู่แล้ว แต่การดำเนินงานจะต้องให้องค์การคลังสินค้า หรือหน่วยงานที่จะทำต่อไปต้องทำแผนชัดเจน โดยต้องไปทำแผนงานว่า จะซื้อขายอย่างไร จะเก็บรักษาอย่างไร ให้ครบสูตรแล้วจึงจะอนุมัติให้ดำเนินการต่อไปได้

ดังนั้น เกษตรกรยังไม่ควรไปเร่งรัดการจ่ายเงินโครงการฯรอบ 2 เพราะขณะนี้นิติกรรมยังไม่เกิดขึ้น โดยอีกฝ่ายหนึ่ง (เกษตรกร) แจ้งว่าดำเนินการซื้อขายหอมแดงแล้ว แต่อีกฝ่ายหนึ่ง (อคส.) บอกยังไม่มีการเซ็นเอกสารรับซื้อเลย ซึ่งจะต้องดูเอกสารสัญญาทั้งสองฝ่ายว่า ฝ่ายไหนถูกต้อง แต่หากมีเอกสารยืนยันว่าเจ้าหน้าที่องค์การคลังสินค้าไปเซ็นยืนยันว่ารับซื้อหอมแดงจากเกษตรกรแล้ว องค์การคลังสินค้าก็ต้องรับผิดชอบ แต่หากยังไม่เซ็นยืนยัน องค์การคลังสินค้าได้แจ้งในที่ประชุมว่า เงินยังไม่อนุมัติยังรับซื้อไม่ได้ แต่ได้มีการเตรียมการของคณะทำงานชุดหนึ่งขึ้นมาไว้แล้ว

ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวตนเห็นว่า นิติกรรมยังไม่สมบูรณ์ นิติกรรมยังไม่เกิดขึ้น เพียงแต่อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการจะซื้อจะขาย แต่ยังไม่ถึงขั้นมีการตกลงซื้อขายชัดเจน นิติกรรมก็ยังไม่เกิดขึ้น แต่ตนเห็นใจว่าชาวบ้านเดือดร้อนจริง หากมีอยู่จริงรัฐต้องช่วย ช่วยอย่างไรต้องพิจารณากันอีกครั้งหนึ่ง




นายอุบลศักดิ์  บัวหลวงงาม
นางอัญชลี   สีหะวงษ์  เกษตรกรปลูกหอมแดง
หอมแดงเน่า 300 ล้าน ผลงานแก้ปัญหาราคาหอมเดงตกต่ำของรัฐบาล ปูนิ่ม
กำลังโหลดความคิดเห็น