ASTVผู้จัดการออนไลน์ - No Burn หยุดเผาเพื่อลมหายใจ “เห็นผลชัด” รัฐบาลเดินหน้าพร้อมลุยต่อ ด้วยกรอบมาตรการเร่งด่วนทั้งสั้นและยาว ระดมทุกภาคส่วนดำเนินการ ชี้ต้องเห็นผลใน 3 วัน
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่แก้ปัญหาหมอกควัน 8 จังหวัดภาคเหนือ โดยเริ่มปฏิบัติโครงการ รวมพลังร่วมแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ประสบภัยจากวิกฤติหมอกควันด้วยพลังจิตอาสา (NO BURN) หยุดเผาเพื่อลมหายใจ ที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวัดนำร่องพร้อมกำชับระดมหน่วยงานสำคัญทุกภาคส่วนแก้ปัญหาเต็มที่ และรายงานความคืบหน้าทุกวันวันละ 2 ครั้ง วอนประชาชนและหน่วยงานทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจกันแก้ปัญหา เพื่อป้องกันไม่ส่งผลกระทบในระยะยาว โดยใช้แนวทางการสร้างจิตสำนึก ร่วมกับการบังคับใช้กฎหมายเคร่งครัด การฉีดพ่นน้ำชะล้างฝุ่นควันในอากาศ ลดฝุ่นละออง และใช้แผนที่ดาวเทียม Gistda ติดตามผลการดำเนินการ
ล่าสุด หลังมาตรการได้ผล นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้องออกแอกชัน เร่งเดินหน้าวางมาตรการให้เข้มข้นมากขึ้น โดยได้เดินหน้าปฎิบัติการ “หยุดเผา เพื่อลมหายใจ” NO BURN อีกครั้ง ที่จังหวัดเชียงราย ร่วมกับ นายธานินทร์ สุภาแสน ผวจ.เชียงราย พร้อมด้วยข้าราชการและประชาชนในพื้นที่ กว่า 1 พันคน หลังจากที่ค่าฝุ่นละอองในอากาศปกคุลม จ.เชียงราย พุ่งสูงถึง 437.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งนับว่า เกินค่ามาตรฐาน พร้อมกับเรียกประชุมผู้ว่าราชการจังหวัด ข้าราชการ กำนันผู้ใหญ่บ้าน พร้อมกำหนดมาตรการเร่งด่วน พร้อม “เปิดปฏิบัติการ 3 วัน เชียงรายไร้หมอกควัน” เพื่อทำการบล็อกทุกพื้นที่ให้งดเผาอย่างเด็ดขาด พร้อมคาดโทษผู้นำท้องถิ่นหากละเว้นปล่อยให้มีการเผาเกิดขึ้นในพื้นที่ จะต้องถูกดำเนินการทางวินัยทันที
“ผมได้สั่งการให้ใช้มาตรการระยะสั้น หากใครฝ่าฝืนจุดไฟเผาวัชพืช ขยะมูลฝอยทุกชนิดในที่โล่ง มีโทษปรับ 2,000 บาท และหากมีการจุดไปเผาป่า มีโทษปรับ 100,000 บาท จำคุกสูงสุด 15 ปี และจะไม่ยอมอะลุ้มอะล่วยให้กับคนทำผิด หากเจ้าหน้าท้องถิ่นคนใด ละเลยจะต้องถูกลงโทษทันที สำหรับการขอความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน จะมีการประชุมหารือร่วมกันทั้ง 3 ประเทศ คือ ไทย ลาว และ พม่า ต่อไปด้วย”
นายวรวัจน์ กล่าวว่า สำหรับมาตรการระยะยาวนั้น หากปฏิบัติการ 3 วัน งดเผาอย่างเด็ดขาดเป็นผลสำเร็จ จะขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เสนอแผนการพัฒนาพื้นที่การเกษตรเข้าไปยังส่วนกลาง เพื่อพิจารณางบประมาณสนับสนุนแนวคิดการใช้สารจุรินทรีย์ย่อยสลายวัชพืชแทนการเผา การปลูกไม้ยืนต้น เช่น ยางพารา ชา และกาแฟ เพื่อทดแทนการทำไร่ข้าวโพดหรือการปลูกพืชไร่อื่นๆ ที่จะต้องเผาเศษวัชพืชกันทุกปีอย่างที่ผ่านมา รวมถึงการสนับสนุนงบเอสเอมแอลให้กับหมู่บ้านที่ให้ความร่วมมือ มอบกองทุนหมู่บ้านละหนึ่งล้านบาท และรับบาลพร้อมออกโฉนดชุมชนให้กับพื้นที่ใดที่ให้ความร่วมมือ
ทั้งสองมาตรการทั้งสั้นและยาวจะดำเนินการควบคู่กันไป นอกจากนี้ได้อนุมัติงบประมารให้กับ องค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต.ละห้าหมื่นบาท เพื่อให้เป็นงบสนับสนุนการดำเนินการ เช่น ค่าดับเพลิง ค่าน้ำมัน
ด้าน นายธานินทร์ สุภาแสน ผวจ.เชียงราย กล่าวว่า ตามที่นายวรวัจน์ ร่วมกับข้าราชการ จ.เชียงราย ได้เดินทางข้ามไป จ.ท่าขี้เหล็ก ฝั่งพม่า เพื่อร่วมประชุม 3 ฝ่าย ไทย พม่า ลาว เพื่อหาแนวทางยุติปัญหาหมอกควัน เมื่อวันที่ 10 มี.ค.นั้น มีผลสรุปว่า ทางการพม่าได้รับปาก จะสั่งให้ชาวพม่าตามแนวชายแดนไทย-พม่า ตั้งแต่บ้านดินดำ เมืองเลน เมืองสาด ที่มีการถางป่า เผาพื้นที่ เพื่อปลูกยางพาราจำนวนมาก ให้ยุติการเผาที่ก่อให้เกิดหมอกควันกระทบข้ามมาฝั่งไทย
ฝ่ายไทยจะหาแนวทางช่วยเหลือพม่า และให้ทุกหน่วยงาน อปท.ทุกพื้นที่ทำงานแบบบูรณาการ ลดปัญหาหมอกควันให้ได้ผลภายใน 3 วัน ให้ติดสปริงเกอร์ตามสะพานลอยคนเดินข้าม ถ.พหลโยธิน ตั้งแต่ ต.ห้วยไคร้ ถึงหน้าด่านพรมแดนไทย-พม่า และหน่วยงานราชการทุกแห่งเปิดสปริงเกอร์ลดน้ำต้นไม้พื้นที่รอบสำนักงานเพื่อสร้างความชุ่มชื้น และห้ามประชาชนทำการเผาไฟ คาดว่า จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นในเร็วๆ นี้
จนถึงวันนี้ผลจากการดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้นตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ประกอบกับพายุฝนที่ตกลงในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงทั้งลำปางและเชียงใหม่ ส่งผลให้สถานการณ์หมอกควันใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ได้รับอานิสงส์และคลี่คลายลงไปบ้าง โดยลดลงเหลือ 329 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่รัฐบาลยังคงเดินหน้าแก้ปัญหาในระยะยาว อย่างยั่งยืน เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนในเขตภาคเหนือตอนบน ต้องเผชิญกับปัญหาวิกฤตหมอกควัน ที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำซากในทุกฤดูร้อนของทุกๆ ปี