ศรีสะเกษ - คณะอนุกรรมการตรวจสอบโครงการแทรกแซงราคาหอมแดง คชก.ลงพื้นที่ศรีสะเกษ ลุยตรวจสอบความบกพร่องไม่โปร่งใสของ “อคส.” ในการรับซื้อหอมแดงจากเกษตรกร 4 เดือน เน่าเสียละลายงบฯ ทิ้งหลายร้อยล้าน เผยพิรุธส่อทุจริตชัด พบนำหอมแดงมาเวียนเทียนเข้าโครงการ และมีการลักลอบเข้ามาขนย้ายหอมแดงจากสถานที่จัดเก็บของ อคส.ออกไปขายต่อ
วันนี้ (29 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบโครงการแทรกแซงราคาหอมแดงของกระทรวงพาณิชย์ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) และคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความบกพร่องไม่โปร่งใสในการบริหารงานขององค์การคลังสินค้า (อคส.) กระทรวงพาณิชย์ ในการรับซื้อหอมแดงจากเกษตรกร จ.ศรีสะเกษ มาจัดเก็บไว้ตามสถานที่ต่างๆ และเกิดการเน่าเสียจำนวนมาก โดยมีนายประทีป กีรติเรขา ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ และคณะ ให้การต้อนรับ พร้อมชี้แจงให้ข้อมูล และอำนวยความสะดวก
โดยจุดแรก นายอุบลศักดิ์ และคณะได้เดินทางเข้าตรวจสอบการจัดเก็บหอมแดงที่วิทยาลัยการอาชีพศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ เพื่อตรวจสอบว่าหอมแดงยังอยู่ในสภาพตามที่ทาง อคส.รายงานไปจริงหรือไม่ ตามปริมาณที่คงเหลือในสถานที่จัดเก็บ การจัดเก็บถูกต้องตามวิธีหรือไม่ และปริมาณความเสียหายที่เกิดขึ้นมีจำนวนเท่าใด ซึ่งได้ร่วมกับช่างตวงวัด กรมวิชาการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ เข้าตรวจสอบหาปริมาตรความเสียหายว่ามีความเสียหายไปเท่าไร
จากการตรวจวัดหาปริมาตรความเสียหายของหอมแดงเป็นลูกบาศก์เมตร พบว่า ความเสียหายโดยเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 75 ของหอมแดงที่รับซื้อในโครงการแทรกแซงราคาในรอบแรกกว่า 36,000 ตัน ซึ่งที่ผ่านมาเคยระบุว่าเสียหายไปแล้วกว่า 1 หมื่นตัน ก่อนนำไปเก็บไว้ที่แปลงเกษตรของวิทยาลัยเกษตรกรรมและเทคโนโลยีศรีสะเกษ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเรื่องกลิ่นเน่าเหม็นให้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง
จากนั้น คณะของนายอุบลศักดิ์ได้เดินทางเข้าตรวจสอบหอมแดงเน่าเสียของ อคส.ที่ขนออกมาทิ้งไว้เป็นกองมหึมา ที่แปลงเกษตรของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ เพื่อเตรียมนำไปทำปุ๋ยหมัก โดยได้ทำการวัดความกว้าง ยาว สูงโดยเฉลี่ย พร้อมชั่งน้ำหนักตรวจสอบหาปริมาตรของหอมแดงด้วยการสุ่มเอากระสอบหอมแดงแต่ละจุด ทั้งที่มีชื่อ และไม่มีชื่อของเกษตรกร รวมทั้งหอมแดงเน่าเอามาชั่งหาค่าเฉลี่ย
นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบโครงการแทรกแซงราคาหอมแดงของกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้พบข้อพิรุธหลายอย่าง เช่น การกรอกกระสอบหอมแดง โดยปกติจะมีการบรรจุหอมแดงกระสอบละ 22 กิโลกรัม (กก.) แต่จากการสุ่มชั่งน้ำหนัก พบว่า มีบางกระสอบรวมความเน่าเสียหายแล้วมีน้ำหนักแค่ 3 กก.เท่านั้น และยังพบความผิดปกติว่าบางกระสอบไม่มีรายชื่อของเกษตรกรบรรจุอยู่ภายในกระสอบ จึงได้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีการนำหอมแดงกลุ่มนี้ไปเวียนเทียนเข้าโครงการฯ หลายรอบในการรับซื้อที่ผ่านมา ซึ่งจะได้สรุปความผิดปกติโดยรวมในพื้นที่คลังสินค้าขององค์การคลังสินค้าในเขต อ.เมืองศรีสะเกษ กว่า 6 จุด เพื่อรายงานต่อที่ประชุมใหญ่ของคณะกรรมการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง
“นับเป็นความล้มเหลวขององค์การคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นอย่างมาก ที่ทำให้รัฐสูญเสียเงินงบประมาณไปหลายร้อยล้านบาท ซึ่งจะต้องมีการสอบเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่ปล่อยให้เกิดปัญหาดังกล่าว แต่คณะเราเป็นเพียงผู้ตรวจสอบ และต้องรายงานผลต่อที่ประชุมใหญ่ คชก. เท่านั้น” นายอุบลศักดิ์กล่าว
นายอุบลศักดิ์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ จากการตรวจสอบหอมแดงที่ อคส.นำไปฝากเก็บไว้ตามสถานที่ต่างๆ ในเขต อ.เมืองศรีสะเกษนั้น จากการสอบถามผู้เห็นเหตุการณ์ในพื้นที่ ทราบว่ามีการเคลื่อนย้ายหอมแดงขององค์การคลังสินค้าออกไปจากพื้นที่ของวิทยาลัยการอาชีพศรีสะเกษ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ อคส.นำหอมแดงไปฝากเก็บไว้ โดยได้รับการเปิดเผยจาก นายปรัชญา ประดับวิทย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพศรีสะเกษ ว่า มีบุคคลที่อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของ อคส.ได้เข้าไปคัดเลือกหอมแดงที่ยังใช้การได้ที่ อคส.นำมาฝากไว้ที่วิทยาลัยการอาชีพศรีสะเกษ นำหอมแดงไปขายต่อ และเมื่อสอบถามผู้ประสานงานองค์การคลังสินค้าประจำ จ.ศรีสะเกษ ทราบว่าไม่ได้รับการประสานงานเข้ามาเพื่อให้มีการขนย้ายหอมแดงออกจากบริเวณดังกล่าวแต่อย่างใด
อนึ่ง โครงการแทรกแซงราคาหอมแดง จ.ศรีสะเกษ ขององค์การคลังสินค้า (อคส.) กระทรวงพาณิชย์ ดังกล่าว รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณจัดซื้อหอมแดงจำนวน 2 รอบ โดยรอบแรก อนุมัติงบประมาณจำนวน 324.5 ล้านบาท ในวันที่ 23 ธันวาคม 2554 เพื่อให้เข้ารับซื้อพยุงราคาหอมแดงจากเกษตรกรในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ราคา กก.ละ 15 บาท แบ่งเป็นงบประมาณรับซื้อหอมแดงจากเกษตรกร 295 ล้านบาท และค่าดำเนินการจ้างบุคลากร คนงาน การบริหารจัดการหอมแดงอย่างมีคุณภาพ 29.5 ล้านบาท
ส่วนรอบที่ 2 รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณเสริมเพื่อรับซื้อหอมแดงที่ราคาตกต่ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร อีกจำนวน 1,265 ล้านบาท ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2555 ซึ่งในรอบที่ 2 นี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ