พะเยา - ชาวนาพะเยา ประท้วงซ้ำ หลัง จนท.รัฐตุกติกแก้เอกสารมติประชาคม แจกพันธุ์ข้าว-ปุ๋ย ชดเชยน้ำท่วมแทนเงินสด คราวนี้ยกทีมร้องผู้ว่าฯถึงศาลากลางจังหวัด ย้ำจุดยืนขอเงินแทนปัจจัยการผลิต ขณะที่ ผวจ.พร้อมรับเงื่อนไข-กำชับ นอภ.เชียงคำ เร่งเคลียร์ปัญหาโดยเร็ว
วันนี้ (28 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 11.00 น.กลุ่มเกษตรกรทำนาจาก ต.อ่างทอง อ.เชียงคำ จ.พะเยา 7 หมู่บ้าน ประมาณ 100 คน เดินทางมาถึงหน้าศาลาประชาคม ภายในศูนย์ราชการจังหวัดพะเยา อ.เมือง จ.พะเยา เพื่อขอพบนายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ และร้องเรียนขอความเป็นธรรมกรณีการชดเชยความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมนาข้าวและพื้นที่การเกษตรเมื่อปลายเดือนเมษายน 2554 ที่ผ่านมา
โดยเมื่อเดินทางถึงศาลากลางกลุ่มเกษตรกรได้ส่งตัวแทน 10 คน เข้าพบและยื่นข้อเสนอต่อ ผวจ. ณ ห้องประชุมชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดพะเยา ที่ นายพงษ์ศักดิ์ พร้อมด้วยนายนิมิต วันไชยธนวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ร่วมรับฟังข้อเรียกร้องด้วย
นายสว่าง เชื้อสะอาด เกษตรกร หมู่ 8 ต.อ่างทอง อ.เชียงคำ กล่าวว่า ที่เดินทางมาเรียกร้องครั้งนี้ เนื่องจากว่าเกษตรกรได้ประชุมประชาคมหมู่บ้านไปแล้ว 2 ครั้ง มีมติขอรับการชดเชยเป็นเงินสดไร่ละ 606 บาท พื้นที่ความเสียหาย 15,714 ไร่ เป็นเงินจำนวน 9,522,684 บาท แต่ปรากฏว่าได้รับการช่วยเหลือเป็นปัจจัยการผลิตเพียง 5,710 ไร่เท่านั้น และปัจจัยการผลิตที่ได้รับเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวและปุ๋ยอินทรีย์สีดำที่ไม่มีคุณภาพ ทางเกษตรกรจึงนำเมล็ดพันธุ์ข้าวและปุ๋ยอินทรีย์บางส่วนไปคืนกองไว้ที่หน้าที่ว่าการ อ.เชียงคำ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ การช่วยเหลือดังกล่าวก็ยังไม่ครบพื้นที่เสียหาย จึงมาร้องขอให้ทางจังหวัดดำเนินการตามข้อเรียกร้องของประชาชนโดยเร็ว คือ การชดเชยเป็นเงินสดไร่ละ 606 บาท ตามที่เกษตรกรได้กรอกในแบบสำรวจความเสียหายไปแล้ว
นายสว่าง กล่าวอีกว่า เอกสารที่เกษตรกรได้กรอกไปนั้นยืนยันชัดเจนว่ามีการระบุขอรับการชดเชยเป็นเงินสด แต่ภายหลัง ทางราชการนำปัจจัยการผลิตไปแจกจ่าย โดยอ้างว่าเกษตรกรได้กรอกขอรับการชดเชยเป็นปัจจัยการผลิต แต่ในเอกสารพบรอยลบ และมีการเติมรายละเอียดบางอย่างลงไป ซึ่งไม่ใช่ลายมือของเกษตรกร ตรงนี้จึงอยากร้องขอความเป็นธรรมให้แก่เกษตรกรด้วย
“ต่อไปนี้หากทางราชการต้องการจะทำการเปลี่ยนแปลงเอกสาร หรือรายละเอียดของเอกสารทางราชการของประชาชน ขอให้ทำประชาคมและชี้แจงให้ประชาชนได้ทราบอย่างชัดเจน ไม่ใช่การมาเปลี่ยนแปลงโดยพลการ เพราะจะไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายใดเลย และไม่ควรทำอีก” นายแสวง กล่าว
ต่อมาเวลา 12.30 น.นายพงษ์ศักดิ์ ผวจ.พะเยา ได้เดินทางมากล่าวชี้แจงภายหลังได้ข้อสรุปจากที่ประชุม แก่เกษตรกรที่รออยู่หน้าศาลาประชาคม ถึงแนวทางแก้ปัญหา ว่า เรื่องนี้ทางจังหวัดโดยตนได้มอบหมายและสั่งการให้นายอำเภอเชียงคำ เร่งไปดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะเมื่อเกษตรกรต้องการเป็นเงินสด แต่มีการไปเปลี่ยนรายละเอียดในเอกสาร ผู้ที่เปลี่ยนก็ต้องรับผิดชอบไป
อย่างไรก็ตาม จังหวัดมีคำชี้แจงในเรื่องดังกล่าวทั้งสองประเด็น คือ 1.พื้นที่ความเสียหายที่ลดลง จาก 15,714 เป็น 5,710 ไร่ นั้น เนื่องจากอำนาจในการช่วยเหลือของ ผวจ.มีงบประมาณไม่เพียงพอ จึงช่วยเหลือเบื้องต้นได้เพียงประมาณ 5,000 ไร่ ที่เหลือต้องนำส่งไปยังส่วนกลาง คือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ ที่จะพิจารณาใช้งบกลางช่วยเหลือในขั้นตอนต่อไป
ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นที่สองเรื่องการขอรับการชดเชยเป็นเงินสด ตรงนี้ทราบความเป็นมาที่ชัดเจนแล้ว มอบหมายและสั่งการให้นายอำเภอและเกษตรอำเภอเชียงคำ ไปดำเนินการตรวจสอบปัจจัยการผลิตที่นำไปมอบแก่เกษตรกร หากมีรายใดที่ไม่รับและไม่นำปัจจัยการผลิตไปใช้ก็สามารถดำเนินการจ่ายชดเชยเป็นเงินสดตามที่เกษตรกรร้องขอได้ ทั้งนี้งบประมาณของจังหวัดส่วนหนึ่งที่มีพร้อมจะโอนให้แก่เกษตรกรได้หลังจากที่ทางอำเภอได้มีการจัดทำบัญชีรายชื่อเกษตรกรและพื้นที่เสียหายมาถูกต้องแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ต้องทำให้รวดเร็ว
หลังจากที่ได้รับฟังคำชี้แจงจาก ผวจ.เกษตรกรจาก อ.อ่างทอง ที่มาชุมนุมเรียกร้องจึงสลายตัวกลับบ้านในเวลา 12.40 น.