ศูนย์ข่าวขอนแก่น - กลุ่มอาสาสมัครเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันภาคพลเมืองจังหวัดขอนแก่น ยื่นฟ้องศาลปกครองขอนแก่นให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกมติ ครม.10 ม.ค.55 นำเงินแผ่นดินจ่ายชดเชย หรือจ่ายเป็นค่าจ้างกลุ่ม นปช.ร่วม 2 พันล้านบาท ย้ำ พฤติกรรมกลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมเผาบ้านเผาเมืองทำลายชาติไม่สมควรได้รับการเยียวยา
วันนี้ (23 ม.ค.) ที่ศาลปกครองจังหวัดขอนแก่น กลุ่มอาสาสมัครเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันภาคพลเมืองจังหวัดขอนแก่น นำโดย นายตุลย์ ประเสริฐศิลป์ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อศาลปกครองขอนแก่น เพื่อฟ้องคณะรัฐมนตรีชุด นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ม.ค.55
และขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด กรณีมีมติคณะรัฐมนตรี จ่ายเงินชดเชยให้กับกลุ่ม นปช.ที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บระหว่างเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง
นายตุลย์ ประเสริฐศิลป์ แกนนำกลุ่มอาสาสมัครเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันภาคพลเมืองจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า การสั่งจ่ายค่าชดเชยเยียวยากลุ่ม นปช.ตามมติ ครม.ดังกล่าว ไม่ต่างจากการจ่ายเงินค่าจ้างให้กับกลุ่ม นปช.ที่ได้ร่วมกันชุมนุมโดยไม่สงบและมีอาวุธและก่อเหตุร้ายแรงขึ้นทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง รุนแรงตั้งแต่ปี 2551-2553 และกระทำผิดกฎหมายหลายฉบับต่างกรรมต่างวาระ เช่น ประกาศภาวะฉุกเฉิน (ศอฉ.) รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 63,
ประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความมั่นคงของรัฐ เช่น การยิงอาวุธสงครามร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานครหลายครั้ง การวางเพลิงในเขต กทม.และพื้นที่ภาคอีสาน ทั้งเผาศาลากลางจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี มุกดาหาร และ อุบลราชธานี ก่อความเสียหายจำนวนมาก
การออกมติ ครม.เพื่อจ่ายเงินค่าจ้างดังกล่าว จึงเป็นไปอย่างไม่สุจริต เที่ยงธรรม ที่สำคัญการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง หรือ นปช.นั้น มีเป้าหมายเพื่อคนคนเดียว คือ ล้มอำนาจรัฐบาลในขณะนั้น, ให้นักโทษชาย ทักษิณ ชินวัตร พ้นจากความผิดทางอาญา ทางแพ่ง และกลับมามีอำนาจทางการเมือง
นายตุลย์ ระบุว่า จากพฤติกรรมที่กระทำอย่างต่อเนื่องเพื่อรับใช้ นช.ทักษิณ ชินวัตร นั้น มิใช่การเรียกร้องที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เป็นการปลุกระดมให้ละเมิดกฎหมาย และมีพรรคการเมืองสนับสนุนอยู่เบื้องหลังและเบื้องหน้าตลอดเวลาที่มีการชุมนุม มีการจัดตั้งทางการเมืองเพื่อระดมคนทั่วประเทศ การจ่ายเงินค่าจ้างจำนวน 7.7 ล้านบาท ถือเป็นเงินจำนวนมากและเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินของประชาชนทั้งชาติ
หากทำการจ่ายเงินดังกล่าวจริงย่อมเป็นการฝ่าฝืนหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญ เช่น มาตรา4, 6, 29, 30 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2552 มาตรา 9(1) และเข้าข่ายเป็นการจ่ายค่าจ้างให้แก่บุคคลอื่น หรือกลุ่มบุคคลให้กระทำการเผาบ้านเผาเมือง เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีในอนาคต
การออกมติ ครม.ดังกล่าวทำให้ประชาชนทั่วประเทศต้องรับภาระ เป็นเงินงบประมาณแผ่นดินที่มาจากการจัดเก็บภาษีของคนทั้งชาติ เพื่อจ่ายให้แก่กลุ่มบุคคลใดกลุ่มบุคคลหนึ่ง จะนำไปสู่การเพิ่มภาระหนี้สาธารณะ ให้แก่ระบบการเงินการคลังของประเทศโดยไม่จำเป็น และก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐในระยะยาว ประชาชนส่วนใหญ่ต้องแบกรับหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์ถึงความเสียหายที่จะตามมาในอนาคต มีดังนี้ 1.เกิดความเสียหายต่อวินัยทางการเงิน การคลังของชาติ และการจัดทำงบประมาณแผ่นดินจากการใช่จ่ายเงินจำนวนมาก ประมาณ 2,000 ล้านบาท อย่างไม่คุ้มค่า
2.เกิดความเสียหายต่อหลักนิติรัฐและนิติธรรม 3.เกิดความเสียหายต่อหลักธรรมาภิบาล 4.เป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรง และ 5.เป็นการใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องมากกว่า การยึดผลประโยชน์ของส่วนรวมมาก่อนส่วนตัว
“การยื่นฟ้องต่อศาลปกครองครั้งนี้เราต้องการให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด และต้องการให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่ออกมาเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555” นายตุลย์ กล่าวในที่สุด