มุกดาหาร- ร.ฟ.ท เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนทุกภาคส่วนในจังหวัดมุกดาหาร ประกอบพิจารณาโครงการพัฒนารถไฟสายใหม่ สายบัวใหญ่-ขอนแก่น-มุกดาหาร-นครพนม
วันนี้ (10 พ.ย.) ณ ห้องแก้วมุกดา โรงแรมพลอยพาเลซ จังหวัดมุกดาหาร การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จัดประชุมสัมมนา งานบริการที่ปรึกษาเพื่อศึกษาทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ ก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ สายบัวใหญ่ (ขอนแก่น)-มุกดาหาร-นครพนม
ทั้งนี้ เพื่อนำเสนอข้อมูล รายละเอียด และแนวเส้นทางที่เหมาะสมของโครงการฯ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่โครงการ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา ผู้นำทางศาสนา และประชาชนทั่วไป สนใจเข้าร่วมสัมมนาประมาณ 180 คน
โครงการก่อสร้างรถไฟสายใหม่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางสู่ตอนบน ได้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2532 จนถึงปัจจุบัน ปี 2554 ดำเนินการทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสม ให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน เนื่องด้วยสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปจากช่วงเวลาที่ศึกษาไว้เดิม ร.ฟ.ท.
จึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด บริษัท ทีม โลจิสติกส์ แอนด์ ทรานสปอร์ต จำกัด และ บริษัท ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด ดำเนินการทบทวนการศึกษา โดยมีการพิจารณาแนวเส้นทางต่างๆ ไว้ 4 เส้นทาง ประกอบด้วย แนวเส้นทางเลือกที่ 1 บัวใหญ่-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 380 กิโลเมตร แนวเส้นทางเลือกที่ 2 ขอนแก่น-เชียงยืน-ยางตลาด-โพนทอง-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 314 กิโลเมตร
แนวทางเลือกที่ 3 อุดรธานี-สกลนคร-นครพนม ระยะทาง 247 กิโลเมตร และแนวทางเลือกที่ 4 บ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 336 กิโลเมตร เพื่อศึกษาเปรียบเทียบความเหมาะสมด้านต่างๆ แล้วเลือกเส้นทางที่มีความเหมาะสมมากที่สุดเพียงเส้นทางเดียว
จากการศึกษาเปรียบเทียบโดยละเอียดพบว่า แนวเส้นทางเลือกที่ 4 บ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม มีความเหมาะสมสูงสุด โดยมีลักษณะโดดเด่นทางด้านวิศวกรรมและจราจร ที่สามารถเชื่อมต่อกับแนวเส้นทางรถไฟปัจจุบันได้ง่าย สภาพเส้นทางและระยะทางมีความเหมาะสม สามารถวางระบบปฏิบัติการเดินรถและระบบอาณัติสัญญาณได้เป็นอย่างดี รวมทั้งเป็นเส้นทางที่มีปริมาณสินค้าและผู้โดยสารมาก
ส่วนด้านเศรษฐกิจและการลงทุนให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) สูงกว่าแนวเส้นทางอื่นๆ มีศักยภาพในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจได้ดี รวมทั้งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนน้อยกว่าแนวเส้นทางเลือกอื่นๆ โดยแนวเส้นทางนี้จะครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด 14 อำเภอ มีจุดเริ่มต้นจากสถานีบ้านไผ่ ผ่าน อ.กุดรัง อ.บรบือ อ.เมืองมหาสารคาม อ.เมืองร้อยเอ็ด อ.เชียงขวัญ อ.โพนทอง อ.หนองพอก อ.นิคมคำสร้อย อ.เมืองมุกดาหาร อ.หว้านใหญ่ อ.ธาตุพนม อ.เรณูนคร และ อ.เมืองนครพนม รวมระยะทางประมาณ 336 กิโลเมตร
ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่โครงการได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานโครงการน้อยที่สุด ร.ฟ.ท.จึงได้กำหนดให้มีมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ เช่น มาตรการด้านเสียงและความสั่นสะเทือน โดยติดตั้งกำแพงกั้นเสียงบริเวณพื้นที่อ่อนไหวทางสิ่งแวดล้อม มาตรการด้านการโยกย้ายเวนคืน โดยประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ของโครงการและขั้นตอนการชดเชยทรัพย์สินต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบ สำรวจรายละเอียดทรัพย์สินที่ต้องชดเชยอย่างละเอียด เป็นต้น
นอกจากการสัมมนาครั้งนี้แล้ว การรถไฟแห่งประเทศไทย ยังจัดให้มีสัมมนาในภาคอีสานอีก 4 จังหวัดด้วยกัน คือ วันที่ 9 พ.ย.54 โรงแรมนครพนม ริเวอร์ วิว จ.นครพนม และจะจัดขึ้นอีกในวันที่ 15 พ.ย.54 โรงแรมเพชรรัชต์ การ์เด้น จ.ร้อยเอ็ด, วันที่ 16 พ.ย. 54 โรงแรมตักสิลา จ.มหาสารคาม, วันที่ 17 พ.ย.54 โรงแรมโฆษะ จ.ขอนแก่น รวมทั้งในกรุงเทพมหานคร วันที่ 22 พ.ย. 54 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชน
รวมทั้งผู้กำหนดนโยบายในส่วนกลาง ให้ครอบคลุมทุกจังหวัดที่อยู่ในแนวเส้นทางของโครงการฯ และจะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้ มาประกอบการพิจารณาปรับปรุงโครงการให้มีความหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน รวมทั้งกับนโยบายของประเทศให้มากที่สุด
ทั้งนี้ เมื่อเส้นทางรถไฟสายใหม่ บ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทางและการขนส่งสินค้าจากภาคอีสานไปยังภูมิภาคอื่นๆ และประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางและขนส่ง รวมทั้งเป็นการสนับสนุนให้ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าระดับภูมิภาคของประเทศ และเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับนานาประเทศได้เป็นอย่างดี