นครพนม-สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว 3 (นครพนม - คำม่วน) ขณะที่การเปิดใช้สะพานฯเริ่มตั้งแต่วันพรุ่งนี้(12 พ.ย.)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (11 พ.ย.) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดสะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม - คำม่วน) ร่วมกับ ฯพณฯ บุนยัง วอละจิต รองประธานแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว การนี้ช่วงเวลา 09.30 น. ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารที่ทำการด่านพรมแดน สะพานมิตรภาพ 3 ฝั่งไทย และชมนิทรรศการเชื่อมสัมพันธ์สองแผ่นดิน ณ อาคารด่านพรมแดน สะพานมิตรภาพ 3 ฝั่งไทย
ต่อมาใน เวลา 11.11 น. ทรงกดปุ่มแพรคลุมป้ายเปิดสะพานกลางสะพานแม่น้ำโขง โดยมีพระสงฆ์ไทย-ลาวเจริญชัยมงคลคาถาและในเวลา 11.25 น. ทรงเป็นประธานพิธีมอบอาคารด่านพรมแดน ฝั่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ณ ด่านพรมแดน แขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กราบบังคมทูลรายงาน และมีนายเริงศักดิ์ มหาวินิจฉันมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วยหน่วยงานจากภาครัฐ เอกชน พ่อค้า ประชาชน และแขกผู้มีเกียรติ เฝ้ารอรับเสด็จและเข้าร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก
โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม-คำม่วน) เป็นโครงการที่ราชอาณาจักรไทย และ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีนโยบายร่วมกันที่จะส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในลักษณะเมืองคู่แฝด ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ (ไทย-ลาว) ตามยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ในปัจจุบันมีสะพานข้ามแม่น้ำโขงในลักษณะเมืองคู่แฝดแล้ว 2 แห่ง
แห่งแรก คือ สะพานมิตรภาพ (หนองคาย-นครหลวงเวียงจันทน์) สะพานมิตรภาพ 2 (มุกดาหาร-แขวงสะหวันนะเขต) และสะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม-แขวงคำม่วน) ซึ่งจะเป็นเมืองคู่แฝดแห่งที่ 3 ต่อไป สำหรับสะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม-คำม่วน) แห่งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงสายเอเชีย หรือ Asian Highway สาย AH 15 เชื่อมโยงระหว่างจังหวัดอุดรธานี สกลนคร นครพนม ท่าแขก หลักซาว ถึงเมืองวินท์ ประเทศเวียดนาม
รัฐบาลไทยเป็นฝ่ายสนับสนุนงบประมาณและดำเนินการก่อสร้างสะพาน ถนน รวมทั้ง อาคารด่านพรมแดนของทั้งสองประเทศ ซึ่งกระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงรับผิดชอบในการก่อสร้าง วงเงินค่าก่อสร้างประมาณ 1,723 ล้านบาท และรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอำนวยความสะดวกในการจัดหาพื้นที่ รวมทั้งให้สิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีสำหรับเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้าง เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศได้ร่วมมือกันเป็นอย่างดีในการดูแล และบริหารโครงการก่อสร้างจนกระทั่งแล้วเสร็จสมบูรณ์
สะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม-คำม่วน)เริ่มก่อสร้างหลัง 6 มี.ค. 52 โดยบริษัทอิตาเลียนไทย ตั้งอยู่ในพื้นที่ฝั่งไทยที่บ้านห้อม ต.อาจสามารถ อ.เมือง และบ้านเวินใต้ เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว ลักษณะโครงการประกอบด้วย งานสะพานข้ามแม่น้ำโขง ความยาวรวมทั้งสิ้น 1,423 เมตร ความกว้าง 13 เมตร ขนาด 2 ช่องจราจร ไป-กลับ มีถนนเชื่อมสะพานทั้งสองฝั่งเป็นผิวจราจรคอนกรีต มีจุดเปลี่ยนทิศทางการเดินรถ ตั้งอยู่ในฝั่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และมีอาคารด่านควบคุมการผ่านแดนทั้งสองฝั่ง
รูปแบบสะพานและอาคารมีการออกแบบให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับศิลปะในพื้นที่ สะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม-คำม่วน) นี้ จะช่วยอำนวยความสะดวก รวดเร็ว ในการเดินทางและการคมนาคมขนส่ง ส่งเสริมความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ สังคม การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ตลอดจนเชื่อมโยงการค้า การลงทุนระหว่างประเทศไทย -สปป.ลาว และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
รวมทั้งกระชับความสัมพันธ์อันดี ระหว่างประชาชนในภูมิภาคนี้ให้มีความใกล้ชิดแน่นแฟ้นและเชื่อมคุณภาพชีวิต ที่ดีมาสู่ประชาชนทั้งสองประเทศมากยิ่งขึ้น
ในส่วนของ อาคารด่านพรมแดน เปรียบเสมือนกระจกสะท้อนมรดกทางศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน และเป็นดั่งประตูเมือง ที่ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการเข้าออกระหว่างสองประเทศ จึงก่อสร้างด้วยความพิถีพิถันด้วยสถาปัตยกรรมที่ควรค่า ควบคู่กับการวางระบบควบคุมที่ทันสมัย โดยอาคารทั้งสองฝั่งเป็นรูปสมมาตรกันทั้งซ้ายขวา ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง โดยมีซุ้มประตูอยู่ตรงกลาง และหลังคาเป็นทรงจั่วซ้อนกัน มีช่องระบายอากาศร้อนใต้หลังคา ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของช่างบรรพบุรุษในอดีต ที่ต้องการให้เกิดภาวะน่าสบายของผู้อยู่อาศัย
อาคารที่ทำการด่านสะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม-คำม่วน) ฝั่งไทย ก่อสร้างขึ้นมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นอาคารสำนักงานสำหรับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ใช้ในการตรวจการเข้า-ออกผ่านแดน ระหว่างราชอาณาจักรไทยและสปป.ลาว ซึ่งหน้าจั่วแต่ละจุดของอาคารบอกเล่าเรื่องราวความเป็นอยู่ การทำมาหากิน ศาสนา และความเชื่อต่าง ๆ ของคนในท้องถิ่น และอัญเชิญสัญลักษณ์ของท้องถิ่น คือ องค์พระธาตุพนมมาประดิษฐานไว้ส่วนบนสุดของหลังคา อันมีจุดเริ่มแนวคิดมาจากพระอุโบสถแบบพื้นถิ่นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งนิยมทำรูปทรงของยอดธาตุเป็นรูปบัวเหลี่ยม เพื่อสะท้อนเอกลักษณ์พื้นถิ่นซึ่งมีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านช้าง
วันนี้ (11 พ.ย.54) กรมทางหลวง กรมศุลกากร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และจังหวัดนครพนม ได้ร่วมกันจัดแสดงนิทรรศการเชื่อมสัมพันธ์สองแผ่นดิน เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ รวมทั้งการเชื่อมโยงทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการเสริมศักยภาพของทั้งสองประเทศในอาเซียน ตลอดจนการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ด้วย
ส่วนของอาคารด่านพรมแดน ฝั่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้ออกแบบอาคารสะท้อนสถาปัตยกรรมแบบล้านช้างเช่นเดียวกัน หน้าจั่วบอกเล่าถึงการนับถือศาสนาพุทธและวิถีชีวิต ส่วนยอดสุดของอาคาร ได้อัญเชิญสัญลักษณ์ยอดเจดีย์ พระธาตุสีโคดตะบอง ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองท่าแขกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาประดิษฐาน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ และเสริมสิริมงคลให้แก่ประชาชนของทั้งสองประเทศที่ใช้เส้นทางในการดำรงชีวิต
อาคารด่านพรมแดน ฝั่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ถือเป็นหน่วยงานสำคัญในการอำนวยความสะดวก และช่วยเหลือประชาชนทั้งสองประเทศ ให้สามารถเดินทางระหว่างประเทศ รวมทั้งขนส่งสินค้าได้อย่างสะดวก ปลอดภัย รวดเร็ว ถูกต้องตามระเบียบปฏิบัติของทั้ง 2 ประเทศ ส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องวัฒนธรรม ประเพณี ธรรมเนียมปฏิบัติ กฎหมายระหว่างประเทศ และเสริมสร้างสัมพันธภาพอันดีระหว่างประชาชนและหน่วยงานของทั้งสองประเทศ ก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางสังคม เศรษฐกิจในภูมิภาค สืบไป
นายเริงศักดิ์ มหาวินิจฉัยมนตรี ผู้ว่าราชการจ.นครพนมเปิดเผยว่า หลังจากที่ผ่านพิธีเปิดสะพานอย่างเป็นทางการก็จะเปิดให้ประชาชนสัญจรผ่านสะพานข้ามโขงในวันพรุ่งนี้(12 พ.ย.)โดยอัตราค่าผ่านสะพานนั้นรถยนต์นั่งไม่เกิน 7 ที่นั่งเงินไทย 50 บาท เงินลาว13,000 กีบ รถบรรทุก 4 ล้อเงินไทย 50 บาท เงินลาว 13,000 กีบ รถโดยสารขนาดเล็ก (เกิน 7 ที่นั่งแต่ไม่เกิน 12 ที่นั่ง)เงินไทย 100 บาท เงินลาว27,000 กีบ รถโดยสารขนาดกลาง (เกิน 12 แต่ไม่เกิน 24 ที่นั่ง)เงินไทย 150 บาท เงินลาว 40,000 กีบ
รถโดยสารขนาดใหญ่ (เกิน 24 ที่นั่งขึ้นไป)เงินไทย 200 บาท เงินลาว 54,000 กีบรถบรรทุก 6 เงินไทย 250 บาท เงินลาว 67,000 กีบ รถบรรทุก 10 ล้อเงินไทย 350 บาท เงินลาว 94,000 รถบรรทุกเกิน 10 ล้อขึ้นไปเงินไทย 500 บาท เงินลาว 135,000 กีบ