xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำยม ประกาศซ้ำ-จี้รัฐล้มเขื่อน-เลิกเหมือง/หนุนชุมชนจัดการน้ำแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เครือข่ายลุ่มน้ำยม จี้รัฐยุติโครงการใหญ่ทั้งลุ่มน้ำ ล้มเขื่อน-เลิกสัมปทานเหมืองแร่ พร้อมหันมาหนุนการจัดการน้ำโดยชุมชน พัฒนาแหล่งน้ำในทุ่งราบน้ำยมแทน และเรียกร้องให้รัฐบาลจัดงบหนุน อปท.ทำแผนจัดการน้ำในชุมชน แก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งอย่างยั่งยืน

รายงานข่าวจากจังหวัดแพร่ แจ้งว่า ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำยม ทั้งพะเยา แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก ได้เปิดเวทีหารือถึงแนวทางการจัดการลุ่มน้ำยม ขึ้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ยม จ.แพร่ โดยมีการพูดคุยกันถึงการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศโลก ได้ก่อให้เกิดความผันผวนของธรรมชาติ เกิดสภาวะน้ำท่วม น้ำแล้ง หมอกควันไฟ ฤดูการเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบต่อวิถีความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก รวมทั้งกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและสิ่งแวดล้อมของมวลมนุษยชาติ

จากนั้นได้นำข้อสรุปที่ได้ออกเป็นคำประกาศของเครือข่าย ว่า จะร่วมมือกัน ปกป้อง รักษา และดูแลป่า ฟื้นฟูสภาพป่า เพื่อนำสมดุลธรรมชาติกลับคืนมาสู่ลูกหลาน เช่น การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การไม่ตัดไม้ทำลายป่า การฟื้นฟูป่าไม้ การอนุรักษ์ป่า การปลูกป่าเสริม การปกป้อง พิทักษ์ รักษา และการจัดการป่า โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม นับเป็นแนวทางสำคัญที่จะฟื้นฟูเสถียรภาพของระบบนิเวศน์ ให้กลับคืนมาสู่สมดุล อย่างยั่งยืน

พร้อมกับจะร่วมกันฟื้นฟูและพัฒนาแนวทางการจัดการน้ำชุมชน โดยอาศัยแนวทางของนิเวศวัฒนธรรม ภูมิปัญญาชาวบ้านและชุมชนเป็นสำคัญ เช่น ระบบเหมืองฝายโบราณ ทำฝายชะลอน้ำ เหมืองฝายขนาดเล็ก แหล่งกักเก็บน้ำโดยชุมชน สนับสนุนให้มีการจัดการน้ำขนาดกลาง และขนาดเล็กโดยชุมชน ในรูปแบบของ "หนึ่งตำบล หนึ่งแหล่งกักเก็บน้ำ"

และเครือข่ายอนุรักษ์ฯลุ่มน้ำยม จะรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายลุ่มน้ำยมจะมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำอย่างต่อเนื่อง และขยายการเรียนรู้ไปยังพื้นที่อื่น เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนลุ่มน้ำยมในการจัดการลุ่มน้ำ

นอกจากนี้ เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ลุ่มน้ำยม ยังมีข้อเสนอต่อรัฐ -รัฐบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนี้

1.ให้ประชาชน ชุมชนท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่าและสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอน อย่างแท้จริง เช่น การวิเคราะห์ปัญหา การทำแผนงาน การกำหนดพื้นที่ในการพัฒนา

2.ให้มีการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำยมอย่างเป็นระบบ โดยการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคีทุกภาคส่วน และมีความสอดคล้องเหมาะสมกับภูมินิเวศของท้องถิ่น โดยการใช้แนวคิดการจัดการน้ำชุมชน ให้เป็นแผนแม่บทในการจัดการน้ำเป็นหลัก ใช้แนวทางทางภูมินิเวศวิทยา การจัดการน้ำแบบใหม่ และการพัฒนาที่ยั่งยืน มองภาพรวมการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำทั้งระบบ โดยมีชุมชนเป็นแกนหลักในการพัฒนาแผนการจัดการน้ำของแต่ละชุมชน เน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการวางแผน และสนับสนุนงบประมาณในการผลักดันแผนการจัดการน้ำชุมชนให้เป็นรูปธรรม

3.ให้รัฐบาลยุติโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำยม เช่น ยุติการให้สัมปทานเหมืองแร่ ยุติการสร้างเขื่อน และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เขื่อนห้วยสัก เป็นต้น

4.ให้รัฐบาลสนับสนุนการจัดการน้ำโดยชุมชน การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง และขนาดเล็กที่มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และระบบภูมินิเวศวัฒนธรรม การสนับสนุนให้เกิดการฝายต้นน้ำ ฝายทดน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ บ่อ หรือ สระน้ำในไร่นา รวมทั้งระบบเหมืองฝายที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น ส่งเสริมให้เกิดแผนการกักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขา ซึ่งลุ่มน้ำยม มีลำน้ำสาขาถึง 77 สาขา รวมทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มแม่น้ำยม รวมทั้งผลักดันและสนับสนุนท้องถิ่นในการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ หนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งกักเก็บน้ำ หนึ่งชุมชนหนึ่งแหล่งกักเก็บน้ำ เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยหม้าย จ.แพร่ เป็นต้น

5.ให้รัฐบาลฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำยม พื้นที่ชุมน้ำ ในลุ่มน้ำยม เช่น การขุดลอกแม่น้ำ บึง หนองน้ำ ที่ตื้นเขิน การขุดลอกและพัฒนาอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ เพื่อขยายพื้นที่กักเก็บน้ำ และพื้นที่รับน้ำ โดยคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศน์เป็นสำคัญ

6.ให้ อปท. จัดทำแผนการจัดการน้ำในชุมชน ทั้งแผนแผนระยะสั้น และแผนระยะยาว โดยให้รัฐสนับสนุนงบประมาณเพื่อนำแผนการจัดการน้ำชุมชนนำไปสู่รูปธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ

7.ให้ อปท. สนับสนุนงบประมาณ และกองทุนชุมชน ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า และสิ่งแวดล้อมของชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ

และ 8.ให้ อปท. โดยการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการจัดการป่าชุมชน การกำหนดแนวเขตป่า การออกกฎระเบียบในการดูแลรักษา
กำลังโหลดความคิดเห็น