xs
xsm
sm
md
lg

“11/11/11 สมเด็จพระเทพฯ” เสด็จฯเปิดใช้สะพานโขง 3-เอกชนเสนอรัฐจัด 300 ล้าน สร้างถนนวงแหวนรับการขนส่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานวางศิลาฤกษ์สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 – นครพนม คำม่วน ชาวไทย – ลาว เมื่อเวลา 16.00 น.วันที่ 6 มีนาคม 2552
นครพนม - พร้อมแล้ว “11/11/11” พิธีเปิดสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 นครพนม-แขวงคำม่วน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จฯเป็นองค์ประธานในพิธี พร้อมผู้นำ 2 ประเทศ เผยหลังเปิดใช้สะพานจะดันให้นครพนมเป็นศูนย์กลางการการขนส่ง-การค้าในภูมิภาคอินโดจีน ที่ถือความได้เปรียบโครงข่ายจราจรใกล้สุด ด้านภาคเอกชนติงรัฐบาลไทยยังไม่พัฒนาเส้นทางคมนาคมรองรับ อาจมีปัญหาการขนส่ง เสนอสร้างถนนวงแหวนมูลค่าราว 300 ล้านบาท

นายเริงศักดิ์ มหาวินิจฉัยมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางจังหวัดพร้อมแล้วสำหรับพิธีเปิดสะพานข้ามโขงแห่งที่ 3 นครพนม-แขวงคำม่วนฯ สปป.ลาว ในวันที่ 11 พ.ย.54 นี้ (11/11/11) ตามกำหนดการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะทรงเสด็จฯมาเป็นประธานเปิดโดยมีผู้นำระดับสูงของ 2 ประเทศมาร่วมพิธี นอกจากนี้ ยังมีบรรยากาศเฉลิมฉลองโดย อบจ.นครพนม ได้นำหมอลำคณะดังมาแสดง 7 วัน 7 คืน

ภายหลังจากเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 ระยะทาง 1.4 กิโลเมตร (นครพนม-แขวงคำม่วน) คาดว่า จังหวัดนครพนม จะกลายเป็นศูนย์กลางทางค้าและการลงทุน การขนส่ง และการท่องเที่ยว ของอนุภูมิภาคอินโดจีน ซึ่งจะส่งผลให้นครพนมเป็นโครงข่ายการจราจร โดยในฝั่งไทย ตามทางหลวงหมายเลข 212 เชื่อมต่อทางหลวงหมายเลข 22 (อุดรธานี-สกลนคร-นครพนม) อีกเส้นทางหนึ่ง คือ ถนนสายหมายเลข 12 ซึ่งเริ่มจากเมืองท่าแขก ไปถึงตอนกลางประเทศเวียดนาม ที่มีเมืองวินห์ จังหวัดฮาติงห์ อันเป็นที่ตั้งของท่าเรือ วุ๋งอ๋าง ท่าเรือน้ำลึกของเวียดนาม ระยะทางเพียง 365 กิโลเมตร

และตามถนนสาย 1A ในเวียดนาม สามารถเดินทางไปยังกรุงฮานอย ด้วยระยะทางเพียง 650 กม.และสามารถเข้าสู่ผิงเสียง มณฑลหนานหนิง ประเทศจีน ในระยะทางเพียง 1,029 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งจะเป็นการรองรับการเปิดการค้าเสรีอาเซียน หรือ ประชาคมอาเซียนในปี 2558

นายเริงศักดิ์ ระบุอีกว่า แผนการสร้างสะพานแห่งที่ 3 ดังกล่าว สอดคล้องกับโครงการความร่วมมือของกลุ่มอนุภูมิภาค ลุ่มแม่น้ำโขง (Great Maekong Subregion; GMS) ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามที่จะสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และพัฒนาระบบโลจิสติกส์ เพื่อให้กลุ่มประเทศสมาชิกทั้ง 6 ประเทศ ซึ่งได้แก่ ไทย สหภาพพม่า สปป.ลาว เวียดนาม กัมพูชา และมณฑลยูนนานของประเทศจีน สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

ขณะที่ยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัดนครพนม “เมืองน่าอยู่ คู่สัมพันธ์อินโดจีน” นั้น จะนำไปสู่บริบทใหม่ หลังจากเปิดสะพานมิตรภาพ แห่งที่ 3 โดยนครพนมจะกลายเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ อินโดจีน ด้วยการเดินทางจากนครพนมไปถึงลาว และเวียดนาม และจีนตอนใต้ ด้วยสะพานแห่งนี้ ถือเป็นเส้นทางที่สั้นและสะดวก เมื่อเทียบกับเส้นทางอื่นๆ อาทิ นครพนม-หนานหนิง ระยะทาง 1,029 กิโลเมตร นครพนม-ชายแดนจีน (ผิงเสียง) ระยะทาง 831 กิโลเมตร นครพนม-หวุ่งอ๋าง ระยะทาง 270 กิโลเมตร

นายมงคล ตันสุวรรณ ประธานหอการค้านครพนม เปิดเผยต่อว่า ก่อนที่จะมีการเปิดใช้สะพานฯภาคเอกชนได้ระดมความคิดในการวางแผนโครงการรองรับความเจริญที่จะตามมา อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลของทางภาครัฐ พบว่า รัฐบาลยังไม่มีโครงการหรือจัดสรรงบประมาณในการเปิดเส้นทางคมนาคมใหม่รองรับการเปิดใช้สะพาน ยังคงใช้เส้นทางเดิมลำเลียงขนส่งสินค้าคือเส้นทางเก่าสายนครพนม-อำเภอท่าอุเทน

ซึ่งเมื่อนำไปเทียบกับสะพานข้ามแม่น้ำโขงของหนองคาย และมุกดาหารเขาจะมีการเปิดถนนเส้นทางใหม่เชื่อมเป็นโครงข่ายตัดสู่ถนนหลักเป็นทางลัดสู่ถนนหลักไปจังหวัดต่างๆ เร็วขึ้น และลดปริมาณรถขนส่งสินค้าหนักเข้าตัวเมืองสร้างความแออัดในการสัญจร แต่สะพานข้ามโขงของนครพนมยังไม่มี

ดังนั้น สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการ คือ ให้รัฐบาลเร่งจัดสรรงบประมาณมาสร้างถนนวงแหวนมูลค่าราว 300 ล้านบาท ซึ่งเส้นทางนี้จะเป็นเส้นทางใหม่เปิดใกล้กลับจุดที่ตั้งสะพาน ไม่ไกลนัก และตัดทะลุยาวสู่ถนนหลวงสายนครพนม-สกลนคร รถขนส่งสินค้าออกมาจากสะพานข้ามโขงไม่ต้องวิ่งผ่านตัวเมืองนครพนมวิ่งทะลุตัดเข้าสู่ถนนหลวงสายนครพนม-สกลนคร ได้ทันที เช่นเดียวกัน รถขนส่งสินค้าที่จะมาจากสกลนคร

นายมงคล กล่าวอีกว่า สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการ คือ เมื่อสะพานข้ามโขงเปิดใช้ก็ควรก็มีถนนวงแหวนรองรับทันที ใช้งานควบคู่กัน จึงจะสมบูรณ์แบบ ซึ่งเรามีพิมพ์เขียวถนนวงแหวนที่ภาคเอกชนต้องการเสนอต่อจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปนานแล้ว แต่ยังไม่คืบหน้าและเป็นโอกาสดีในวันที่ 9 พ.ย.นี้ ทางการรถไฟจะมาประชุมหารือที่นครพนม กรณีโครงการสร้างทางรถไฟสายบัวใหญ่-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม-เพื่อเชื่อมกับรถไฟลาวที่แขวงคำม่วน ผ่าน ลาวเวียตนาม จีน

โดยขณะนี้จีนให้ความสำคัญกับการขนส่งทางรถไฟมาก กำลังดำเนินการก่อสร้างทางรถไฟจากจีนมาเวียตนาม-ลาว สามารถเชื่อมกับทางรถไฟไทยที่นครพนมพอดี รัฐบาลต้องรีบวางแผนพัฒนารถเส้นทางรถไฟรองให้เร็วที่สุด โดยรถไฟสายนี้จะใกล้ที่สุด 200 กิโลเมตรเท่านั้น
พิธีเปิดใช้สะพานข้ามแม่น้ำโขงนครพนม-แขวงคำม่วนกำหนดขึ้นในวันที่ 11 พ.ย.54 นี้





กำลังโหลดความคิดเห็น