อุตสาหกรรมยานยนต์ มีโครงสร้างการผลิต ขนาดใหญ่และซับซ้อน ประกอบดัวยผู้ผลิตชิ้นส่วนนับพันราย การตัดสินใจว่า จะเลือกที่ใด เป็นฐานการผลิต จึงต้องคิดกันอย่างรอบคอบ พิจารณาปัจจัยหลายๆอย่าง ประกอบการตัดสินใจ เช่น ทำเลที่ตั้ง นโยบายของรัฐ เสถียรภาพทางการเมืองและสังคม ตลาดในประเทศ คุณภาพของแรงงาน สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน ฯลฯ เพราะเมื่อมาแล้ว ต้องอยู่ยาว หรืออยู่อย่างถาวรไปเลย และไม่ได้มาแต่ตัว หากแต่พ่วงผู้ผลิตชิ้นส่วนมาด้วยอีกเป็นขบวนใหญ่
การย้ายฐานการผลิตของผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่น หรืออเมริกา จึงใม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ง่ายๆ เหมือน การย้ายฐานการผลิตรองเท้า ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมรับจ้างผลิต หรือ สินค้าไฮเทคอย่าง ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ซึ่งแค่ย้ายเครื่องจักรในโรงงานก็ไปได้แล้ว
คำแถลงของ ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนางอัญชลี ชาลีจันทร์ ผู้จัดการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ฮอนด้า (ประเทศไทย) จำกัด ตอบโต้ กรณีที่นายชวนนท์ อินทรโกมาลสุตย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ให้ข่าวว่า ฮอนด้า ย้ายฐานการผลิตไปยังอินโดนีเซีย เพื่อดิสเครดิตรัฐบาลว่า ไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนญี่ปุ่นว่า จะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ จึงเป็นความจริงที่ว่า ฮอนด้า ไม่ได้ย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทย เพราะอย่างไรเสียก็ย้ายไมได้ แม้ว่า อาจจะอยากย้าย
อย่างไรก็ตาม นัยของการประกาศลงทุนตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ฮอนด้าในอินโดนีเซีย มูลค่า 337 ล้านเหรียญ หรือ ประมาณ หนึ่งหมื่นล้านบาท อย่างกะทันหัน เป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่า ฮอนดา เลือก อินโดนีเซีย เป็นฐานการผลิตอีกแห่งหนึ่ง เพราะต้องการกระจายความเสี่ยง ฮอนดา ยังคงฐานการผลิตในประเทศไทยอยู่ แต่ไม่มีสัญญาณว่า จะลงทุนเพิ่มเติม อีกหรือไม่
จะเป็นเพราะว่า ไม่เชื่อมั่นในมาตรการป้องกันน้ำท่วม ที่นายกฯนกแก้ว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไปอ่านโพยให้ฟัง 7 นาที ถึงโตเกียวเมื่อต้นเดือนนี้ หรือไม่ ไม่มีใครรู้ แต่ที่แน่ๆคือ ฮอนดา รวมทั้งผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นๆ ต้องการกระจายความเสี่ยง กระจายฐานการผลิตในภูมิภาคนี้ ไปยังประเทศอื่นๆ เพราะเกรงประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย
ฮอนด้า ได้รับผลกระทบมากที่สุด จากน้ำท่วมใหญ่เมื่อปีทีแล้ว เพราะมีโรงงานประกอบรถยนต์ ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดอยุธยา ซึ่งถูกน้ำท่วมหนักจนต้องปิดโรงงาน ซึ่งมีกำลังผลิต 240,000 คัน/ปี เท่ากับ 4.7% ของกำลังผลิตทั่วโลก ฮอนด้า และเป็นโรงงานประกอบรถยนต์ของฮอนด้าใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และใหญ่เป็นอันดับ 2 ที่ตั้งอยู่นอกประเทศญี่ปุ่น
นอกจากโรงประกอบรถยนต์จะถูกน้ำท่วมแล้ว ฮอนด้า และผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นๆ ยังได้รับผลกระทบจากการที่โรงงานของผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ และนิคมอื่นๆ ที่ถูกน้ำท่วม จนทำให้ซัพพลายเชนทั่วโลกมีปัญหา โรงงานประกอบรถยนต์ของฮอนดา และโตโยตา ในหลายๆประเทศ ต้องลดกำลังการผลิตลง หรือหยุดผลิตชั่วคราว เพราะไม่มีชิ้นส่วน จากประเทศไทย
ตัวอย่างเช่น โรงงานฮอนด้าในมาเลเซีย ซึ่งประกอบรถซีอาร์วี ซิตี้ และซีวิค ปีละ 40,000 คัน ต้องหยุดผลิตในช่วงปลายเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว โรงงานของฮอนด้าในสหรัฐฯ และคานาดาต้องลดปริมาณการผลิตลงจนถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2554 เนื่องจากขาดแคลนชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ โรงงานฮอนด้า ที่สวินดอน ประเทศอังกฤษ ต้องลดชั่วโมงทำงานลงและระงับการผลิตฮอนด้า ซีวิครุ่นใหม่ ซึ่งต้องใช้ชิ้นส่วนจากโรงงานชิ้นส่วนในไทย
อินโดนีเซีย กำลังได้รับความสนใจจาก ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ๆทั่วโลก ทั้งญี่ปุ่น อเมริกา และเยอรมนี เพราะตลาดในประเทศมีขนาดใหญ่มาก และยังมีช่องว่างในตลาดอีกมาก อีกทั้งรัฐบาลอินโดนีเซีย ยังประกาศนโยายส่งเสริม อุตสาหกรรมรถยนต์ โดยตั้งเป้าหมายว่า จะเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน แทนที่ประเทศไทย ซึ่งแคยประกาษว่า จะเป็น ดีทรอยต์ แห่งเอเชีย
ฮอนด้า มีโรงงานประกอบรถยนต์ ในอินโดนีเซียอยู่แล้ว 1 โรง ประกอบรถยนต์รุ่นต่างๆ ปีละ 60,000 คัน มีส่วนแบ่งตลาดเพียง 5 % ห่างจากผู้นำอันดับ 1 คือ โตโยต้า และอันดับสอง คือ ไดฮัทสุอยู่มาก โรงงานแห่งที่สอง ซึ่งจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2557 จะมีกำลังผลิตปีละ 120,000 คันต่อปี ซึ่งจะทำให้ฮอนด้าผลิตรถยนต์ได้เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวในปัจจุบัน
นายฮิโรชิ โคบายาชิ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ภูมิภาคเอเชีย และโอเชเนีย ของฮอนด้า แถลงว่า ฮอนดาไม่ได้สร้างโรงงานที่อินโดนีเซีย เพือตอบสนองความต้องการในประเทศเท่านั้น แต่อินโดนีเซียจะเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกที่สำคัญฐานหนึ่งของฮอนด้า ทั้งการส่งออกรถสำเร็จรูป และชิ้นส่วน
แน่นอนว่า การเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในอีก 3ปีข้างหน้า เป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจขยายการลงทุนของฮอนด้า และผู้ผลิตรถยนต์อื่นๆ เพื่อรองรับ ความต้องการในตลาด ซึ่งจะมีประชากรเพิ่มขึ้นในทันทีเป็น 600 ล้านคน การขยายการลงทุนในอินโดนีเซีย แทนที่จะเป็นประเทศไทย ซึ่งเป็นฐานการผลิตใหญ่ของฮอนด้า จึงยิ่งน่าค้นหาว่า ประเทศไทยไมดีตรงไหน ฮอนด้าจึงย้ายฐานการลงทุนไปที่อินโดนีเซีย