xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านร้องผู้ว่าฯเชียงราย ช่วยด่วน-เจอนายทุนฟ้องไล่พ้น “ดอยชมภู”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - กลุ่มชาวบ้านที่ทำกินบนพื้นที่ “ดอยชมภู” รวมตัวร้องผู้ว่าฯเชียงราย หลังถูกนายทุนไล่พ้นพื้นที่ ทั้งที่ทำกินมาตั้งแต่รุ่นพ่อ รุ่นแม่ จี้เร่งออก ส.ป.ก.4-01 ให้ ก่อนถูกฮุบ ขณะที่เครือข่ายกองทุนฟื้นฟูฯ ยกคณะเข้าเชียงใหม่ ทวงสัญญาตามมติ ครม.สัญจร โยกลูกหนี้ ธ.ก.ส.เข้ากองทุน

วันนี้ (28 มี.ค.) ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงราย กลุ่มชาวบ้านจาก ม.5 ม.7 และ ม.8 ต.โป่งแพร่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย ประมาณ 30 คน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เพื่อขอให้ทางจังหวัดช่วยเหลือ เพราะถูกกลุ่มทุนฟ้องร้องขับไล่ให้พ้นจากที่ดินทำกินบนดอยชมภู เนื้อที่รวมประมาณ 152 ไร่

ชาวบ้านระบุว่า ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านได้ทำกินอยู่ในพื้นที่รวมกันประมาณ 31 ราย แต่ละรายละทำกินด้วยการปลูกข้าวโพด ต้นไม้เศรษฐกิจต่างๆ บนเนื้อที่รายละ 2-3 ไร่ ซึ่งเป็นถือครองกันมานานตั้งแต่รุ่นพ่อแม่โดยไม่มีเอกสารสิทธิ โดยกำลังยื่นขอเอกสาร ส.ป.ก.4-01 เพื่อใช้ทำกิน แต่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่

ต่อมาได้มีสมาชิกในหมู่บ้านชื่อ นายทอน ต๊ะจันทร์ ถูกเอกชนรายหนึ่งฟ้องร้องขับไล่ให้ออกจากพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านพากันรวมตัวขับไล่นายทุนรายนั้น และสุดท้ายยังมีเรื่องฟ้องร้องไปยังศาลล่าสุดศาลได้ยกฟ้องไปแล้ว โดยศาลให้เหตุผลว่า ที่ดินพิพาทเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ต่อมากรมป่าไม้ได้มอบที่ดินให้กับสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อไปดำเนินการและมีการประกาศให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินเมื่อปี 2552 แล้ว

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านก็เกรงกลัวอิทธิพล รวมทั้งพบมีเอกชนรายอื่นๆ พยายามเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดิน โดยมีการขุดตัก ปรับหน้าดินและอื่นๆ ด้วย ดังนั้นจึงขอให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดให้ ส.ป.ก.4-01 กับชาวบ้านเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งด้วย

ต่อมา นายธานินทร์ มอบหมายให้เจ้าหน้าที่รับมอบหนังสือจากชาวบ้าน และรับปากจะเร่งดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทำให้กลุ่มชาวบ้านพอใจและแยกย้ายกันกลับ

วันเดียวกัน ชาวบ้านจากเครือข่ายกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จาก 18 อำเภอใน จ.เชียงราย รวมประมาณ 200 คน นำโดย นายประนอม เชิมชัยภูมิ แกนนำกลุ่มเกษตรกร ได้เดินทางจาก จ.เชียงราย ไปยังศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ สถานที่ประชุม ครม.สัญจร ที่เคยมีมติให้ ธ.ก.ส.ยุติโครงการปรับโครงสร้างหนี้ แล้วนำปัญหาเข้าสู่กองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อยื่นหนังสือร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือปัญหาของเกษตรกร ซึ่งมีทั้งเรื่องที่ดินทำกิน หนี้สิน ฯลฯ ก่อนเดินทางไปยื่นหนังสือต่อผู้อำนวยการ ธ.ก.ส.ภาคเหนือด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น