พระนครศรีอยุธยา - นายกฯและคณะเดินทางถึงพระนครศรีอยุธยาเพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่แล้วท่ามกลาง รปภ.เข้ม พร้อมรับมอบปลาตะเพียนสาน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากพลายพันล้าน
เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น.วันนี้ (16 ก.พ.) นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานราชการ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน (กยน.) เดินทางถึงศูนย์ศิลปชีพส่งออกบางไทร อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อรับฟังการบรรยายการสรุปแผนงานโครงการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ปลายน้ำ (ตอนบน) 8 จังหวัด ประกอบด้วยพระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ปราจีนบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี และนครนายก และรับฟังผลการประชุมแผนงาน โครงการป้องกันน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมจากผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัยเมื่อปีที่ผ่านมา
โดย นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นำข้าราชการ ประชาชน เยาวชน และตัวแทนนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ให้การต้อนรับ พร้อมชูแผ่นป้ายแสดงการต้อนรับที่ได้เดินทางมาติดตามการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและแผ่นป้ายให้กำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้รับมอบปลาตะเพียนสาน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจาก “พลายพันล้าน” และรับธงงานเอ๊กโปร์ 2020 อยุธยาไทยแลนด์ จาก “พลายงาทอง” และ “พลายคชราช” ซึ่งเป็นช้าง 3 เชือก ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาจัดไว้ให้การต้อนรับ ขณะที่การรักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้วางกำลังดูแลโดยรอบบริเวณอย่างเข้มงวด
รายงานข่าวแจ้งว่าเวลา 14.00 น.นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะเดินทางไปที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน โดยวิศวกรของนิคมฯบรรยายสรุปรูปแบบงานก่อสร้างคันดินป้องกันน้ำท่วมสูงจากระดับน้ำทะเล 6 เมตร และได้เซ็นชื่อตรวจเยี่ยมก่อสร้างโครงการป้องกันน้ำท่วม ที่จุดเริ่มต้นงานกำแพงป้องกันน้ำท่วม(RC-FLOOD WALL)
เวลา 14.30 น.นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะได้เดินทางไปยังบริเวณหน้าวัดไผ่ล้อม ต.สะพานไทย อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อดูทุ่งรับน้ำของอำเภอบางบาล โดยมีชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวรายงานถึงการดำเนินโครงการจัดทำแก้มลิง บางบาล 1 เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัย
โดยอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า พื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางบาล เป็นพื้นที่ที่กรมชลประทานได้ดำเนินการเป็นพื้นที่แก้มลิง บางบาล 1 มีพื้นที่ 27,450 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นที่ดินของประชาชนที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำประสบปัญหาน้ำท่วมทุกปี และจากการสอบถามชาวบ้านในการใช้เป็นพื้นที่รับน้ำชาวบ้าน เจ้าของที่ดินให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่ส่วนใหญ่ขอให้บริหารจัดการน้ำให้เกษตรกรสามารถทำนาปรังได้ 2 ครั้งก่อน ซึ่งการเป็นพื้นที่แก้วลิงนั้นจะทำการผันน้ำกรณีที่แม่น้ำเจ้าพระยาสูงสุด สามารถระบายเข้าพื้นที่ซึ่งมีความลึกได้ 3 เมตร คิดเป็นปริมาณน้ำ 89.63 ล้าน ลบ.ม.และภายหลังน้ำลดจะบริหารจัดการน้ำให้เกษตรกรสามารถทำนาได้ครบปีละ 2 ครั้ง ในช่วงที่เป็นการนำร่องจะทำการกักเก็บน้ำให้ได้ 29 ล้าน ลบ.ม.และสามารถทำการเกษตรได้ตามต้องการ
สำหรับภาพรวมบางบาล 1 นั้นจะมีการดำเนินการ 3 งานหลักได้แก่ระบบบริหารจัดการน้ำหลากและระบบระบายน้ำ ประกอบด้วยคันป้องกันน้ำท่วม อาคารชลศาสตร์ควบคุมน้ำ คลองระบายน้ำ และระบบสูบน้ำเพื่อสูบระบายน้ำ ระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อชลประทาน ประกอบด้วยระบบสูงน้ำ และคลองส่งน้ำ คลองระบายน้ำ อาคารรับน้ำ และการจัดทำคันคูน้ำ ส่วนสุดท้ายที่ดำเนินงานในโครงการคือ ระบบป้องกันพื้นที่ชุมชน ประกอบด้วย การสร้างคันล้อมพื้นที่ชุมชน สวนเกษตร การยกระดับระบบสาธารณูปโภคและทางสัญจร
ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณและชมเชยยกย่องคนใน อ.บางบาล และข้างเคียงที่ยอมเสียสละให้เป็นพื้นที่รับน้ำ เพื่อการแก้ปัญหารักษาสภาพบ้านเมืองส่วนใหญ่ ไม่ให้เสียหาย ซึ่งรับปากที่จะดูแลตามระเบียบของการช่วยเหลือเต็มที่
จากนั้น ได้เดินทางต่อไปยังวัดไชยวัฒนาราม ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อตรวจดูการฟื้นฟูโบราณสถานและรับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับมาตรการในการป้องกันในอนาคต โดยมีนางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร เป็นผู้กล่าวรายงานสภาพความเสียหายของโบราณสถานบางแห่งได้รับผลกระทบจนเกิดการทรุดตัวและเอียงร้าว และได้มีการค้ำยัน และซ่อมแซมตามแผนการซ่อมแซมบูรณะ โดยเกือบทุกแห่งมีแผนที่จะเสริมแนวกำแพงและแนวป้องกันที่ความสูงแห่งละประมาณ 2 เมตร
โดยเฉพาะที่วัดไชยวัฒนาราม ได้มีการเสริมความแข็งแรงที่ด้านหน้าและด้านทิศใต้ที่พังเสียหายจากที่ผ่านมา รวมไปถึงวัดธรรมาราม ซึ่งเดิมเป็นกำแพงกึ่งถาวรก็จะมีการเสริมความแข็งแรงเพิ่มอีก นอกจากนี้ ได้มีการบูรณาการกับทางเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ในการฟื้นฟูคู คลองเมือง ให้สามารถรองรับน้ำและระบายน้ำได้สะดวก เสริมแนวถนนรอบเกาะเมือง
โดยนายกรัฐมนตรี ยังได้เดินสำรวจแนวป้องกันด้านหน้าวัดไชยวัฒนาราม พร้อมทั้งเน้นย้ำให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร และโยธาธิการ ได้บูรณาการในการเร่งฟื้นฟูและซ่อมแซม และเสริมแนวป้องกัน รวมทั้งถนนที่จะเป็นคันป้องกันน้ำ โดยเฉพาะบริเวณใกล้โบราณสถานควรที่จะมีช่องทางห่างจากแม่น้ำและเชื่อมต่อ เพื่อการระบายน้ำได้ด้วย
หลังจากนั้นช่วงเย็นนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปทานข้าวภายในบริเวณงานมรดกโลก อุทยานประวัติศาสตร์ และเดินทางเข้าที่พักโรงแรมแคนทารี ริมถนนโรจนะ ต.ธนู อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา
ด้านนายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1.อ่างเก็บน้ำ 2 เขื่อนใหญ่ ๆ เพื่อพร่องน้ำตอนบนบริเวณ จ.นครสวรรค์ ที่รวมแม่น้ำทั้ง 4 สายลงมายังลุ่มน้ำตอนล่างต่างๆ 2.การผันน้ำ เพื่อเชื่อมโยงกับธรรมชาติโดยมีคลองเล็ก คลองใหญ่ ห้วย หนองบึง ได้ขุดลอกในรูปแบบโครงข่ายและปรับปรุง ซ่อมประตูระบายน้ำที่ชำรุด เช่น ประตูน้ำโฉมศรี ให้ใช้ได้ทุกแห่ง
3.กำหนดพื้นที่รับน้ำตอนบน 7 จังหวัด ได้แก่ จ.พิษณุโลก กำแพงเพชร นครสรรค์ ชัยนาท พิจิตร อุทัยธานี และเพชรบูรณ์ และพื้นที่ตอนล่าง 8 จังหวัด ได้แก่ จ.สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ปราจีนบุรี สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี และ จ.นครนายก ทั้ง 2 แห่งรวมเป็นพื้นที่รับน้ำจำนวน 2 ล้านไร่จึงต้องทำเป็นแก้มลิง โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ บึงธรรมชาติ และพื้นที่เกษตรกรรมเช่นพื้นที่ราบลุ่มในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ 4.แนวทางป้องกันพื้นที่อุตสาหกรรมและโรงงานสร้างกำแพงป้องกันน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรม โรงงานอุตสาหกรรมควบคู่ไปกับทางหลวงและคันกั้นน้ำ นายกรัฐมนตรีย้ำถึงแนวทางป้องกันและการบริหารจัดการน้ำอย่างเร่งด่วน