xs
xsm
sm
md
lg

วิจัยพบคนไทยหวังเงินเพิ่มจากนโยบายรัฐบาล แต่รถคันแรก บ้านหลังแรก ส่อเหลว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพดล กรรณิกา (แฟ้มภาพ)
ศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน ม.อัสสัมชัญ ร่วมกับ ม.UCSI มาเลเซีย และ ศูนย์วิจัยเชิงสำรวจสถานีวัดบรรยากาศทางสังคม Social Weather Station ฟิลิปปินส์ จับมือสร้างเครือข่ายวิจัยดัชนีผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียน ASEAN CONSUMER INDEX พบคนไทยคาดหวังรายได้เพิ่ม จากค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ปริญญาตรี 15,000 บาท ตามนโยบายรัฐบาล ขณะที่ “รถคันแรก-บ้านหลังแรก” ส่อเค้าเหลว เหตุเศรษฐกิจขาดความเชื่อมั่น ส่งผลดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคตกต่ำ

ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้อำนวยการโครงการ ABAC Consumer Index บัณฑิตวิทยาลัยบริหารธุรกิจ และ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน (ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ร่วมกับ รองศาสตราจารย์ ดร.โต๊ะ เคียน โคก คณบดีคณะธุรกิจและสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัย UCSI มาเลเซีย และ นายโจเซฟ วลาดีเมียร์ รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเชิงสำรวจสถานีวัดบรรยากาศทางสังคม ประเทศฟิลิปปินส์ ร่วมกันแถลงข่าวจับมือสร้างเครือข่ายวิจัยดัชนีผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN CONSUMER INDEX) และผลการศึกษาเบื้องต้นกับกลุ่มเป้าหมายอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยมหาวิทยาลัย UCSI สุ่มตัวอย่างจำนวน 266 ครัวเรือน และศูนย์วิจัยความสุขชุมชนได้เก็บข้อมูลจำนวน 2,179 ครัวเรือนตัวอย่าง ผ่านระเบียบวิธีวิจัยเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น

ผลวิจัยพบว่า ด้านรายได้ส่วนตัวปัจจุบันเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.0 ของตัวอย่างครัวเรือนมาเลเซีย ระบุทรงตัว โดยกว่า 1 ใน 4 หรือร้อยละ 26.3 ระบุดีขึ้น และร้อยละ 10.7 ระบุแย่ลง แต่ในกลุ่มตัวอย่างครัวเรือนประเทศไทย ร้อยละ 51.2 ระบุทรงตัว โดยกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 36.0 ระบุแย่ลง และเพียงร้อยละ 12.8 ระบุดีขึ้น

ส่วนรายได้ส่วนตัวในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ประมาณ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 32.8 ของครัวเรือนมาเลเซียระบุดีขึ้น ร้อยละ 54.6 ระบุทรงตัว และร้อยละ 12.6 ระบุแย่ลง ในขณะที่ตัวอย่างครัวเรือนประเทศไทยร้อยละ 26.8 ระบุดีขึ้น ร้อยละ 53.7 ระบุทรงตัว และร้อยละ 19.5 ระบุแย่ลง

ขณะที่รายได้ของครอบครัวโดยรวมในปัจจุบัน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.5 ของตัวอย่างครัวเรือนในประเทศมาเลเซีย ระบุทรงตัว ร้อยละ 21.8 ระบุดีขึ้น และร้อยละ 13.7 ระบุแย่ลง ในขณะที่ตัวอย่างครัวเรือนประเทศไทยร้อยละ 51.7 ระบุทรงตัว ร้อยละ 19.3 ระบุดีขึ้น และร้อยละ 29.0 ระบุแย่ลง

แต่ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงรายไดของครอบครัวในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ร้อยละ 30.3 ของตัวอย่างครัวเรือนมาเลเซียระบุดีขึ้น ร้อยละ 54.4 ระบุทรงตัว และร้อยละ 15.3 ระบุแย่ลง ในขณะที่ตัวอย่างครัวเรือนประเทศไทยร้อยละ 31.9 ระบุดีขึ้นเช่นกัน ร้อยละ 51.8 ระบุทรงตัว และร้อยละ 16.3 ระบุแย่ลง

สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ร้อยละ 13.0 ของตัวอย่างครัวเรือนมาเลเซีย ระบุดีขึ้น ร้อยละ 44.3 ระบุทรงตัว และร้อยละ 42.7 ระบุแย่ลง ในขณะที่ร้อยละ 34.7 ของตัวอย่างครัวเรือนประเทศไทยระบุดีขึ้น ร้อยละ 36.7 ระบุทรงตัว และร้อยละ 28.6 ระบุแย่ลง

อย่างไรก็ตาม ที่น่าเป็นห่วงสำหรับประเทศไทย คือ เรื่องของราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.5 ของตัวอย่างครัวเรือนประเทศไทยระบุราคาสูงขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 11.7 ระบุเท่าเดิม และเพียงร้อยละ 5.8 เท่านั้นที่ระบุลดลง แต่สำหรับประเทศมาเลเซีย พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 15.6 ระบุลดลง ร้อยละ 23.7 ระบุเท่าเดิม และร้อยละ 60.7 ระบุสูงขึ้น

โดยราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.9 ของตัวอย่างครัวเรือนประเทศไทยระบุราคาสินค้าจะสูงขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 25.0 ระบุเท่าเดิม มีเพียงร้อยละ 5.1 ระบุจะลดลง แต่สำหรับประเทศมาเลเซีย พบว่า ร้อยละ 16.4 ระบุจะลดลง ร้อยละ 29.8 จะเท่าเดิม ร้อยละ 53.8 ระบุจะสูงขึ้น

ด้าน ผลการวิเคราะห์ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เมื่อค่าอ้างอิงความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 100 จุด พบว่า ตัวอย่างผู้บริโภคระดับครัวเรือนของประเทศไทย “มีความเชื่อมั่น” เพียง 3 ตัวชี้วัดได้แก่ รายได้ส่วนตัวในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 107.3 จุด รายได้ของครอบครัวในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 115.6 จุด และสถานการณ์ทั่วไปของเศรษฐกิจและธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 106.2 จุด

อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดที่เหลือของตัวอย่างผู้บริโภคคนไทย “ไม่มีความเชื่อมั่น” จำนวน 9 ตัวชี้วัด ได้แก่ รายได้ส่วนตัวปัจจุบัน อยู่ที่ 76.9 จุด รายได้ของครอบครัว โดยรวมในปัจจุบันอยู่ที่ 90.2 จุด สถานการณ์ทั่วไปของเศรษฐกิจและธุรกิจในปัจจุบันอยู่ที่ 69.5 จุด

นอกจากนี้ ตัวอย่างผู้บริโภคครัวเรือนของประเทศไทยที่ไม่เชื่อมั่นในตัวชี้วัดอื่นๆ อีกได้แก่ การซื้อสินค้าคงทน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ ในปัจจุบันอยู่ที่ 81.2 จุด และในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 81.6 จุด โอกาสหางานทำปัจจุบันอยู่ที่ 37.6 จุด แต่ความเชื่อมั่นในโอกาสในการหางานทำในอีก 3 เดือนข้างหน้าสูงขึ้นอยู่ที่ 51.9 แต่แผนที่จะซื้อรถยนต์คันใหม่อยู่ที่ 31.7 จุด และแผนที่จะซื้อบ้านหลังใหม่หรือที่พักอาศัยใหม่อยู่ที่เพียง 17.7 จุดเท่านั้น ในขณะที่ตัวอย่างผู้บริโภคระดับครัวเรือนในมาเลเซีย มีความเชื่อมั่นในตัวชี้วัดต่างๆ ได้แก่ รายได้ส่วนตัวในปัจจุบันอยู่ที่ 115.6 จุด รายได้ส่วนตัวในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 120.2 จุด รายได้ของครอบครัวโดยรวมในปัจจุบันอยู่ที่ 108.0 รายได้ของครอบครัวโดยรวมในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 114.9 จุด นอกจากนี้ ยังมีแผนจะซื้อรถยนต์คันใหม่อยู่ที่ 109.2 จุด และซื้อบ้านหลังใหม่อยู่ที่ 103.1 จุด ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดที่เหลือต่ำกว่าค่าอ้างอิงหรือกล่าวได้ว่าอยู่ในระดับที่ “ไม่เชื่อมั่น” ได้แก่ สถานการณ์ทั่วไปของเศรษฐกิจในปัจจุบัน การซื้อสินค้าคงทน เครื่องใช้ไฟฟ้า โอกาสหางานทำในปัจจุบันและโอกาสหางานทำในอีก 3 เดือนข้างหน้า ตามลำดับ

ดร.นพดล กล่าวว่า ASEAN CONSUMER INDEX ที่จัดทำขึ้นนี้เป็นการเก็บข้อมูลภายในประเทศ และเป็นการก้าวสู่ความร่วมมือระดับภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ ประเทศฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการใช้เป็นข้อมูลอ้างอิง เพื่อการตัดสินใจเกี่ยวกับการร่างนโยบายสาธารณะของภาครัฐ ตลอดจนช่วยในการตัดสินใจทางธุรกิจของภาคเอกชน โดยข้อมูลที่ทำการสำรวจจะเป็นข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำและเชื่อถือได้ นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติและความคาดหวังของผู้บริโภค เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจในการบริโภคสินค้าและบริการอย่างเหมาะสมอีกด้วย

ด้าน ดร.อุดม กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในส่วนของประเทศไทยที่อยู่ในระดับเชื่อมั่นในส่วนของ “รายได้” ในอีก 3 เดือนข้างหน้าทั้งที่เป็นรายได้ส่วนตัว กับรายได้ของครอบครัว น่าจะเป็นผลที่ประชาชนคาดหวังว่าจะได้รับจากนโยบายของรัฐบาลทั้งในค่าจ้างแรงงาน 300 บาทต่อวันและปริญญาตรี 15,000 บาทต่อเดือน

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงแผนการใช้จ่ายซื้อรถ ซื้อบ้านยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ซึ่งทำให้เห็นว่า คนไทยยังคงขาดความเชื่อมั่นอย่างมาก ถ้าไม่มีความหวังต่อนโยบายของรัฐบาลอาจส่งผลทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่ำกว่าค่าอ้างอิงมาตรฐานทุกตัวชี้วัด
กำลังโหลดความคิดเห็น