ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สสจ.เชียงใหม่เร่งผลิตส้วมเคลื่อนที่ส่งช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม เผย วิธีทำง่าย-ไม่กระทบสิ่งแวดล้อมแถมต้นทุนสุดถูกแค่ 350 บาท ตั้งเป้าผลิต 500 ถัง ชุดแรก 100 ถังแจกจ่ายแล้วส่วนอีก 200 ถังได้พันธมิตรออฟโรดช่วยขนส่ง พร้อมระบุเตรียมส่งหน่วยบริการเคลื่อนที่ชุดที่ 3 เข้าช่วยประชาชนต่อจนกว่าน้ำจะลด
วันนี้ (31 ต.ค.) ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ดร.ทพ.สุรสิงห์ วิศรุตรัตน รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในการแถลงข่าวการดำเนินการช่วยเหลือในช่วงวิกฤตอุทกภัยภาคกลางของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งการผลิตส้วมเคลื่อนที่ออกแจกจ่ายให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่ภาคกลาง
ดร.ทพ.สุรสิงห์ กล่าวถึงการดำเนินการผลิตและนำส้วมเคลื่อนที่ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ออกแจกจ่ายแก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคกลาง ว่า ส้วมดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตภาคพายัพ โดยประยุกต์มาจาก “ส้วมมือถือ” ซึ่งเป็นนวัตกรรมสุขภาพของ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ที่ผลิตเพื่อผู้ป่วยอัมพฤกษ์-อัมพาต เนื่องจากเป็นส้วมเคลื่อนที่ที่สะดวกในการใช้และปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม โดยหลังจากที่ส้วมเต็มแล้ว ผู้ใช้สามารถมัดปากถุงดำแล้วทิ้งขยะได้ตามปกติ หรือจะนำไปใช้เป็นปุ๋ยก็ได้
สำหรับสวมดังกล่าวผลิตจากถังพลาสติกสีดำ ซึ่งเทปูนลงไปบางส่วนเพื่อถ่วงน้ำหนัก ก่อนจะติดตั้งเหล็กฉากเพื่อประกอบฝารองนั่งราบชักโครกสำหรับใช้งาน มูลค่าทั้งสิ้น 350 บาท โดยส้วม 1 ชุดจะประกอบด้วยส้วมเคลื่อนที่ พร้อมถุงดำ 20 ใบ กระดาษชำระ 1 ม้วน และน้ำจุลินทรีย์ 1.25 ลิตร กับปูนซีเมนต์ขาว 1 กก.สำหรับราดและโรยเพื่อย่อยสลายกากและดับกลิ่น
ดร.ทพ.สุรสิงห์ กล่าวต่อไปว่า ส้วมเคลื่อนที่ดังกล่าวตั้งเป้าหมายที่จะผลิตให้ได้จำนวน 500 ถัง โดยขึ้นอยู่กับกำลังทรัพยากรที่จัดหาและได้มาเพิ่มเติม โดยในเบื้องต้นได้นำส้วมเคลื่อนที่จำนวน 100 ถังไปพร้อมกับหน่วยบริการสุขภาพเคลื่อนที่ชุดที่ 2 ขณะที่ส้วมอีก 200 ถังจะถูกลำเลียงขนส่งโดยทีมพันธมิตร คุณเอ ออฟโรดเชียงใหม่ ซึ่งจะนำส้วมไปส่งให้ถึงที่ อบต.หนองเต่า อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์ และจะจัดสรรให้แก่ผู้ประสบภัยในจังหวัดภาคกลางให้ทั่วถึงต่อไป
ขณะเดียวกัน ดร.ทพ.สุรสิงห์ ยังได้กล่าวถึงการดำเนินงานของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ในการส่งหน่วยบริการสุขภาพเคลื่อนที่จากอาสาสมัครในสังกัดทั้ง 25 อำเภอ เข้าช่วยเหลือช่วยผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคกลาง ว่า ที่ผ่านมา หน่วยบริการสุขภาพเคลื่อนที่ได้ออกปฏิบัติการแล้ว 2 รอบ จำนวนทั้งสิ้น 100 คน ยานพาหนะรวม 27 คัน โดยได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยใน จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ปทุมธานี และ จ.อุทัยธานี
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยังมีประชาชนอีกมากที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องหรืออาศัยอยู่ในจุดที่ความช่วยเหลือเข้าไปไม่ถึง จึงเตรียมที่จะส่งหน่วยเคลื่อนที่ชุดใหม่ออกให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่องจนกว่าระดับน้ำจะลดลง โดยในรอบที่ 3 คาดว่าจะปล่อยขบวนหน่วยบริการเคลื่อนที่อีกครั้งในสัปดาห์หน้า
ส่วนกรณีการรับผู้ป่วยที่ส่งต่อมาจากสถานพยาบาลในกรุงเทพฯ นั้น รองนายแพทย์สาธารณสุข ระบุว่า ขณะนี้ จ.เชียงใหม่ได้รับผู้ป่วยที่ส่งต่อมาแล้วจำนวนทั้งสิ้นรวม 191 ราย เป็นผู้ป่วยทางกายจำนวน 15 ราย ผู้ป่วยจิตเวชซึ่งส่งต่อภาคพื้นดินมายังโรงพยาบาลสวนปรุงอีกจำนวน 176 ราย โดย จ.เชียงใหม่ มีจำนวนเตียงผู้ป่วยหนักที่สามารถรับได้ประมาณ 46 เตียง และผู้ป่วยสามัญอีก 250 เตียง