ศูนย์ข่าวขอนแก่น - พิษค่าแรง 300 บาทโรงงานผลิตสำลีปั่นหูรายใหญ่ในอาเซียนในบ้านไผ่ ขอนแก่น เตรียมปลดพนักงานก่อนสิ้นปีนี้อย่างน้อย 200 คน หลังแบกรับต้นทุนไม่ไหวพร้อมเล็งย้ายฐานการผลิตเข้าลาวแทน เผยเบื้องต้นแค่เพิ่ม 40 % ต้นทุนค่าแรง ณ สิ้นปี 55 เพิ่มจากเดิมร่วม 13 ล้านบาท หากต้องจ่าย300บาทตั้งแต่ต้นปี 56 แต่ละปีต้องจ่ายเพิ่มถึง 20 ล้านบาท
บริษัท เพิ่มพูนพัฒนาอุตสาหกรรม จำกัด อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ผู้ผลิตสำลีปั่นหูหรือ Cotton bud แบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย ผลิตเพื่อการส่งออกในรูปแบบลูกค้ากำหนด(หรือ OEM)ประมาณ 80 % ที่เหลือผลิตส่งลูกค้าภายในประเทศ เช่น แบรนด์ Ever Green ในคอนวีเนียนสโตร์ 7-11 หรือแบรนด์ที่เป็นของบริษัทเอง ทั้งดีนี่ โบนัส สามพยาบาล ยอดขายปีล่าสุดของบริษัทฯไม่ต่ำกว่า 550 ล้านบาท
นายวุฒิ มณีโชติ ประธานบริษัทเพิ่มพูนพัฒนาอุตสาหกรรม จำกัด เปิดเผยว่าขณะนี้บริษัทฯกำลังศึกษาลู่ทางที่จะย้ายฐานการผลิตไปลงทุนในสปป.ลาว คาดว่าในราวปลายปีนี้น่าจะได้ข้อสรุป ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากการประกาศบังคับใช้นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทของรัฐบาล ซึ่งจังหวัดขอนแก่นต้องปฏิบัติตามตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.56 เป็นต้นไปพร้อมกันทั่วประเทศ
นโยบายดังกล่าวทำให้ต้นทุนค่าแรงของบริษัทฯเพิ่มขึ้นร่วม 20 ล้านบาท/เดือนจากพนักงานที่มีอยู่ทั้งหมดประมาณ 700 คน หากไม่หาทางออกด้วยการย้ายไปสร้างโรงงานในประเทศเพื่อนบ้านแทนโรงงานก็อยู่รอดลำบาก
อย่างไรก็ตาม นายวุฒิ เล่าว่า ผลจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 40 % ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 55 ที่ผ่านมาบริษัทฯก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยเช่นกัน จากเดิมพื้นที่ขอนแก่นค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 167 บาท/วัน เพิ่มเป็น 233 บาท/วัน ค่าแรงที่ต้องจ่ายจนถึงสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นจากเดิมมากถึง 13 ล้านบาท
โดยแผนการแก้ปัญหาขั้นแรกเพื่อลดต้นทุนผลิตสินค้า ภายในปลายปีนี้บริษัทจำเป็นต้องปลดพนักงานออกอย่างน้อย 200 คน พนักงานที่ถูกเลือกให้ออกจะได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานกำหนด
หลังจากลดพนักงานแล้ว ทางโรงงานจะนำเครื่องจักรมาใช้ในกระบวนการผลิตแทนแรงงานคน เป็นเครื่องผลิตสำลีปั่นหูแบบอัตโนมัติ ขณะนี้บริษัทฯกำลังเร่งพัฒนาเครื่องจักรอัตโนมัติดังกล่าวอยู่ และมั่นใจการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการผลิตครั้งนี้จะไม่กระทบกับตลาด ราคาสินค้าก็ไม่ได้ปรับเพิ่ม คุณภาพสินค้าจะดีกว่าเดิม ที่สำคัญจะช่วยให้บริษัทฯลดต้นทุนผลิตได้กว่า 10 ล้านบาท
สำหรับแผนการย้ายไปสร้างโรงงานผลิตสำลีปั่นในสปป.ลาวนั้น นายวุฒิระบุว่าเบื้องต้นน่าจะใช้เงินทุนราว 60 ล้านบาท เป็นโรงงานขนาดกลาง ใช้แรงงานคนเป็นหลักเพราะมีต้นทุนค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าในไทย หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนงานในราวต้นปีหน้าก็น่าจะไปลงทุนได้ ขณะที่สินค้าบางส่วนยังคงผลิตจากโรงงานใน อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่นแต่จะเน้นการผลิตด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติ
ส่วนโรงงานผลิตคอตตอน บัด ในนครย่างกุ้ง ในประเทศพม่านั้นบริษัทเพิ่มพูนพัฒนาฯได้ร่วมทุนกับนักลงทุนท้องถิ่นที่นั่น ที่ผ่านมาผลิตสินค้าเพื่อส่งขายในตลาดพม่าเป็นหลัก แต่ในอนาคตต้องปรับแผนการผลิตใหม่ นอกจากผลิตเพื่อส่งขายภายในพม่าแล้ว คงต้องผลิตเพื่อส่งป้อนให้โรงงานในไทยนำมาต่อยอดส่งตามออร์เดอร์ของคู่ค้า
“แรงงานคนในโรงงานที่บ้านไผ่ เราก็ยังใช้อยู่แต่ไม่มากเท่าเดิม และคงต้องเข้มงวดในเรื่องประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้น หากใครไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับนโยบายใหม่ๆของบริษัทฯได้ ก็คงพิจารณาให้ออก” ประธานกรรมการบริษัทเพิ่มพูนพัฒนาอุตสาหกรรมกล่าว