เชียงราย - ชาวบ้านป่าแดด เมืองพ่อขุนฯ แห่ร้องผู้ว่าฯ เผย 224 ครัวเรือน รวมเกือบพันคนผวาเข้าทำมาหากินในที่ดินทำกินของตัวเองไม่ได้ ทั้งที่ครอบครองสืบทอดกันมาตั้งแต่ปี 2500 แต่จนถึงทุกวันนี้ยังไร้โฉนด แถม อบต.ยกฐานะเป็นเทศบาลตำบล เก็บภาษี ภทบ.5 ไม่ได้อีก
รายงานข่าวจากจังหวัดเชียงราย แจ้งว่า เครือข่ายปฏิรูปที่ดิน จ.เชียงราย นำโดยนายวิรัตน์ พรหมสอน ประธานเครือข่ายฯ และชาวบ้านวังศิลา ม.8 ต.สันมะค่า อ.ป่าแดด จ.เชียงราย ประมาณ 50 คน ได้รวมตัวที่ศาลางกลาง จ.เชียงราย เพื่อร้องเรียนต่อนายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ช่วยเหลือเรื่องที่ดินทำกิน
ชาวบ้านระบุว่า ตอนนี้มีชาวบ้านอาศัยอยู่ในหมู่บ้านประมาณ 224 ครัวเรือน รวมประชากรทั้งหมด 985 คน กำลังประสบความเดือดร้อน เนื่องจากพื้นที่ไม่เคยมีเอกสารสิทธิโฉนด แต่ได้ยกฐานะจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ขึ้นเป็นเทศบาลตำบล จึงเกรงว่าจะสูญเสียที่ดินทำกิน เพราะไม่สามารถเข้าทำกินได้เหมือนเดิม ซึ่งในหมู่บ้านนี้ ประชากรส่วนใหญ่ที่ประสบปัญหามีอาชีพหลักเป็นเกษตรกรประเภท ทำนาข้าว สวนลำไย ฯลฯ ซึ่งอาจไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง เพราะในอดีตตั้งรกรากกันอยู่ในเขตป่าสักลอ ป่าแม่ลอย และป่าแม่พุง เนื้อที่รวมกันประมาณ 1,850 ไร่ ปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นป่าโซนซีไปแล้วประมาณ 1,250 ไร่ ที่เหลือเป็นเขต ส.ป.ก.4-01
นายอภิวัฒน์ ประกอบกิจ อดีตผู้ใหญ่บ้านวังศิลา แกนนำอีกคน กล่าวว่า ชาวบ้านที่ประสบปัญหาอาศัยทำกินอยู่ในพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2500 หรือประมาณ 55 ปีมาแล้ว แต่ไม่มีเอกสารสิทธิโฉนดจึงได้เสียภาษีค่าเช่าในลักษณะ ภบท.5 หรือใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ หรือเรียกกันว่าภาษีดอกหญ้าให้แก่รัฐ
ต่อมาพบว่า อบต.สันมะค่า ได้ยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาล ซึ่งตามระเบียบของเทศบาลตำบลแล้ว ไม่สามารถจัดเก็บภาษีจากชาวบ้านได้ เนื่องจากพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ การจะจัดเก็บภาษีดอกหญ้าเหมือนเดิมจึงทำไม่ได้
ดังนั้น ชาวบ้านจึงวิตกกังวลอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการต้องสูญเสียที่ดินทำกินไป ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับชาวบ้านในชนบทอย่างมาก นอกจากนี้ยังอาจทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าร่วมโครงการรับประกันราคาข้าวจากรัฐบาลได้ เพราะไม่มีเอกสารที่ดินไปรับรอง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเคยนำปัญหาไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่กลับไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน มีการโยนเรื่องกันไปมาระหว่างป่าไม้ กับ ส.ป.ก.หรือแม้แต่ระดับจังหวัด ก็ยังโยนกันไปมาว่าอยู่ในพื้นที่ป่าของ จ.เชียงราย หรือ จ.พะเยา กันแน่ด้วย จึงมาขอให้ทางจังหวัดได้ช่วยเหลือ
ต่อมานายธานินทร์ ได้ให้เจ้าหน้าที่ได้รับเรื่องราวร้องทุกข์จากชาวบ้านเพื่อนำไปพิจารณาแล้ว โดยมีแนวทางว่าจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักบริหารพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ 15 สำนักงานปฏิรูปที่ดิน ตัวแทนชาวบ้าน ฯลฯ ไปประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว ทำให้ชาวบ้านพอใจและแยกย้ายกันกลับ