พระนครศรีอยุธยา - "ปู" เป็นประธานเปิดการเดินเครื่องการผลิต บริษัท ฮอนด้า ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในนิคมฯโรจนะ พระนครศรีอยุธยา หลังจากประสบภัยน้ำท่วม ขณะที่ม็อบคนงานกว่า 50 คนฮือประท้วงหน้าบริษัทฯ รอยื่นหนังสือถึงนายกฯปู โวยไร้การเหลียวแลค่าชดเชยจากบริษัทแห่งหนึ่งในนิคมฯโรจนะ
เมื่อเวลา 15.30 น.วันนี้ (31 มี.ค.55) นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรี ได้เดินทางไปเป็นประธานในการเปิดเดินเครื่องการผลิต แบบเต็มอัตราของโรงงานผลิตรถยนต์ฮอนด้า ในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมี มร.ฮิโรชิ โคบายาชิ ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอ บริษัท เอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด และประธานบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด มร.อิซาโอะ อิโต้ รองประธานอาวุโส บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร รองประธานอาวุโส บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด นายพีรพัฒน์ กนกนาค ผู้จัดการส่วนงานรถรุ่นใหม่ และหัวหน้าทีมฟื้นฟูโรงงาน บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด นายเซอิจิ โคจิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยคอยให้การต้อนรับ
นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า รู้สึกชื่นชมบริษัท ฮอนด้า ถึงแม้จะประสบปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมจนกระทั้งโรงงานต้องจมน้ำร่วม 2 เดือน แต่ก็ยังเป็นห่วงประชาชนคนไทยที่ต้องประสบภัยน้ำท่วมเช่นกันโดยการบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย และจ่ายเงินให้กับพนักงานที่ทำงานอย่างเต็มจำนวนเงินเดือน ถึงแม้จะประสบภัยน้ำท่วม ทางบริษัทฯ ยังจะดำเนินธุรกิจต่อไปในนิคมฯโรจนะโดยไม่ย้ายฐานการผลิตไปที่อื่น
"ทางรัฐบาลก็พยายามเต็มที่ในการที่จะป้องกันมิให้เกิดอุทกภัยจนทำให้นิคมอุตสาหกรรมเกิดความเสียหายขึ้นอีก จะหาทางแก้ไขป้องกันทั้งระยะสั้นและยาวเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนที่จะดำเนินกิจการในประเทศไทย"
ด้าน มร.ทาคาโนบุ อิโต้ กล่าวว่า บริษัท ฮอนด้าได้หยุดการผลิต ตั้งแต่ 8 ต.ค.54 ซึ่งในตอนนี้บริษัทพร้อมแล้วที่จะเดินเครื่องการผลิต โดยได้ตั้งเป้าการผลิต 240,000 คันต่อปี เพื่อเร่งส่งมอบรถยนต์ให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า พร้อมประกาศสบทบรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ฮอนด้าเข้ากองทุน ฮอนด้าเคียงข้างไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานดังกล่าวอยู่นั้นได้มีพนักงานของบริษัท ซอร์คิท อิเลคโทรนิค มหาชน จำกัด กว่า 50 คนรวมตัวประท้วงเพื่อเรียกร้องให้บริษัทดังกล่าวจ่ายเงินชดเชยให้แก่พนักงานที่ถูกเลิกจ้างและจะยื่นหนังสือให้กับนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับแรงงาน
ต่อมาได้มีนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยนายทวี นริสศิริกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มารับหนังสือร้องเรียนเพื่อจะไปดำเนินการให้ กลุ่มพนักงานทั้งหมดจึงสลายตัว