พะเยา - จังหวัดพะเยาเตรียมต้องขอเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ เพิ่มอีกเกือบ 80 ล้าน หลังจ่ายเงินทดรองตามอำนาจผู้ว่าฯแล้ว แต่ยังไม่พอ ด้าน “ห้วยยางขาม” โอดนาข้าวจมน้ำ-ถนนเสียหายยับ เตรียมเสนอทำโครงการทำท่อลอดตามถนนจุดเสี่ยง พร้อมร้องขอภาครัฐชดเชยเป็นเงินสดไม่เอาปัจจัยการผลิต
วันนี้ (26 ส.ค.) ที่ห้องประชุมศูนย์บัญชาการ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดพะเยา นายนิมิต วันไชยธนวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ) พะเยา ครั้งที่ 2/2554 โดยมีหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด, เกษตรจังหวัด, ปศุสัตว์จังหวัด รวมถึงนายอำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
การประชุมดังกล่าวมีขึ้นเพื่อเร่งพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน และเห็นชอบ การขอสนับสนุนงบประมาณในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะผลจากพายุโซนร้อนนกเตน ในช่วงระหว่างวันที่ 1-8 ส.ค.และพายุดีเปรสชันไหหม่า ที่ส่งผลให้ทรัพย์สินและบ้านเรือนราษฎร รวมทั้งพื้นที่ทางการเกษตรใน 8 อำเภอ ได้รับความเสียหาย เนื่องจากเงินทดรองราชการจำนวน 50 ล้านบาท ตามอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ถูกเบิกจ่ายมาใช้ในทั้ง 2 กรณีรวม 100 ล้านบาท เพื่อใช้ช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยแล้ว แต่ปรากฏว่า ยังไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือเยียวยาความเดือดร้อนดังกล่าว
โดยคณะกรรมการ ก.ช.ภ. จ.พะเยา ได้เสนอขอรับงบประมาณสนับสนุนจากส่วนกลาง เพื่อนำมาช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีพายุดีเปรสชันไหหม่า ประกอบด้วย สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดจำนวน 208,940 บาท สำนักงานประมงจังหวัด จำนวนกว่า 1,200,000 บาท สำนักงานเกษตรจังหวัด กรณีความเสียหายต่อนาข้าว ประมาณ 65,000 ไร่, พืชไร่ 31,000 ไร่, พืชสวน 366 ไร่ วงเงินกว่า 66 ล้านบาท และโครงการชลประทานพะเยา จำนวนกว่า 4,500,000 บาท รวมวงเงินที่ขอรับการสนับสนุน และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ช.ภ.ทั้งสิ้น ไม่น้อยกว่า 72 ล้านบาท
ขณะที่สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ตำบลห้วยยางขาม ซึ่งมีนาข้าวได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมากนั้น นายเสถียร เวียงลอ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยยางขาม อ.จุน จ.พะเยา กล่าวว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อวันที่ 11-12 ส.ค. ส่งผลนาข้าวในพื้นที่หมู่ 7, 8, 9 และ 10 กว่า 4,000 ไร่ และบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่หมู่ 7, 8 และ 9 ถูกน้ำท่วม อีกทั้งถนนหลายสายถูกน้ำท่วมและน้ำกัดเซาะเป็นหลุมบ่อ ไม่สามารถใช้สัญจรได้ ความเสียหายประเมินเบื้องต้นประมาณ 5 ล้านบาท
สำหรับความเสียหายในส่วนของเส้นทางสัญจรในพื้นที่นั้น ทาง อบต.ได้หารือในเบื้องต้นกับผู้นำท้องที่ และเตรียมที่จะจัดทำโครงการก่อสร้างท่อลอดในจุดเสี่ยงน้ำท่วมตามเส้นทางถนนที่ถูกน้ำท่วม จุดละ 2-3 ช่อง โดยแต่ละจุดคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า 600,000 บาท ส่วนความเสียหายในนาข้าวนั้น จะรอดูสถานการณ์ประมาณ 1 สัปดาห์ หากน้ำลดลงความเสียหายในนาข้าวน่าจะน้อยลง หลังจากนั้นจึงจะมีการประชุมทำประชาคมในหมู่บ้านทุกหมู่เพื่อสำรวจความเสียหายทั้งหมด ต่อจากนั้นจึงจะจะขอมติจากประชาชนในพื้นที่ว่าต้องการให้รัฐบาลชดเชยความเสียหายให้ในรูปแบบใด ระหว่างเงินสดไร่ละ 606 บาท กับปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยอินทรีย์ เมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งจากการสอบถามในเบื้องต้น พบว่าประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ยืนยันว่า ต้องการได้รับการชดเชยเป็นเงินสดทั้งหมด ไม่ต้องการปัจจัยการผลิต ซึ่งจะต้องทำประชาคมในแต่ละหมู่บ้านเพื่อยืนยันเป็นหลักฐานที่ชัดเจน ก่อนจะนำเสนอต่อนายอำเภอจุนต่อไป