เอแบคโพลล์ เผยผลสำรวจ “เอสเอ็มอี” ดิ้นลดต้นทุน อาจจะใช้เทคโนโลยีแทนการว่าจ้างแรงงาน เพื่อรับมือนโยบายค่าแรง 300 บาท ผู้ประกอบการกว่า 56% ยังไม่ปรับค่าแรงสนองนโยบายรัฐ 4.4% ยอมปรับขึ้นได้ แต่ต้องปลด พนง.ออก และกว่า 50% เล็งย้ายฐานการผลิต
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ (Social Innovation Management and Business Analysis, ABAC - SIMBA) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ร่วมกับ นายวีรศักดิ์ อนุสนธิวงษ์ นายกสมาคมการบริหารงานบุคคล (PAAs) โดยการสนับสนุนทุนวิจัยของธนาคารกรุงศรีฯ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง เสียงสะท้อนของกลุ่ม SMEs ต่อนโยบายรัฐบาลค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน และผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจ กรณีศึกษาตัวอย่างกลุ่ม SMEs ทั่วประเทศ จำนวน 715 บริษัท ค่าความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 6-9 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา โดยผลสำรวจทั้งหมดนี้สามารถดึงข้อมูลได้ทั้งหมดที่ www.abacpolldata.au.edu
ผลการสำรวจพบว่า ตัวอย่างเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 56.9 ยังไม่ปรับค่าแรงขั้นต่ำสนองต่อนโยบายรัฐบาล ร้อยละ 38.7 ระบุปรับค่าแรงขั้นต่ำสนองต่อนโยบายรัฐบาล โดยไม่มีการปลดพนักงานออก ในขณะที่ ร้อยละ 4.4 ระบุปรับค่าแรงขั้นต่ำสนองตอบนโยบายรัฐบาล แต่ต้องปลดพนักงานบางส่วนออก
เมื่อสอบถามถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อธุรกิจ จากนโยบายการขึ้นเงินเดือน พบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 89.0 ระบุทำให้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น รองลงมา หรือร้อยละ 70.8 ระบุกังวลว่าจะส่งผลกระทบในทางลบต่อการทำธุรกิจ ร้อยละ 70.8 เท่ากันระบุการขยายตัวลดลงของเศรษฐกิจในประเทศโดยภาพรวม ร้อยละ 68.5 ระบุความเชื่อมั่นต่อการเข้ามาลงทุนของชาวต่างชาติลดลง
ขณะที่ร้อยละ 67.8 ระบุว่า ทำให้ได้แรงงานที่มีคุณภาพดีขึ้น ร้อยละ 62.9 ระบุการส่งออกลดลง ร้อยละ 62.1 การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ร้อยละ 61.5 ระบุจำนวนแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 59.6 ระบุการจ้างงาน แรงงานไทยลดลง/เลิกจ้าง และที่น่าพิจารณาคือตัวอย่างเกินกว่าครึ่ง หรือร้อยละ 57.3 จะมีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
ประเด็นที่น่าพิจารณา คือ เมื่อถามถึงการปรับตัวของธุรกิจ จากนโยบายการขึ้นเงินเดือน พบว่า ตัวอย่างเกือบ 3 ใน 4 หรือร้อยละ 72.3 ระบุมีการปรับระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เน้นคุณภาพมากขึ้น ร้อยละ 66.7 ระบุมีการจัดทำแผนเพื่อพัฒนา ความรู้ ทักษะพนักงานให้มีมากขึ้น ร้อยละ 65.6 ระบุมีการหาตลาดเพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 63.4 ระบุมีการปรับโครงสร้างฐานเงินเดือน
สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ กลุ่ม SMEs เกือบครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 48.4 ระบุอาจจะใช้เทคโนโลยีแทนการว่าจ้างแรงงาน ร้อยละ 30.9 ระบุยอมขาดทุนกำไร ร้อยละ 18.0 ระบุจะลดต้นทุนโดยการจ้างแรงงานต่างด้าวมาทดแทนแรงงานไทย ร้อยละ 12.2 ระบุจะย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ร้อยละ 8.4 ระบุจะเปลี่ยนไปทำธุรกิจอย่างอื่น และร้อยละ 3.2 ระบุจะหยุด/เลิกกิจการ
ส่วนข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาล ได้แก่ ร้อยละ 64.9 อยากให้มีการปรับค่อยเป็นค่อยไป ในกลุ่มที่มีความพร้อมก่อน ร้อยละ 21.8 อยากให้มีการลดภาษีรายได้นิติบุคคลลงมากกว่าที่เป็นอยู่ ร้อยละ 8.4 อยากให้รัฐบาลจัดอบรมเฉพาะทางให้กับ SMEs เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน และร้อยละ 4.9 ระบุการหักคืนภาษี
โดยจากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 62.0 ประกอบธุรกิจผลิต/อุตสาหกรรม ร้อยละ 16.2 ระบุธุรกิจค้าส่ง ร้อยละ 16.0 ระบุธุรกิจบริการ และร้อยละ 5.8 ระบุธุรกิจค้าปลีก และเมื่อจำแนกตามจำนวนพนักงาน พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 39.8 ระบุไม่เกิน 50 คน ร้อยละ 34.6 ระบุ 51-200 คน ร้อยละ 25.6 ระบุ 201 คนขึ้นไป สำหรับตำแหน่งงานในปัจจุบัน พบว่า ร้อยละ 43.7 ระบุระดับปฏิบัติการ ร้อยละ 34.5 ระบุหัวหน้า ร้อยละ 11.9 ระบุผู้บริหารระดับสูง ร้อยละ 9.9 ระบุเจ้าของกิจการ