xs
xsm
sm
md
lg

“น้ำมูล” หลากเปื้อนเคมีปลากระชังตายอื้อ - ชาวนาบุรีรัมย์เร่งเกี่ยวข้าวหนีน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น้ำมูลหลากเพิ่มสูงต่อเนื่อง ส่งผลปลาเลี้ยงในกระชัง ของเกษตรกร อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ เป็นโรคมีจุดแดงเป็นแผลตามตัวตายวันละ 200 - 300 ตัว เชื่อเหตุสารเคมีถูกชะล้างไหลมารวมลำน้ำมูล วันนี้ (5 ต.ค.)
บุรีรัมย์ - น้ำมูลเพิ่มสูงต่อเนื่องจากน้ำเหนือและพายุฝน ส่งผลกระทบปลาเลี้ยงในกระชังของเกษตรกร อ.สตึก เป็นโรคมีจุดแดงเป็นแผลตามตัวตายวันละ 200-300 ตัว เชื่อเหตุสารเคมีถูกชะล้างไหลมารวมที่ลำน้ำมูล ส่วนชาวนาเร่งเกี่ยวข้าวหนีน้ำไปตากตามถนนหวั่นเน่าเสียหายทั้งหมด ล่าสุดท่วมนาข้าว 4 อำเภอ รวมกว่า 1 หมื่นไร่

วันนี้ (5 ต.ค.) สถานการณ์ปริมาณน้ำในลำน้ำมูลที่ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องวันละ 15-20 เซนติเมตร (ซม.) ช่วงตลอด 3 วันที่ผ่านมา เนื่องจากน้ำเหนือที่ถูกระบายลงมาจากเขื่อนทาง จ.นครราชสีมา ประกอบกับน้ำในลำน้ำสาขา และคลองธรรมชาติที่ได้รับอิทธิพลจากพายุฝนตกอย่างต่อเนื่อง ได้ไหลมาสมทบลงลำน้ำมูล จนล่าสุดได้เอ่อล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมไร่นาของเกษตรกรที่ อ.สตึก ในหลายตำบลเพิ่มอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งอยู่ในระหว่างการสำรวจพื้นที่เสียหาย

นอกจากนี้ ปริมาณน้ำที่สูงขึ้นและไหลเชี่ยวยังได้ส่งผลกระทบกับกลุ่มผู้เลี้ยงปลาในกระชัง ต.ท่าม่วง อ.สตึก กว่า 30 ราย ทำให้ปลาของเกษตรกรที่เลี้ยงไว้เริ่มเป็นจุดแดงมีบาดแผลตามตัวคล้ายเป็นโรคระบาดทยอยตายรายละ 200-300 ตัวต่อวัน ซึ่งเกษตรกรต่างเชื่อว่าสาเหตุที่ปลาตายในครั้งนี้ อาจเนื่องมาจากน้ำที่ไหลมารวมในลำน้ำมูลได้ชะล้างเอาน้ำเสีย สิ่งปฏิกูลจากพื้นที่ต่างๆ รวมถึงสารเคมีจากไร่นาของเกษตรกรมารวมกันทำให้ปลาที่เลี้ยงไว้ตายได้

กรณีดังกล่าวส่งผลให้เกษตรกรขาดทุนในการเลี้ยงปลาในกระชังที่ต่างลงทุนรายตั้งแต่ 100,000-500,000 บาท เกษตรกรร่วม 10 ราย ต้องชะลอการเลี้ยงหันไปรับจ้างและทำอาชีพอื่นแทนจนกว่าระดับน้ำจะกลับคืนสู่สภาวะปกติ

ด้าน นายเปี่ยม เยี่ยมรัมย์ อายุ 65 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังบ้านท่าเรือ ต.ท่าม่วง อ.สตึก กล่าวว่า น้ำที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วมาตลอด 3 วัน ส่งผลให้ปลาเป็นจุดแดงและเป็นแผลตามตัวคล้ายโรคระบาด ได้ทยอยตายวันละกว่า 200 ตัว เชื่อว่า อาการป่วยของปลาน่าจะเกิดจากสารเคมีที่ถูกชะล้างไหลมากับน้ำ ถึงแม้จะให้ยาแต่ก็ไม่สามารถช่วยได้ เชื่อว่า การเลี้ยงปลาครั้งนี้จะทำให้ขาดทุนอย่างแน่นอน โดยครั้งนี้ได้ลงทุนไปกว่า 500,000 บาท และพร้อมจะจับขายก่อนกำหนดแต่ไม่มีพ่อค้ามารับซื้อ เพราะหลายพื้นที่น้ำท่วมชาวบ้านจึงพากันไปจับปลาจากแหล่งน้ำไปรับประทานทำให้ปลาเลี้ยงในกระชังไม่สามารถขายได้ ถึงแม้มีราคาต่ำก็ตาม

นอกจากนี้ น้ำในลำน้ำมูล ยังได้ล้นตลิ่งทะลักเข้าท่วมนาข้าวของเกษตรที่กำลังออกรวงใกล้เก็บเกี่ยว ในเขตพื้นที่ อ.สตึก ขยายเป็นวงกว้างใน 5 ตำบล มี ต.สตึก ทุ่งวังร่อนทอง ดอนมนต์ และ ต.หนองใหญ่ หลายพันไร่ เสียหายสิ้นเชิงแล้วกว่า 1,000 ไร่ เกษตรบางส่วนได้เร่งเกี่ยวข้าวที่จมน้ำแม้จะยังไม่สุกเต็มที่ นำไปตากตามลาน และริมถนน เพราะเกรงว่าหากปล่อยไว้ข้าวที่ถูกน้ำท่วมจะเน่าตายเสียหายทั้งหมด ซึ่งขณะนี้น้ำในลำน้ำมูลยังมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทางด้านเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ถูกน้ำท่วมเสียหาย ได้เรียกร้องให้ภาครัฐเร่งเข้ามาสำรวจช่วยเหลือชดเชยค่าเสียหายไร่ละไม่น้อยกว่า ที่จ่ายชดเชยส่วนต่างในโครงการประกันรายได้ และแจกจ่ายพันธุ์ข้าวให้เกษตรกร เพื่อนำไปเพาะปลูกข้าวนาปรัง เพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะในปีนี้เกษตรกรบางรายไม่มีข้าวที่จะนำไปเข้าร่วมโครงการรับจำนำของรัฐบาล ถึงแม้รัฐบาลกำหนดราคารับจำนำไว้สูงถึงตันละ 20,000 บาท สูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา

ล่าสุด ขณะนี้ลำน้ำมูลได้ล้นตลิ่งเอ่อท่วมพืชไร่ และนาข้าว ของ จ.บุรีรัมย์ แล้วใน 4 อำเภอ ประกอบด้วย อ.คูเมือง, แคนดง, พุทไธสง และ อ.สตึก ซึ่งอยู่ติดริมน้ำมูลรวมกว่า 10,000 ไร่ ความเสียหายอยู่ในระหว่างการสำรวจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ด้าน นายแปลก ฉลาดดี อายุ 60 ปี เกษตรกรบ้านโนนมะงา ต.สะแก อ.สตึก กล่าวว่า ตนได้ปลูกข้าวทั้งหมด 12 ไร่ ซึ่งกำลังออกรวงใกล้สุกได้ถูกน้ำท่วม เก็บเกี่ยวได้ทันไม่ถึง 2 ไร่ นอกนั้นจมน้ำเสียหายทั้งหมด และปีนี้คงไม่มีข้าวไปเข้าร่วมโครงการรับจำนำจึงอยากร้องขอให้ภาครัฐเข้ามาสำรวจ และจ่ายชดเชยค่าเสียหาย พร้อมแจกจ่ายพันธุ์ข้าวเพื่อไปทำนาปรังชดเชยข้าวที่เสียหายจากน้ำท่วมดังกล่าวด้วย ซึ่งในหมู่บ้านโนนมะงาข้าวของเกษตรกรได้ถูกน้ำท่วมแล้วกว่า 1,000 ไร่ คาดจะเสียหายทั้งหมด และปีนี้เป็นปีที่ 4 แล้วที่ถูกน้ำมูลเอ่อท่วมเสียหายต่อเนื่อง


ชาวนาเร่งเก็บเกี่ยวข้าวหนีน้ำท่วม ตากบนท้องถนน

กำลังโหลดความคิดเห็น