สศก.ชี้น้ำท่วมกระทบปริมาณข้าวหายจากระบบอื้อ คาดเบื้องต้นนาข้าวเสียหายไม่ต่ำกว่า 5.4 แสนตันข้าวเปลือก คิดเป็นมูลค่า 3,400 ล้านบาท พร้อมระบุโครงการรับจำนำข้าวราคาสูง 25 ล้านตัน ส่งผลให้ชาวนาแห่ปลูกข้าวนาปรังเพื่อให้ได้ผลผลิตนำไปขายได้เร็ว ขณะที่เกษตรกรอาจไม่ได้รับผลประโยชน์จริง เพราะจุดจำนำไม่ได้มีทุกจังหวัด ไม่คุ้มการขนส่ง
นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการประเมินความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมล่าสุดของ สศก.ในช่วงต้นเดือนกันยายน 2554 ที่ผ่านมา โดยพบว่ามีพื้นที่ทางการเกษตรถูกน้ำท่วมทั้งสิ้นประมาณ 4 ล้านไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 3,6 ล้านไร่
ทั้งนี้ สศก.คาดการณ์เบื้องต้นว่าน่าจะมีผลผลิตข้าวเสียหายประมาณ 540,000 ตันข้าวเปลือก มูลค่าข้าวเสียหายประมาณ 3,400 ล้านบาท ส่งผลให้ผลผลิตข้าวนาปี 2554/2555 นี้ ลดลงเหลือประมาณ 24.46 ล้านตันข้าวเปลือก จากเดิมที่คาดว่าจะมีผลผลิต 25 ล้านตันข้าวเปลือก
“น้ำที่ท่วมในขณะนี้คาดว่าจะส่งผลดีต่อการปลูกข้าวนาปรังรอบถัดไป เนื่องจากมีปริมาณน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำหลายแห่งมากกว่า 90% ของความจุ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการปลูกข้าวบนพื้นที่ดอนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชดเชยส่วนที่เสียหายจากน้ำท่วมได้ เพราะภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ปลูกข้าวมากประมาณ 50 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 50% ของพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ”
สำหรับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2554/2555 สศก.เป็นห่วงว่าจะส่งผลให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวสายพันธุ์ที่เก็บเกี่ยวได้เร็ว แต่มีคุณภาพต่ำกันมากขึ้น เช่น พันธุ์ข้าวพวงเงินพวงทอง ที่มีระยะเก็บเกี่ยวไม่ถึง 90 วัน เพื่อนำข้าวมาร่วมโครงการให้เร็วที่สุด ซึ่งจะส่งผลให้มาตรฐานข้าวไทยลดลง อย่างที่เป็นมาในอดีตที่โครงการรับจำนำต้องประกาศงดรับจำนำข้าวบางสายพันธุ์ที่ไร้คุณภาพมาแล้ว ขณะที่โครงการรับจำนำปีนี้ยังไม่มีการกำหนดห้ามข้าวคุณภาพต่ำเลย
ส่วนกรณีที่รัฐบาลกำหนดปริมาณรับจำนำทั้งสิ้น 25 ล้านตันข้าวเปลือกนั้น สศก.ประเมินว่า อาจมีเกษตรกรนำข้าวมาเข้าร่วมโครงการจริงเพียงไม่กี่ล้านตัน เนื่องจากจุดรับจำนำข้าว หรือโรงสีมีไม่ครบทุกจังหวัด ชาวนาในประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายย่อย มีปริมาณข้าวในมือน้อย ก็จะไม่มีแรงจูงใจในการขนข้าวไปยังจุดรับจำนำ เพราะไม่คุ้มกับต้นทุนการขนส่ง