พะเยา - ชาวนาแห่คืนพันธุ์ข้าว 2,000 กก.เหตุไม่พอใจราชการชดเชยผิดประเภท ชาวบ้านลั่นไม่ได้เงินก็ไม่เอา จี้คืนทั้งปุ๋ย-พันธุ์ข้าว แถมพบปุ๋ยแจกมีแต่ทรายผสมแกลบดำ แต่ราคาสูงถึง 650 บาท พร้อมแจ้งความดำเนินคดี เชื่อมีคนปลอมแปลงเอกสารมติประชาคม
วันนี้ (27 มิ.ย.54) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีประชาชนจาก ต.อ่างทอง อ.เชียงคำ จ.พะเยา จำนวน 4 หมู่บ้าน ประกอบด้วย หมู่ที่ 3 ,4, 5, และ 8 จำนวนประมาณ 100 คน เดินทางด้วยรถยนต์ประมาณ 10 คัน บรรทุกกระสอบเมล็ดพันธุ์ข้าวไม่น้อยกว่า 40 กระสอบ รวมน้ำหนักประมาณ 2 ตัน มาถึงที่ว่าการอำเภอเชียงคำ จากนั้นก็ร่วมกันนำกระสอบเมล็ดพันธุ์ข้าวกองไว้ที่หน้าอาคารที่ว่าการท่ามกลางสายฝนที่ตกโปรยปรายอย่างต่อเนื่อง
นายสว่าง เชื้อสะอาด ประชาชนหมู่ 8 ต.อ่างทอง อ.เชียงคำ กล่าวว่า เหตุที่นำเมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกมะลิ 105 จำนวนประมาณ 2,000 กก. มากองในวันนี้ เพราะต้องการขอรับการชดเชยเป็นเงินสดจากรัฐบาล ไม่ใช่ปัจจัยการผลิตทางการเกษตรแต่อย่างใด
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติน้ำท่วมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมานั้น เกิดความเสียหายแก่พื้นที่การเกษตรกว่า 15,700 ไร่ มูลค่าความเสียหายกว่า 10 ล้านบาท และหลายหมู่บ้านได้ประชุมทำประชาคม มติที่ประชุมประชาคมผู้ประสบภัยทุกรายขอรับการชดเชยเป็นเงินสด แต่เมื่อถึงเวลาที่รัฐมาช่วยเหลือกลับนำเมล็ดพันธุ์ข้าว ปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตมาแจกจ่ายให้เกษตรกร ผิดวัตถุประสงค์ไม่ตรงกับเอกสารที่ยื่นขอไป
“เอกสารที่ประชาชนกรอกต้องการเงินสดไร่ละ 606 บาท และเจ้าหน้าที่ได้ขอหมายเลขบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จากประชาชนไปด้วย แต่พบว่าภายหลังมีการเปลี่ยนจากเงินสดเป็นปัจจัยการผลิต ซึ่งพวกเราไม่พอใจเป็นอย่างมาก เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วถือว่ามีการปลอมแปลงเอกสาร จึงต้องส่งตัวแทนไปแจ้งความต่อตำรวจ เพื่อลงบันทึกเป็นหลักฐานและอาจจะเอาผิดบุคคลที่ปลอมแปลงเอกสารทางราชการในขั้นตอนต่อไปด้วย” นายสว่าง กล่าว
นายประยงค์ สีโท ประชาชนหมู่ 4 ต.อ่างทอง อ.เชียงคำ กล่าวว่า ทั่วอำเภอเชียงคำ เกิดความเสียหายเกือบ 20 ล้านบาท แต่อำเภอเชียงคำได้รับงบประมาณช่วยเหลือเพียง 5 ล้านบาท เฉลี่ยให้แต่ละตำบล พบว่า ต.อ่างทอง มีเนื้อที่ความเสียหายกว่า 15,7000 ไร่ แต่ได้รับการช่วยเหลือด้วยงบประมาณเพียง 5,000 กว่าไร่เท่านั้น ประกอบกับเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้รับเฉลี่ยไร่ละ 3.4 กก. ปุ๋ยอินทรีย์ ก็มีสภาพเป็นเหมือนทรายผสมกับแกลบดำ ล้วนไม่มีคุณภาพทั้งสิ้น แต่ปุ๋ยราคาสูงถึงกระสอบละ 650 บาท ส่วนข้าวเปลือกตามท้องตลาดราคาประมาณ กก.ละ 20-25 บาทเท่านั้น
“ซึ่งวันนี้เมื่อประชาชนเดือดร้อนแล้วราชการระดับอำเภอไม่สามารถให้การช่วยเหลือได้ ก็ต้องยกขบวนไปประท้วงต่อผู้ว่าราชการจังหวัดตามขั้นตอนต่อไป เพราะพวกเราถูกราชการเอาเปรียบเช่นนี้มาแทบทุกปี ทำไมจังหวัดใกล้เคียงถึงได้รับชดเชยเป็นเงิน แต่ของเราจังหวัดพะเยาไม่ได้ และในเมื่อไม่ได้เงินสดก็จะไม่ขอรับการชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้น” นายประยงค์ กล่าว
ด้านนายภูมิชัย ตะพานแก้ว นายอำเภอเชียงคำ กล่าวว่า เรื่องนี้ตนไม่ทราบเรื่องตั้งแต่ต้น เนื่องจากคาบเกี่ยวระหว่างช่วงที่ตนกำลังย้ายเข้ามารับตำแหน่ง แต่เนื่องจากประชาชนได้รับการชดเชยไปแล้ว จึงขอให้รับไปก่อน ครั้งหน้าค่อยหามติขอรับการชดเชยใหม่ เพราะมีการดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว โดยระเบียบของราชการหากจะเปลี่ยนแปลงคงไม่ใช่เรื่องง่าย
และเมื่อประชาชนที่มาร้องเรียนเรียกร้องจะขอพบกับนายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเดินทางไปตรวจพื้นที่น้ำท่วมใน อ.ปง ไม่สามารถมาพบกับกลุ่มผู้ร้องเรียนได้ ทางกลุ่มผู้ร้องเรียนจึงสลายตัวไปในเวลา 14.00 น. และมีการนัดหมายจะเดินทางเข้าไปร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดในวันต่อไปทันที