ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ประธานสภาอุตฯขอนแก่นเผย เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 40% ผู้ประกอบการยังพอรับได้แม้ต้องเฉือนเนื้อไปโปะค่าจ้าง แต่หลัง 1 มกราคม 56 ภาคอุตสาหกรรมภูธรกระทบหนัก โรงงานหลายแห่งเตรียมย้ายฐานไปประเทศเพื่อนบ้าน บางแห่งจ่อคิวเลิกจ้างแล้วเปลี่ยนเป็นจ้างเหมาผลิตแทนเพื่อลดต้นทุน ทั้งไม่ต้องแบกภาระด้านสวัสดิการ-โอที ขณะที่ธุรกิจ SMEs ถึงคราวอวสาน แนะจับตาวิกฤตปัญหาคนว่างงาน
นายวิฑูรย์ กมลนฤเมธ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการธุรกิจในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นภายหลังต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้แก่พนักงานลูกจ้างเพิ่มขึ้นอีก 40% จากเดิมค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 167 บาท ขยับขึ้นเป็น 233 บาทตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมาว่า ณ ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบที่รุนแรงนัก เนื่องจากผู้ประกอบการได้เตรียมรับมือไว้ล่วงหน้าแล้ว อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 40 ดังกล่าวภาคเอกชนพอรับได้ แม้ต้องรับผลกำไรหรือรายได้จากผลประกอบการลดลงเพราะต้องจัดสรรบางส่วนไปเป็นต้นทุนค่าจ้างให้แก่พนักงานลูกจ้าง
อย่างไรก็ตาม หลังวันที่ 1 มกราคม 2556 สถานประกอบการทั่วประเทศ รวมถึงจังหวัดขอนแก่นต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทนั้น ผลกระทบขั้นรุนแรงจะเกิดขึ้นแน่นอน เพราะต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นเท่าตัว โดยนับแต่ต้นปีหน้าเป็นต้นไปจะเห็นคนตกงานจำนวนมากถึงขั้นระดับวิกฤต สถานประกอบการจะลดพนักงานเพื่อประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายประคองกิจการให้อยู่รอด
ในส่วนของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีสายป่านยาวพอ ก็จะหาทางออกด้วยการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนค่าจ้างต่ำกว่า ทั้งเวียดนาม และกัมพูชา โดยอาจผลิตสินค้าจากโรงงานในไทย 40% อีก 60% ผลิตจากโรงงานในประเทศเพื่อนบ้าน โรงงานส่งออกเหล่านี้ไม่สามารถผลิตในไทยได้ทั้งหมดเพราะต้องจ้างแรงงานในอัตราที่สูงแต่ไม่สามารถขอเพิ่มราคาสินค้าจากคู่ค้าต่างประเทศได้ ไม่เช่นนั้นออเดอร์สินค้าจะหายไปทันที
นายวิฑูรย์กล่าวว่า เบื้องต้นได้รับรายงานว่าโรงงานแหอวนแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่นเตรียมย้ายฐานการผลิตไปที่เวียดนามแน่นอนในต้นปีหน้าเพราะไม่สามารถรับภาระต้นทุนค่าแรงที่จะเพิ่มขึ้นได้ โรงงานแห่งนี้มีคนงานราว 2,000 คน หากต้องจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วันตามที่รัฐกำหนด แต่ละเดือนจะมีค่าใช้จ่ายค่าแรงเพิ่มทันทีเป็น 200 ล้านบาท/เดือน นั่นเท่ากับว่าแต่ละปีมีต้นทุนค่าจ้างร่วม 3,000 ล้านบาท
“อย่าลืมว่าไม่เฉพาะแต่คนงานหรือพนักงานที่ได้ค่าจ้างไม่ถึง 300 บาทต้องปรับให้ถึง 300 บาทต่อวันเท่านั้น พนักงานเก่าๆ ที่ได้เงินมากกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้วก็ต้องปรับให้พวกเขาด้วยเพื่อให้ฐานค่าจ้างต่างกัน ต้องปรับให้พวกเขาตามตำแหน่ง ตามอายุงาน ต้นทุนค่าใช้จ่ายเหล่านี้สูงมาก” นายวิฑูรย์กล่าว และว่า
นอกจากนี้ ยังมีโรงงานผลิตสินค้าขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในขอนแก่นมีลูกจ้างคนงานประจำอยู่ราว 300 คน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนปีนี้เขาจะเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดแล้วเปลี่ยนมาจ้างในรูปแบบเหมางานไปทำที่บ้านแทน การจ้างลักษณะเหมางานผลิตดังกล่าวจะช่วยให้เจ้าของโรงงานแห่งนี้ไม่ต้องรับภาระจ่ายเงินเดือนในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งสูงมาก รวมไปถึงไม่ต้องแบกภาระด้านสวัสดิการ หรือค่าทำงานล่วงเวลา
ที่น่าเป็นห่วงไปมากกว่านั้น คือ กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือSMEs ในขอนแก่น ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 98% ของผู้ประกอบการทั้งหมดในพื้นที่ หรือราว 5,000 ราย ธุรกิจเอสเอ็มอีเหล่านี้จะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดหากต้องจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วัน โดยปกติผลกำไรจากการผลิตสินค้าขายของพวกเขาแต่ละเดือนไม่มาก พอเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนแทบจะเดือนชนเดือน
บางส่วนต้องกันชำระค่างวดบ้าน ค่างวดรถ ค่าใช้จ่ายให้ลูกหลานไปเรียนหนังสือ เงินเก็บแทบจะไม่เหลือ หากต้องรับภาระต้นทุนค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราใหม่ เชื่อว่าพวกเขาไม่สามารถอยู่ได้ ในที่สุดต้องเลิกผลิต เลิกค้าไปเลย ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเหล่านี้ไม่มีทางเลือกอื่นเหมือนเจ้าของกิจการขนาดใหญ่ที่พร้อมด้านเงินทุน
นายวิฑูรย์กล่าวเพิ่มเติมว่า การบังคับใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทของรัฐบาลครั้งนี้ไม่มีมาตรการช่วยเหลือสนับสนุนผู้ประกอบการภาคเอกชนเลย เพราะเป็นนโยบายที่มาจากการหาเสียงเลือกตั้ง ไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแก่ภาคอุตสาหกรรมของแผ่นดินว่าจะเสียหายมากน้อยแค่ไหน ปล่อยให้ผู้ประกอบการแก้ปัญหา หาทางออกกันเอง ที่น่าอดสูมาก กรณีรองนายกรัฐมนตรี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ได้แสดงความเห็นผ่านสื่อกรณีผลกระทบจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำนี้ว่า หากเจ้าของกิจการไหนอยู่ไม่ได้ก็ย้ายฐานไปตั้งโรงงานที่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงต่ำกว่า
“เป็นเรื่องตลกมาก รัฐบาลประกาศปาวๆ พร้อมให้การสนับสนุนกลุ่มทุนจากญี่ปุ่น เกาหลีเข้ามาลงทุนในไทย แต่อีกด้านกลับขับไสไล่ส่งผู้ประกอบการไทยให้ออกไปลงทุนนอกประเทศ เป็นเรื่องที่สวนทางกันเป็นอย่างมาก” นายวิฑูรย์กล่าว