xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” สั่ง กก.ระบายน้ำคำนวณหาพื้นที่รองรับน้ำเหนือ และท้ายเขื่อนก่อนสิ้น ก.พ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
นายกฯ เหยียบเขื่อนเจ้าพระยา อธิบดีกรมชลฯ แจงน้ำสูงทำท่วมหนัก “ธีระ” อ้างคันดินพังต้นเหตุไม่เกี่ยวประตูน้ำบางโฉมศรี เจ้าตัวสั่ง กก.ระบายน้ำคำนวณปริมาณน้ำให้ชัด หวังหาที่รองรับน้ำทั้งเหนือและท้ายเขื่อน สั่งให้เสร็จไม่เกินสิ้นเดือน จี้ ซ่อมประตูให้เสร็จ พ.ค.นี้

วันนี้ (15 ก.พ.) ที่สำนักงานกรมชลประทานที่ 12 เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะ ได้เดินทางมาติดตามแผนงานเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย โดย นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน เป็นผู้บรรยายสรุป โดยกล่าวช่วงหนึ่งว่า เมื่อฤดูฝนที่ผ่านมาเกิดฝนตกหนัก ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีมากกว่าปกติ มาตรวัดที่ จ.นครสวรรค์ วัดได้ถึง 3,500 ลบ.ม.ต่อวินาที จนทำให้น้ำในเขื่อนเจ้าพระยาล้นตลิ่ง ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย.54 และสูงสุดในวันที่ 23 ต.ค.54 ที่วัดได้ถึง 4,600 ลบ.ม.ต่อวินาที เมื่อน้ำสูงกว่าระดับปกติมาก จึงทำให้คันกั้นน้ำขาดในหลายช่วง โดยเฉพาะที่ประตูระบายน้ำบางโฉมศรี โดยภายหลังสถานการณ์ปกติ ได้รับอนุมัติงบประมาณฟื้นฟูซ่อมแซมมาแล้ว และได้ดำเนินการในทุกจุด บางส่วนเสร็จแล้ว โดยยืนยันว่า การซ่อมแซมคันกั้นน้ำทั้งจะเสร็จก่อนเดือน พ.ค.อย่างแน่นอน

ด้าน นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวแย้งว่า การที่น้ำท่วมที่ จ.ลพบุรี เมื่อปีกลาย สังคมเข้าใจว่า เกิดจากประตูบางโฉมศรี แต่ความเป็นจริง เกิดจากคันถนนที่ขาดในหลายช่วง ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำไหลผ่านมากถึง 700 ลบ.ม.ต่อวินาที รวมกับคันกั้นอื่นๆ อีกกว่า 400 ลบ.ม.ต่อวินาที ขณะที่ประตูบางโฉมศรี มีน้ำไหลผ่าน 480 ลบ.ม.ต่อวินาที คิดเป็น 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ดังนั้น การที่น้ำท่วมที่ทุ่งลพบุรีเกิดจากประตูน้ำทั้งหมด

นายธีระ กล่าวอีกว่า ในกรณีของประตูพลเทพ ที่อยู่ด้านขวาของเขื่อนเจ้าพระยา ไปทางคลองมะขามเฒ่า ซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำท่าจีน หรือแม่น้ำสุพรรณบุรีนั้น ยืนยันว่าในขณะเกิดวิกฤตนั้นมีน้ำไหลผ่านมากถึง 320-360 ลบ.ม.ต่อวินาที ขณะที่ประตูพลเทพสามารถระบายน้ำได้เพียง 200 ลบ.ม.ต่อวินาทีเศษเท่านั้น น้ำเหนือประตูจึงสูงกว่าในแม่น้ำท่าจีน อีกทั้งเมื่อดูจากรายงานในช่วงเวลาดังกล่าว ก็จะพบว่า ได้มีการเปิดประตูน้ำเพิ่มขึ้นตามลำดับ จนถึง 100 เปอร์เซ็นต์ การบอกว่าไม่มีการระบายน้ำออกไปทางแม่น้ำท่าจีนจึงไม่เป็นความจริง

จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้สั่งการให้คณะกรรมการระบายน้ำ ทำการคำนวณปริมานน้ำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำให้ชัดเจนอีกครั้ง โดยกล่าวว่า จากปัญหาที่พบ คือ มวลน้ำมาถึงปลายทางมากเกินคว่าที่จะรองรับได้ ทำให้คันหรือเขื่อนกั้นน้ำต่างๆ ชำรุด ส่งผลให้น้ำกระจายตัว ดังนั้น ต้องทำให้ความเสี่ยงลดลง โดยการคำนวณปริมานน้ำ เพื่อหาพื้นที่รับน้ำก่อนน้ำจะมาถึง หากเป็นไปได้อยากให้เตรียมพื้นที่พักน้ำไว้ทั้งเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน และให้เตรียมข้อมูลกันทันที และแล้วเสร็จไม่ควรเกินสิ้นเดือน ก.พ.นี้

ขณะที่ นายกิจจา ผลภาษี กรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากร น้ำ (กยน.) ชี้แจงว่า ส่วนตัวมองว่า หากสามารถหาพื้นที่พักน้ำเหนือเขื่อนทั้งซ้ายและขวาได้ คาดว่าจะสามารถควบคุมปริมาณน้ำได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ปลายเขื่อน มั่นใจว่าเพียงพออยู่แล้ว

ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า อยากให้ลดความเสี่ยงโดยการเตรียมพื้นที่พักน้ำเพื่อตัดปริมาณน้ำออก ทั้งเหนือและท้ายเขื่อน เพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้น และเมื่อถึงตอนที่บริหารจัดการน้ำ จึงมาตัดสินใจอีกครั้งว่าจะใช้พื้นที่ใด จึงควรหาพื้นที่ไว้ก่อน ปลอดภัยไว้ก่อน เพราะหากหน่วงน้ำได้มากเท่าไร ปลายทางก็จะทำงานง่ายขึ้น

นอกจากนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังกำชับด้วยว่า ในส่วนของการซ่อมแซมประตูระบายน้ำที่ต้องเสร็จภายในเดือน พ.ค.แล้ว ยังต้องคำนึงถึงความแข็งแรง และความสูงของคันกั้นน้ำด้วย เพื่อไม่ให้ปริมาณเกินกว่าระดับปกติด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น